Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เทคนิคการสร้างความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ให้กับลูกวัยแรกเกิด – 1 ปี

เทคนิคการสร้างความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ให้กับลูกวัยแรกเกิด – 1 ปี

ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ Emotional Quotient (EQ) เชื่อว่าคำนี้คุณพ่อคุณแม่คงเคยได้ยินกันมาพอสมควร EQ มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ต่อการจัดการตัวเอง และต่อการเข้าสังคมเป็นอย่างมาก ว่าแต่เราจะสามารถเลี้ยงลูกหรือปลูกฝังลูกให้มีความฉลาดทางอารมณ์ตั้งแต่แรกเกิดเลยได้ไหม?

EQ (Emotional Quotient) คืออะไร?

Emotional Quotient (EQ) คือ ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นความสามารถที่เราสามารถรับรู้อารมณ์ตัวเองและอารมณ์ของผู้อื่นได้ รวมถึงการมีความสามารถในการจัดการบริหารอารมณ์ของตัวเองและคนอื่นได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม


อยากให้ลูกมี EQ (ความฉลาดทางอารมณ์) สูง ๆ ต้องสอนลูกอย่างไร? สอนในเรื่องอะไรบ้าง? พบกับ 12 เทคนิคสั้น ๆ ทำได้ไม่ยากที่นี่ค่ะ

พฤติกรรมแบบไหนถึงเรียกว่ามีความฉลาดทางอารมณ์?

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยมีความฉลาดทางอารมณ์ สามารถดูได้จากสิ่งเหล่านี้ค่ะ

  • แสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
  • มีความเข้าใจในความรู้สึกของผู้อื่น
  • มีความอ่อนโยนต่อผู้อื่น
  • มีมนุษยสัมพันที่ดี
  • สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี
  • สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ดี
  • รู้จักการรอคอยอย่างใจเย็น ไม่ร้องไห้ งอแง

จริงอยู่แม้บางสิ่งบางอย่างลูกซึ่งอยู่ในวัยทารกอาจจะไม่สามารถแสดงออกให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นทั้งหมดในตอนนี้ แต่เชื่อเถอะค่ะ มันจะมีบางข้อที่ลูกแสดงออกในแบบที่คุณพ่อคุณแม่สามารถรู้สึกได้

เทคนิคการสร้างความฉลาดทางอารมณ์ให้ลูกวัยแรกเกิด – 1 ปี

ก่อนอื่นต้องบอกอย่างนี้ก่อนค่ะ ว่าด้วยพื้นฐานนิสัยของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน การเลี้ยงง่าย เลี้ยงยากต่างกัน บางคนสามารถปรับตัวได้เร็ว ในขณะที่บางคนอาจใช้เวลานานสักหน่อย นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรในการสร้างพื้นฐานทางอารมณ์ด้วยเช่นกัน และจากสาเหตุนี้เองการสร้างความฉลาดทางอารมณ์จึงต้องเริ่มที่ตัวของคุณพ่อคุณแม่ก่อน

ควบคุมอารมณ์และการแสดงออกทางอารมณ์ของตัวเองก่อน

หากลูกมีอายุที่ต่ำกว่า 6 เดือน และร้องหิวนม คุณพ่อคุณแม่ควรตอบสนองลูกในทันที เพราะอะไรคะ? ก็เพราะว่าช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยที่ต้องการการปรับตัว ต้องการความปลอดภัย และต้องการความมั่นคงทางอารมณ์จากคุณแม่

การที่คุณแม่ตอบสนองลูกในทันที ในวัยต่ำกว่า 6 เดือน จะช่วยให้ลูกรู้สึกว่า แม้ว่าคุณแม่จะไม่ได้อุ้มตลอด หรือแม้ว่าไม่ได้เห็นคุณแม่ แต่เมื่อหิว คุณแม่จะมาหาทันที ลูกจะรู้สึกปลอดภัย รู้ว่าคุณแม่ไม่ได้ทิ้งเขาไปไหนไกล เมื่อเขาได้เรียนรู้อย่างนี้แล้ว เขาจะไม่เป็นเด็กที่งอแงค่ะ แต่จะมีความมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้น

ฝึกให้ลูกรู้จักการรอคอย

หากลูกมีอายุมากกว่า 6 เดือนแล้ว หากลูกร้องเพราะหิว คุณแม่สามารถฝึกลูกให้อดทนสักหน่อยได้ด้วยการส่งเสียงบอกให้ลูกรู้ว่าคุณแม่กำลังเตรียมนมให้อยู่ ด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน เช่น “รอแป้บหนึ่งนะคะลูก แม่กำลังเตรียมนมให้อยู่ค่ะ” เริ่มแรกลูกอาจจร้องงอแง แต่เมื่อทำไปเรื่อย ๆ ลูกจะเรียนรู้ได้เองค่ะ

ชื่นชมลูก หากลูกทำได้

ชื่นชมลูกวัยทารก แม้ว่าเขาจะไม่เข้าใจในความหมาย แต่เขาสามารถรับรู้ได้จากน้ำเสียงที่อ่อนโยนของคุณแม่ค่ะ เขาจะรู้ว่าเมื่อเขารอได้ คุณแม่จะปฏิบัติกับเขาอย่างอ่อนโยน และนุ่มนวล

หมั่นชวนลูกพูดคุย

คุณแม่สามารถชวนลูกพูดคุยได้ตลอดเวลาเลยค่ะ คุณแม่เองจะทราบดีว่าช่วงเวลาไหนที่ลูกอารมณ์ดี พร้อมที่จะชวนคุย การพูดคุยด้วยน้ำเสียง และท่าทางที่อ่อนโนจะทำให้ลูกซึมซับพฤ๖กรรมของคุณแม่ได้ค่ะ

อ่านหนังสือให้ลูกฟัง

การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง พร้อมกับพากย์เสียงสูงต่ำที่แตกต่างจะเป็นการช่วยเพิ่มความสนใจ และเพิ่มความสนุกให้กับการอ่าน ลูกจะสนุกและอยากที่จะฟังให้จบโดยไม่เบื่อค่ะ เท่ากับเป็นการฝึกให้ลูกมีความนิ่งมากขึ้นได้อีกด้วยนะคะ

ให้ลูกได้เล่นอย่างหลากหลาย

เพื่อเป็นการให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว เพราะของเล่นแต่ละอย่างก็มีวิธีการเล่นที่แตกต่างกันไป สิ่งนี้นอกจากจฝึกการปรับตัวให้ลูกแล้ว ยังเป็นการฝึกการแก้ปัญหาได้ดีอีกด้วยค่ะ

ให้ลูกได้ออกกำลังกาย

ข้อนี้คุณแม่ต้องช่วยลูกในการจับแขนและขาในการออกกำลังกาย ระหว่างการออกกำลังกายคุณแม่สามารถร้องเพลงเองได้เลยค่ะ เพราะลูกในวัยนี้ชอบฟังเสียงของคุณแม่มากที่สุด

เปิดเพลงให้ลูกฟัง

หรือหากคุณแม่เหนื่อยแล้ว ต้องการเปลี่ยนบรรยากาศ สามารถเลือกใช้เป็นเพลง White Noise ซึ่งเป็นเพลงบรรเลง แนวธรรมชาติ เสียงนกร้อง เสียงน้ำตก ฯลฯ แบบนี้ก็ได้เช่นกันค่ะ

ความฉลาดทางอารมณ์นั้น ความจริงแล้วคุณแม่สามารถสร้างให้ลูกได้ตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์เลยค่ะ ซึ่งข้อมูลข้างต้นที่กล่าวมาเป็นแนวทางให้คุณแม่ได้สร้างความฉลาดทางอารมณ์ให้ลูกอย่างต่อเนื่องหลังคลอดค่ะ