Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ทำไมลูกหายใจครืดคราด เกิดจากอะไร พร้อมวิธีแก้ไข

ทำไมลูกหายใจครืดคราด เกิดจากอะไร พร้อมวิธีแก้ไข

พ่อแม่มือใหม่หลายคนอาจจะมีทั้งสังเกตลูกน้อยและไม่ได้สังเกตลูกน้อยขณะหลับ ว่าลูกมีอาการนอนหลับดีหรือไม่ มีเสียงดังครืดคราดหรือเปล่า พ่อแม่บางคนบอกว่าสังเกตแล้วแต่ลูกไม่มีอาการครืดคราด หรือแท้จริงแล้ว

“ลูกมีอาการนอนครืดคราด แต่…พ่อแม่ไม่รู้?”
แล้ว…
“การนอนครืดคราดหรือไม่ครืดคราดสำคัญด้วยหรือ?”

จะสำคัญหรือไม่ วันนี้ผู้เขียนมีข้อมูลของ ป้าหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ มาฝากค่ะ

Youtube : ทำไมลูกหายใจครืดคราด เกิดจากอะไร พร้อมวิธีแก้ไข

ให้ความสำคัญกับการหายใจของทารก

การหายใจของทารกเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญ ในเด็กแรกเกิดบางคน ในขณะที่ดูดนมหรือนอนหลับ พ่อแม่มักจะได้ยินเสียงหายใจที่ดังผิดปกติ บางคนหายใจเร็ว บางคนหายใจแรง บางคนหายใจดังฟี้ๆ หรือบางคนก็ดังครืดคราด เกิดจากอะไรไปดูกันค่ะ

“ลูกวัย 2 เดือน มีเสียงดังครืดคราดในลำคอตอนหายใจ ตอนดูดนมจะยิ่งหายใจแรงขึ้น และดูดนมได้ไม่ต่อเนื่อง เพราะต้องหยุดหายใจเป็นระยะ อยากทราบว่าเกิดจากเหตุใด และจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี”

จากอาการ ป้าหมอนึกถึงสาเหตุได้ 6 กรณีต่อไปนี้ จะวินิจฉัยได้แน่นอนต้องพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการวินิจฉัย

  1. แพ้โปรตีนนมวัว
  2. กระดูกอ่อนของหลอดลมยังไม่แข็งแรง (laryngomalacia)
  3. ความผิดปกติแต่กำเนิดของท่อหลอดลมหรือสายเสียง
  4. ภาวะกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease หรือ GERD)
  5. เพิ่งหายจากเป็นหวัดหรือโรคหลอดลมอักเสบ
  6. ดื่มนมมากเกินไป (overfeeding)

แบบไหนถึงเรียกว่า “หายใจดังครืดคราด”?

โดยปกติแล้วเด็กเล็กมักจะหายใจเร็ว


ทารกแรกเกิด –2 เดือน อัตราการหายใจจะอยู่ที่ 60 ครั้งต่อนาที


2 เดือน –1 ปี อัตราการหายใจจะอยู่ที่ 50 ครั้งต่อนาที


1 ปี – 3 ปี อัตราการหายใจจะเริ่มช้าลง และจะเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ประมาณ 20-30 ครั้งต่อนาที

เด็กเล็กที่หายใจเร็ว แต่ไม่มีเสียงดัง แบบนี้ถือว่าปกติ กลับกันหากขณะที่ทารกกำลังดูดนมหรือขณะนอนหลับ…

  1. มีเสียงหายใจดัง
  2. ดูแล้วลูกหายใจลำบากต้องใช้แรงในการหายใจมากกว่าปกติ


ต้องนอนอ้าปากหายใจ ทำให้ไม่สามารถดูดนมได้อย่างต่อเนื่อง

  1. หายใจสะดุด
  2. หายใจเฮือก

…แบบนี้ถือว่า “ผิดปกติ” ค่ะ

สาเหตุจากการที่ทารกหายใจมีเสียงดัง

เด็กวัยแรกเกิด (แรกเกิด – 1 เดือน)

แพ้โปรตีนนมวัว


เด็กบางคนอาจแพ้ตั้งแต่อยู่ในท้อง เพราะแม่ดื่มนมเพื่อต้องการบำรุงครรภ์ แต่เนื่องจากระบบย่อยของทารกยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ น้ำย่อยยังไม่สมบูรณ์ ทำให้โปรตีนจากนมวัวเล็ดลอดเข้าสู่กระแสเลือดไปกระตุ้นให้ร่างกายของทารกสร้างภูมิต่อต้านชนิดผิดปกติขึ้นในร่างกาย
ภายหลังหากมีการได้รับนมวัวเพิ่มไปอีก ร่างกายจะทำปฏิกิริยาทันที มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น คันตา คัดจมูก จาม น้ำมูกไหล เลือดกำเดาไหล มีเสมหะครืดคราดในลำคอ นอนกรน อ้าปากหายใจเสียงดังวี้ด หอบหืด ไอเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ
การรักษา
หยุดทานนมวัวและผลิตภัณฑ์ที่มาจากวัว หากเป็นเด็กที่ทานนมแม่ แม่ก็ควรงดด้วยค่ะ

กระดูกอ่อนของหลอดลมยังไม่แข็งแรง(Laryngomalacia)


ทารกที่มีภาวะนี้จะหายใจเสียงดัง หรือมีเสียงครืดคราดในลำคอ จะได้ยินชัดเจนเมื่อลูกนอนหงาย ดูดนม หรือร้องไห้
การรักษา
ไม่ต้องทำอะไรค่ะ เพราะกว่า 90% ของทารกมีภาวะนี้ซึ่งจะหายได้เองเมื่อทารกเติบโตขึ้นประมาณ 2 ขวบ

มีความผิดปกติของท่อหลอดลมหรือสายเสียง


บางคนมีความผิดปกติของท่อหลอดลมโดยมีเส้นเลือดงอกผิดปกติมาล้อมรอบท่อหลอดลม บางคนมีเนื้องอกที่กล่องเสียง ทำให้หายใจไม่สะดวก แต่ก็ไม่ได้พบบ่อย
การรักษา
ดูจากสาเหตุ เช่น อาจผ่าตัดหรืออาจให้ยารักษาเนื้องอก

ภาวะกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease หรือ GERD)


ทารกที่มีอาการกรดไหลย้อนจะมีอาการ เช่น ขย้อนนม แหวะนม อาเจียนบ่อย ร้องงอแง กลัวการทานนม ลำตัวแอ่นเกร็งเวลาทานนม
การรักษา
วินิจฉัยด้วยการกลืนแป้งหรือตรวจวัดความเป็นกรดที่หลอดอาหาร หรือทดลองให้ยารักษา แล้วดูอาการตอบสนองว่าดีขึ้นหรือไม่ รวมถึงแนะนำให้กินนมอย่างถูกวิธี โดยเน้นกินทีละน้อยๆ แต่กินบ่อย หลังกิน อุ้มให้ตัวตั้งไว้นานๆ อย่าเพิ่งรีบวางนอนราบ

เพิ่งหายจากอาการหวัดหรือหลอดลมอักเสบ


เพิ่งหายจากอาการหวัดที่มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล หากเด็กสามารถสั่งได้เองก็จะทำให้หายเร็วขึ้น แต่หากยังไม่สามารถทำได้ น้ำมูกหรือเสมหะก็หายได้เองไม่เกิน 2 สัปดาห์

ดื่มนมมากไป (Overfeeding)


อาการที่ทารกดื่มมากไป


แหวะนม


ร้องเสียงคล้ายแพะ (แอะๆ)


มีเสียงครืดคราดในคอ เพราะน้ำนมล้นมาอยู่ที่คอหอย


พุงกางตลอดเวลา

วิธีแก้ไข

พยายามอย่าให้นมทุกครั้งที่ร้องหากไม่ถึงเวลานม ควรเบี่ยงเบนไปทำกิจกรรมอื่น เช่น เล่นกับลูก เป็นต้น

เด็กอายุมากกว่า 1 ปี

เด็กในวัยนี้จะมีสาเหตุที่ทำให้หายใจครืดคราดได้หลายสาเหตุ อาทิ อากาศเย็น, อากาศแห้ง, ควันบุหรี่, แพ้อาหาร ซึ่งนอกเหนือจากสาเหตุเหล่านี้แล้ว ยังมีอีกหนึ่งสาเหตุ ได้แก่

เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากโรคภูมิแพ้

ข้อนี้นับว่าเป็นอะไรที่เกิดขึ้นกับเด็กมากที่สุด และคุณพ่อคุณแม่ก็กังวลมากที่สุด ซึ่งการแพ้อากาศหรือเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบนั้น มักพบได้ในเด็กที่มีอายุ 3 – 4 ปี ขึ้นไป ซึ่งอาการภูมิแพ้ ได้แก่ มีอาการคัดจมูก, คันจมูก และน้ำมูกไหล ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามมีน้ำมูกและไหลลงคอ ลูกน้อยจะมีเสมหะในลำคอส่งผลให้ลูกน้อยไอนั่นเอง มักมีอาการมากในช่วงเช้ามืด และช่วงค่ำ แต่ไม่มีอาการไข้

เด็กทารก (1 เดือน – 1 ปี)

ติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ

การติดเชื้อนี้สามารถเกิดได้จากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียก็ได้เช่นกัน โดยจะมีอาการที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัด คือ มีไข้อาจจะสูงหรือต่ำก็ได้, มีน้ำมูก (ทั้งใสและขุ่น), มีเสมหะ และคอแดง เป็นต้น โดยเด็กจะมีอาการเหล่านี้ทั้งวันและจะเป็นมากในช่วงที่นอน แต่เมื่อไข้ลดลงแล้ว อาการต่าง ๆ ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 7 – 14 วัน

อากาศเย็นและแห้ง

มีหลายครอบครัวค่ะที่เวลานอนจะเปิดแอร์ เพื่อให้หลับได้สบายตลอดคืน แต่สำหรับลูกน้อยที่ไม่สบายอยู่นั้น การเปิดแอร์ที่เย็น ๆ จะส่งผลให้ลูกน้อยหายใจมีเสียงดังครืดคราดได้ เนื่องจากอากาศที่เย็นและแห้งนี้จะไปกระตุ้นเยื่อบุจมูกให้บวมและหลั่งน้ำมูกออกมาในขณะที่นอนได้ น้ำมูกจึงไหลไปบริเวณคอเกิดเป็นเสมหะในลำคอได้ ดังนั้น หากต้องการเปิดแอร์ขณะที่นอน อุณหภูมิที่เหมาะสมควรให้อยู่ที่ 26 – 28 องศาเซลเซียส และใช้โหมด swing หลีกเลี่ยงไม่ให้แอร์กระทบที่ตัวของลูก พร้อมกับสวมเสื้อผ้าที่ค่อนข้างอุ่นสักหน่อย

แพ้อาหาร

การแพ้อาหารมักมีอาการที่แสดงออกได้หลายอย่าง อาทิ หายใจครืดคราด, ปากบวม, ตาบวม, ลมพิษที่ผิวหนัง, ถ่ายเหลวเรื้อรัง และถ่ายเป็นเลือด เป็นต้น ทั้งนี้ การจะทดสอบว่าแพ้อาหารชนิดใดนั้น ไม่สามารถทำได้ด้วยการเจาะเลือด จะทำได้ก็คือ ต้องทดลองงดอาหารที่สงสัยนานประมาณ 4 – 6 สัปดาห์ แล้วคอยดูว่ามีอาการดีขึ้นหรือไม่

เปิดแอร์แล้วลูกหายใจครืดคราด ทำอย่างไรดี?

เช็คดูอุณหภูมิที่เปิด ไม่ควรเย็นมากเกินไป โดยอุณหภูมิที่แนะนำควรอยู่ที่ 26 – 28 องศาเซลเซียส และสวมเสื้อผ้าที่ค่อนข้างหนาสักหน่อย

ลูกหายใจครืดคราด อันตรายไหม?

หากสังเกตลูกแล้วลูกมีอาการดูเหนื่อยหอบ, ปากซีด, หายใจไม่ทัน และหน้าอกบุ๋ม ลักษณะนี้ควรปรึกษาแพทย์

ลูกหายใจมีเสียงวี้ด อันตรายไหม?

หากลูกหายใจมีเสียงดังวี้ด อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ เสมหะอุดตันในโพรงจมูก แต่อาการนี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไป แต่บางกรณีอาจหมายถึงอาการของปอดติดเชื้อ หรือโรคหอบหืด ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่เป็นกังวล แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยต่อไป

หายใจครืดคราดแบบที่ต้องพบแพทย์ทันที

หากลูกน้อยหายใจครืดคราด คัดจมูก และมีอาการร่วมกับอาการดังต่อไปนี้ ควรพาลูกพบแพทย์ทันที

  • ลูกน้อยไอเรื้อรัง และมีเสียงหายใจดังวี้ด
  • มีไข้สูง (38 องศาเซลเซียส) ขึ้นไป
  • ทารกมีอาการคล้ายหวัด
  • หายใจเข้าและออกลึก จนเห็นซี่โครงได้ชัด
  • ขณะที่ลูกหายใจ ปีกจมูกจะบานกว่าปกติ
  • มีเสียงครืดคราด ขณะที่หายใจ
  • หายใจเร็วมากกว่า 60 ครั้ง/นาที
  • ริมฝีปาก, ตา, มือ และเท้ามีสีฟ้า
  • หยุดหายใจเกิด 10 วินาที

อ้างอิง ป้าหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ