Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เรื่องควรรู้กับการนอนของลูกวัยขวบปีแรก

46423495 - portrait of beautiful mother with her 5 months old baby sleeping in the bed

ในช่วงวัยแรกเกิด เป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทั้งหลาย ต้องคอยเฝ้าดูลูกน้อยทุกอากัปกิริยา ไม่ว่าจะการกิน การขับถ่าย โดยเฉพาะการนอน ซึ่งเด็กทารกยังไม่สามารถแยกกลางวันกลางคืนได้เหมือนเรา ฉะนั้นเจ้าตัวเล็กจึงยังไม่สามารถนอนหลับพักผ่อนได้เต็มที่ในรวดเดียวหลายๆ ชั่วโมงได้ จึงเป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่คงต้องเหนื่อยหน่อย ที่จะทำความเข้าใจกับการนอนของเจ้าหนูทั้งหลาย

การนอนหลับของเด็ก

การนอนหลับของเด็ก ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพวกเขา เพราะขณะที่ลูกนอนหลับจะมีฮอร์โมนเรียกว่า โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ออกมากระตุ้นให้ร่างกายเติบโต ใยประสาทจะเชื่อมโยงกับเซลล์ จึงทำให้สมองเติบโตด้วย หากเจ้าหนูได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ก็จะเป็นเด็กที่อารมณ์ดี และเรียนรู้ได้มาก แต่สำหรับการนอนของเด็กทารกวัยแรกเกิด – 6 เดือน ไม่ได้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเด็กแต่ละช่วงวัยมีพฤติกรรมการนอนที่เเตกต่างกัน เจ้าตัวเล็กจะได้พักผ่อนตลอดเวลาของการนอนจริง ๆ ก็ต่อเมื่อได้หลับรวดเดียวยาวๆ ประมาณเดือนที่ 6 ขึ้นไป

การนอนของลูกน้อยวัยแรกเกิด – 3 เดือน

การนอนของทารกในช่วงนี้ จะเป็นช่วงที่คุณแม่ต้องเหนื่อยสุดๆ เพราะลูกน้อยยังไม่สามารถแยกแยะกลางวันกลางคืนได้ และในช่วงแรกมักจะนอนกลางวันมากกว่ากลางคืน มีเวลาตื่นที่ไม่แน่นอน ลูกจะหลับดีในช่วงสัปดาห์แรก จะนอนครั้งละประมาณ 3-4 ชั่วโมง ตลอดทั้งวัน รวมกันประมาณ 18 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งการนอนอาจเปลี่ยนไปทุกสัปดาห์ และจะค่อยๆ ปรับตัวมานอนตอนกลางคืนมากกว่าได้เองในไม่ช้า

การนอนของลูกน้อยวัย 3 – 6 เดือน

ในวัยนี้ เจ้าตัวเล็กจะเริ่มนอนกลางวันน้อยลง และนอนกลางคืนมากขึ้น โดยจะหลับรวดเดียวไปจนถึงเช้า ไม่ตื่นมากินนมตอนกลางคืนเหมือนก่อน ซึ่งคุณแม่ไม่ต้องกังวลว่าเจ้าหนูจะหิวกลางดึก เพราะเขาได้กินนมตุนไว้เต็มที่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องปลุกลูกมากินนมตอนดึกอีก ความต้องการนอนของลูกน้อยในช่วงนี้จะลดลงเป็น 15-16 ชม. ต่อวัน

การนอนของลูกน้อยวัย 6 – 12 เดือน

เด็กวัยนี้ส่วนใหญ่จะสามารถนอนหลับได้นานรวดเดียวในเวลากลางคืน โดยจะไม่ตื่นมาดูดนมกลางคืนอีก ส่วนกลางวันก็จะหลับเป็นช่วงสั้น ๆ วันละ 2 ครั้ง รวมเวลาหรือความต้องการนอน 13-14 ชม. ซึ่งคุณแม่ก็จะเหนื่อยเรื่องการตื่นบ่อยของลูกน้อยลดลง

สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรทำเมื่อลูกนอน

อย่านับการนอนหลับสั้นๆ

ว่าเป็นการนอนของลูก เพราะการนอนหลับอย่างเต็มที่ของทารกนั้น คือ การนอนที่นานกว่า 45 นาทีขึ้นไปเท่านั้น หากเจ้าหนูนอนหลับไปในระยะเวลาสั้นๆ แล้วตื่นบ่อย อาจเป็นสาเหตุให้หงุดหงิดและร้องไห้โยเย เพราะเขาไม่ได้รับประโยชน์จากการนอนนั้นและไม่ได้รับพลังงานอย่างเต็มที่นั่นเอง

อย่าเข้าไปหาทันทีเมื่อลูกตื่น

เพราะระหว่างการนอนของเจ้าหนูน้อย อาจจะหลับๆ ตื่นๆ บ้างเป็นเรื่องปกติ ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะรีบเข้าไปหาเมื่อเห็นว่าลูกตื่นแล้วร้อง ซึ่งอาจเป็นการรบกวนการนอนของเด็กจนทำให้เขาตื่นขึ้นมาทันที แทนที่จะได้นอนต่อไปอีก เมื่อลูกตื่นควรปล่อยให้เจ้าหนูได้อยู่กับบรรยากาศเงียบๆ ต่อไปสักครู่ จะทำให้เขาหลับต่อไปได้

อย่าปลุกลูก ถ้าไม่จำเป็น

พ่อแม่หลายคนมักกังวลว่าถ้าลูกนอนตอนกลางวันนาน ๆ พอตกกลางคืนลูกจะหลับยาก แต่จริงๆ แล้ว สำหรับเด็กวัย 4 เดือนขึ้นไป ไม่ควรเข้าไปปลุกให้ตื่น เพราะเด็กหลายคนที่หลับนานช่วงกลางวัน ก็หลับนานในช่วงกลางคืนได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้การเข้าไปปลุกเขาในขณะที่เขายังนอนไม่อิ่ม อาจทำให้ลูกหงุดหงิด และไม่ได้รับพลังงานอย่างเต็มที่

อย่าเมินเฉยกับอาการง่วง

พ่อแม่ไม่ควรเมินเฉยๆ ต่ออาการแปลกของลูก เพราะนั่นอาจหมายถึงอาการง่วงได้ เพราะเด็กอาจไม่ได้แค่หาวเวลาง่วง แต่มีอาการอื่นๆ มากมายที่บ่งบอกว่าง่วง เช่น เปลือกตาตก ตาลอย หงุดหงิด ร้องไห้ หากคุณแม่เห็นว่าลูกน้อยมีอาการดังกล่าวควรกล่อมลูกนอนทันที ไม่อย่างนั้นอาจทำให้เจ้าหนูเข้าสู่ภาวะเหนื่อยมากเกินไป และจะยิ่งงอแงเข้าไปอีก

อย่าใช้เครื่องนอนมากมายกับทารก

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรห่มผ้าให้ทารกบ่อย หรือใช้ผ้าหนาๆ เกินไป รวมไปทั้งการเอาหมอนข้าง ผ้าห่ม ผ้านวม หรือตุ๊กตา วางไว้รอบทารกขณะนอนหลับ อาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยได้ เพราะครื่องนอนเหล่านี้อาจทำให้เกิดการตายแบบกะทันหัน หรืออาการหลับไม่ตื่นในเด็กทารก (Sudden Infant Death Syndrome) เช่น ผ้าห่มหนๆ อาจไปปิดหน้าลูกจนหายใจไม่ออก

สำหรับขวบปีแรก คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องรับเมือกับการเปลี่ยนแปลงของระยะเวลาการนอนของลูกอยู่ตลอด แต่เมื่อเจ้าหนูเริ่มโตขึ้นระยะเวลาของการหลับสนิทก็จะเพิ่มขึ้นจาก 50% ไปจนถึง 70-80% ของระยะเวลาการนอนหลับทั้งหมด ทำให้รอบของการหลับมีความคล้ายคลึงกับผู้ใหญ่ แต่หากมีอะไรมาทำให้เจ้าตัวเล็กตื่นระหว่างหลับ เขาอาจจะหลับต่อเนื่องได้ยาก หรือบางคนถึงกับไม่ยอมนอนต่อ ฉะนั้นการสร้างบรรยากาศการนอนที่ดีให้กับลูก ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ควรใส่ใจด้วย