Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกติดมือเพราะอุ้มบ่อย จริงหรือ?

ลูกติดมือเพราะอุ้มบ่อย จริงหรือ?

“อย่าอุ้มลูกมากเดี๋ยวลูกติดมือ”

ประโยคที่คุณแม่หลายๆ ท่านก็คงเคยได้ยินกันมาว่าถ้าอุ้มลูกมาก ๆ นั้นจะทำให้ลูกติดมือวางไม่ได้เป็นต้องร้อง ต้องอุ้มจนกว่าจะหลับคามือ ขนาดหลับแล้วพอวางปุ๊บยังร้องเลย คุณแม่บางท่านถึงขั้นสับสนว่าเอาไงดี จะอุ้มหรือจะปล่อยให้ลูกร้องจนเหนื่อยเดี๋ยวก็หยุดไปเอง วันนี้เรามาดูกันว่า…ที่แท้ทรูนั้นเป็นอย่างไร

การอุ้มลูก

จากผลงานวิจัยเกี่ยวกับทารกบอกกว่า ทารกตั้งแต่แรกเกิด – 6 เดือน วิธีเดียวที่เค้าจะสามารถสื่อสารได้ก็คือ “การร้องไห้” เท่านั้น ซึ่งหากคุณแม่หรือผู้เลี้ยงสามารถตอบสนองลูกได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการเดินเข้าหา อุ้มเค้าขึ้นมา ตบหลังเบาๆ พูดปลอบประโลมให้หายกลัว หรือได้รับความช่วยเหลือที่ตรงกับความต้องการของลูกน้อย สิ่งนี้จะเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างลูกน้อยกับคุณแม่ได้ดี
ลูกน้อยจะเกิด “ความไว้ใจ (Trust)” ว่ามีคุณแม่คอยดูแลอยู่ใกล้ๆ ซึ่งการร้องไห้นี้จะค่อยๆ ลดลงเมื่อลูกเติบโตขึ้น เป็นเด็กที่เลี้ยงง่าย อารมณ์ดี สุขภาพจิตดี (ได้ผลทางด้าน EQ อีกแน่ะ) ไม่เรียกร้องความสนใจมากเกินไป (Demanding) หรือจะมีเรียกร้องความสนใจบ้างแต่ก็พอหอมปากหอมคอ ซึ่งเป็นธรรมชาติเด็กทุกคนค่ะ

ผลต่างทางด้านอารมณ์ (EQ = Emotional Quotient)

ตัวอย่างการเลี้ยงดูจากเด็ก 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก

คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงดูอย่างเอาใจใส่ กอดกัน หอมแก้มกัน พูดคุย หยอกล้อ เล่นจ๊ะเอ๋หรือจั๊กจี๋กัน

กลุ่มที่ 2

คุณพ่อคุณแม่ให้นอนเล่นเอง ในพื้นที่ส่วนตัวของเด็กเอง

จากผลงานการวิจัยพบว่า เด็ก 2 กลุ่มมีความแตกต่างทางอารมณ์อย่างมาก เด็กๆ จากกลุ่มแรกที่คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงดูเอาใจใส่ดี จะมีความฉลาดทางด้านอารมณ์ มีความมั่นคงทางจิตใจสูง ไม่งอแง และมีสมาธิดีมาก
ส่วนเด็กกลุ่มที่ 2 ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยได้เอาใจใส่ ไม่ได้อุ้มเค้า หรือกอดเค้าเท่าที่ควร จะมีภาวะแปลกแยกจากกสังคม หงุดหงิดง่าย ร้องงอแงเป็นเวลานาน และเรียกร้องความสนใจอยู่ตลอดเวลา

ทารกแรกเกิด – 3 เดือน ช่วงนี้เป็นช่วงที่เค้าปรับตัว ซึ่งก่อนหน้านี้ เค้าคุ้นเคยกับการอยู่ในท้องแม่อันแสนอบอุ่น เงียบสงบ และปลอดภัย ลูกน้อยยังไม่คุ้นชินกับการที่ต้องออกมาเผชิญโลกกว้าง ดังนั้น ไม่แปลกที่ลูกน้อยจะร้อง เพียงเพื่อต้องการความรัก ความอบอุ่นจากแม่ค่ะ

อุ้มจนหลับคามือ พอวางก็ร้องอีก ทำไงดี?

หากเป็นในกรณีที่ว่าอุ้มลูกแล้ว ลูกก็หลับคามือ แต่พอวางปุ๊บเซนเซอร์ลูกน้อยทำงานทันทีเตือนว่า “แม่วางเราแล้ว” แล้วลูกกลับร้องขึ้นมาอีก?

หากมีคนช่วยเลี้ยงก็ให้สลับกันอุ้ม แต่หากอยู่คนเดียวไม่มีใครช่วยเลี้ยงและคุณแม่หิวข้าวแล้ว แขนก็ล้าเต็มที อาจบอกลูกน้อยขอแม่ไปพักสูดหายใจซักแป้บ เดี๋ยวแม่มาอุ้มใหม่พอลูกหลับในอ้อมกอดอันอบอุ่นของคุณแม่แล้ว ตอนวางลูกน้อย ให้วางอย่างเบามือที่สุด แล้วใช้มือค่อยๆ วางที่หน้าอกลูกน้อย ให้เค้ารู้สึกอบอุ่น และอุ่นใจ หรืออาจตบก้นเบาๆ เพื่อเป็นการบอกลูกน้อยว่า “แม่ยังอยู่ใกล้ๆ หนูนะลูก

แต่หากลูกอายุ 6 เดือนแล้ว ลูกน้อยยังคงร้องไห้ อ้อนให้คุณแม่อุ้มอยู่ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ใช่เวลานอนคุณแม่ต้องตัดใจ พยายามอุ้มให้น้อยลง โดยการเบี่ยงเบนความสนใจด้วยโมบายที่แกว่งไปแกว่งมา (แต่ต้องอยู่พูดคุยกับลูกด้วยนะคะ) หรือของเล่นอื่น ๆ แทนหากคุณแม่ติดธุระต้องทำงานบ้านลองปล่อยลูกไว้ซักพัก ส่งเสียงบอกลูกเป็นระยะ ๆ ว่าเราทำอะไรอยู่ เสร็จแล้วค่อยเดินมาอุ้มลูกน้อย เพื่อเป็นการฝึกเค้าให้เรียนรู้ “เรื่องการรอคอย” ซึ่งถ้าคุณแม่ทำบ่อย ๆ ลูกน้อยจะเกิดการเรียนรู้ได้เองค่ะ

ลูกร้องไม่หยุดซักที?

หากคุณแม่อุ้มก็แล้ว พูดปลอบก็แล้ว อะไรก็แล้ว ลูกยังร้องอยู่ให้คุณแม่ลองหาสาเหตุก่อนว่า ลูกปวดท้อง ท้องอืด หรือไม่สบายตัวตรงไหนหรือเปล่า แล้วแก้ที่ต้นเหตุนั้นก่อน หากคุณแม่เช็คเรียบร้อยแล้วลูกไม่มีอะไรที่ผิดปกติ ให้สันนิษฐานว่าลูก “ร้องโคลิก (Colic)” ซึ่งจะเกิดกับทารกอายุ 1-3 เดือน เป็นการร้องแบบไม่มีเหตุผล และตรงเวลาเดิมทุกวัน ส่วนใหญ่จะร้องช่วงเย็น – หลังเที่ยงคืน และจะหายเองเมื่อลูกอายุเกิน 3 เดือน (บางรายอาจถึง 5 เดือนก็มี)

อุ้มแค่ไหนถึงจะพอดี

การอุ้มลูกในช่วงวัยแรกเกิด – 6 เดือน ไม่เป็นการตามใจเด็กจนทำให้เด็กเสียนิสัย (Spoil) นะคะ กลับกันการอุ้มลูกในช่วง 3 เดือนแรกจะทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีอารมณ์ดี มีความสุข มีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ที่ดี และที่สำคัญจะเป็นเด็กที่รู้จักปรับตัวได้เก่งค่ะ
ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตสังเกตเห็นแล้วว่าหลังจากที่ลูกน้อยสงบลงหลังอุ้มมาได้ซักระยะ อาจค่อย ๆ วางลูกลง และถ้าลูกยังไม่หลับลองหากิจกรรมที่เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจเล่นกับลูกก็ได้ค่ะ

การวิจัยพบว่าเด็กที่ถูกอุ้มเยอะๆใน 3 เดือนแรกซึ่งเป็นช่วงที่ลูกต้องการมากที่สุด เมื่อโตขึ้นมาจะเป็นเด็กที่อารมณ์ดีมีความสุข มีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดี และเป็นเด็กที่ปรับตัวได้เก่งค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง เฟสบุ๊ก พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะคุณแม่ คราวนี้ไม่ต้องลังเล สับสนกันแล้วนะคะ เพราะการอุ้มลูกในวัยแรกเกิด – 6 เดือนนั้น อุ้มได้ อุ้มไปเถอะค่ะ ไม่ต้องกลัวว่าลูกน้อยจะติดมือ กลับกันจะส่งผลดีกับลูกในด้านอารมณ์ และมีผลต่อการเข้าสังคมของเค้าในอนาคตอีกด้วยนะคะ อีกบทความที่พูดในมุมของลูกเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้ทำความเข้าใจว่าทำไมวางลูกปุ๊บ ร้องปั๊บ สามารถติดตามได้ที่บทความนี้เลยค่ะ


ทำยังไงดีลูกไม่ยอมให้วางเลย พอวางก็ตื่น แม่ไม่มีเวลาพักเลย? ชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจสาเหตุที่ลูกร้อง พร้อมวิธีรับมือ และเทคนิคการวางลูกไม่ให้ลูกตื่น คลิกที่นี่