Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ทารกบาดเจ็บจากการเขย่า (Shaken Baby Syndrome) เสี่ยงเสียชีวิต

ทารกบาดเจ็บจากการเขย่า (Shaken Baby Syndrome) เสี่ยงเสียชีวิต

ภาวะ Shaken Baby Syndrome ฟังดูอาจไม่ค่อยคุ้นหูกันสักเท่าไหร่ แต่ภาวะนี้กล่าวง่าย ๆ ก็คือ ภาวะที่ทารกได้รับบาดเจ็บจากการเขย่านั่นเองค่ะ จากทั้งที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งใจหรืออาจไม่ตั้งใจก็ตาม แต่หากลูกเกิดภาวะนี้แล้วอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับภาวะนี้ให้มากขึ้นค่ะ

สาเหตุจากอะไร?

โรคนี้มักพบได้บ่อยกับทารกวัยไม่เกิน 1 ขวบ โดยเฉพาะในวัยประมาณ 3-8 เดือน แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนนะคะ

จากแรงกระทำภายนอก

เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่จับลูกเขย่าแรง ๆ ซึ่งการที่ทารกถูกเหวี่ยงตัวไปมานั้นจะส่งผลให้เนื้อสมองกระแทกกับกะโหลกศีรษะซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะโดยปกติแล้วในกะโหลกศีรษะของทารกจะมีน้ำในสมองมากกว่าเนื้อสมอง การเขย่าหรือเหวี่ยงไปมาจะทำให้เนื้อสมองแกว่งไปด้วยจนทำให้สมองบอบช้ำและเสียหายในที่สุด

จากร่างกายของทารกเอง

  • คอทารกยังอ่อน จึงไม่สามารถรับแรงเขย่าที่แรง ๆ ได้
  • ไม่สามารถพยุงหัวตัวเองได้
  • สมองยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่
  • เส้นเลือดในสมองง่ายต่อการฉีกขาด

อาการของทารกที่ได้รับผลกระทบจากการเขย่า

อาการของทารกแบบไหนที่จะเสี่ยงเป็นโรค Shaken Baby Syndrome คุณพ่อคุณแม่สังเกตได้ตามนี้ค่ะ

  • อาเจียนอย่างรุนแรง
  • หายใจลำบาก
  • ซึมเศร้า ไม่ดูดนม
  • ร้องไห้งอแงตลอดเวลา เลี้ยงยาก
  • ดูดนมมากจนผิดปกติ

หากคุณพ่อคุณแม่พบอาการเหล่านี้ให้พบคุณหมอด่วนค่ะ

ผลกระทบจากการที่ลูกถูกเขย่าอย่างรุนแรง

เพราะทารกยังอยู่ในวัยที่พัฒนาการในหลาย ๆ ด้านยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนั้น ผลกระทบที่ทารกจะได้รับหลังจากการถูกเขย่าอย่างรุนแรงคือ

  • ดวงตาถูกทำลายหรือตาบอด
  • มีพัฒนาการที่ช้าลง ไม่สมวัย
  • มีอาการชัก
  • เป็นอัมพาต
  • ปัญญาอ่อน
  • หากรุนแรงมาก อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

วิธีป้องกันไม่ให้ลูกเป็นโรคที่เกิดจากการเขย่า

  • ไม่อุ้มทารกโดยการจับใต้วงแขนแล้วแกว่งขึ้น แกว่งลง หรือแกว่งไปมา หรือเขย่าจนหัวสั่นหัวคลอนอย่างรุนแรง
  • ไม่ควรเล่นหรือเผลอเล่นกับลูกด้วยการโยนขึ้น-ลงแบบสูง ๆ ถึงแม้บางครั้งเด็กอาจจะสนุก แต่ร่างกายทารกยังอ่อนแอเกินไปที่จะเล่นแบบนั้น
  • หากจับให้ทารกนั่งอยู่บนตักหรือไหล่ ควรระมัดระวังให้มาก เพราะทารกอาจหงายหลังไปได้อย่างรวดเร็ว จนบางครั้งผู้ใหญ่ก็รับไม่ทันเช่นกัน
  • ก่อนที่จะอุ้มทารกให้เอามือประคองทั้งคอและศีรษะทารกเสมอ
  • เวลาลูกร้องงอแง ไม่ควรเขย่าลูกด้วยความโกรธ หากต้องการให้ลูกหยุดร้อง ควรค่อย ๆ อุ้มลูก พาลูกเดินเล่น แล้วปลอบลูกแทนนะคะ

ถ้าลูกร้องไห้ไม่หยุด ทำอย่างไรดี

คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจต้องทำงานไปด้วย เลี้ยงลูกไปด้วย บวกกับสภาพอากาศที่ร้อน อาจทำให้หงุดหงิดได้ง่าย ยิ่งเวลาที่ได้ยินเสียงลูกร้องไห้งอแงทีก็จะยิ่งทำให้เครียดเข้าไปใหญ่จนทำให้มองไม่เห็นทางออกว่าจะทำอย่างไรให้ลูกหยุดร้อง ลองวิธีนี้ค่ะ

  • พยายามหาสิ่งของมาล่อ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ
  • หาสาเหตุที่ทำให้ลูกร้อง อาทิ อาการไม่สบายตัวจากอากาศ หรือจากการขับถ่าย มีแมลงสัตว์กัดต่อย เป็นต้น

แต่หากพยายามทำทุกอย่างแล้วก็ยังไม่เจอสาเหตุให้เปลี่ยนมาเป็นวิธีนี้ดูค่ะ

  • ตั้งสติ หายใจเข้า-ออกเร็ว ๆ นับ 1-10
  • เดินออกมานอกห้อง ให้ทารกร้องไห้คนเดียวในห้องที่มั่นใจว่าปลอดภัย
  • ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นให้มาปลอบทารกแทน
  • หลังจากสงบสติอารมณ์ตัวเองได้แล้ว ให้กลับเข้าไปหาลูกอีกครั้ง

การเขย่าหรือการแกว่งทารกไปมา ไม่ว่าจะเป็นด้วยการเล่น ด้วยอารมณ์โมโห หรือเป็นการลงโทษ ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม ไม่ควรเกิดขึ้นกับทารกเด็ดขาด เพราะผลที่ได้จากการเขย่าทารกนั้นมันรุนแรงมากกว่าความสนุก รุนแรงมากกว่าอารมณ์ที่ลงไปกับลูกมากนัก คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้คำว่า “อารมณ์ชั่ววูบหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์” มาทำลายหนึ่งชีวิตน้อย ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สร้างมาเองนะคะ มันไม่คุ้มกันเลยจริง ๆ

อ้างอิง
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
Oknation.nationtv.tv
Mamaexpert.com