Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ทารกร้องไห้มาก อันตรายไหม ส่งผลกระทบด้านใดกับลูกบ้าง

ทารกร้องไห้มาก อันตรายไหม ส่งผลกระทบด้านใดกับลูกบ้าง

ความเชื่อและคำพูดที่กล่าวต่อ ๆ กันมาว่า “ปล่อยให้ลูกร้องไห้ไป เดี๋ยวก็หยุดไปเอง” หรือ “ให้ลูกร้องไห้นาน ๆ ก็ดีเหมือนกัน จะได้เป็นการบริหารปอด” ความจริงแล้ว การที่ปล่อยให้ทารกร้องไห้มาก ๆ นั้นเป็นอันตรายหรือไม่ จะส่งผลต่อจิตใจ ร่างกาย หรือสมองหรือเปล่า วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจกันค่ะ

ทารกร้องไห้มาก จะส่งต่อปอดหรือสมอง

ในร่างของคนเราจะมี “ฮอร์โมนคอร์ติโซล์ (Cortisol)” ถ้าคุณแม่ปล่อยให้ลูกน้อยร้องไห้เป็นเวลานาน ๆ ร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนตัวนี้ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดออกมามากกว่าปกติ เมื่อฮอร์โมนตัวนี้สูงขึ้น มันก็จะไปขัดขวางพัฒนาการของเนื้อเยื่อระบบประสาทในสมอง ยับยั้งการเจริญเติบโต และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง ส่งผลให้ความสามารถในการเรียนรู้และความจำเด็กลดลงตามไปด้วย
กลับกัน หากลูกน้อยร้องไห้ แล้วได้รับการปลอบโยนและมีการตอบสนองลูกในเชิงบวกร่างกายจะมีการหลั่ง “สารอะดรีนาลีน (Adrenaline)” ออกมา ส่วนระดับฮอร์โมนคอร์ติโซล์ก็จะลดระดับลง โดยทั่วไปแล้วหากทารกร้องไห้ก็มักจะไม่เกิน 15 นาที เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกน้อยร้องไห้นานเกิน 20 นาที และที่สำคัญคือ การเพิกเฉย ปล่อยให้ลูกน้อยร้องไห้ ความคิดแบบนี้ไม่ใช่ความคิดที่ดีแน่ค่ะ โดยเฉพาะกับลูกน้อยที่อายุยังไม่ถึง 5 ปี

ผลกระทบต่อการเพิกเฉยต่อเสียงร้องของทารก

การเพิกเฉยต่อเสียงร้องของลูกน้อย จะส่งผลกระทบอะไรบ้าง ไปดูกันค่ะ

เป็นคนที่ไม่มั่นคงทางอารมณ์

ทารกจะมีวิธีการสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ได้ไม่กี่อย่าง คือ การส่งยิ้มและการร้องไห้ ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่เพิกเฉยต่อสิ่งที่ลูกพยายามจะสื่อสาร ขาดการตอบสนองลูกในทางบวก ลูกน้อยร้องไห้ก็ไม่เข้าไปอุ้ม ไม่ปลอบโยน เหล่านี้จะส่งผลต่อจิตใจของลูกเป็นอย่างมาก ลูกน้อยจะรู้สึกขาดความอบอุ่น มีความรู้สึกไม่ปลอดภัย มีภาวะไม่มั่นคงทางอารมณ์เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย (ร้องไห้)

ขาดความมั่นใจในการแสดงออกทางคำพูด

ขณะที่ลูกน้อยร้องไห้ แต่คุณพ่อคุณแม่เพิกเฉย ลูกน้อยจะเรียนรู้ว่าตัวเขาไม่มีพลังในการสื่อสารความรู้สึกทุกข์ใจ (เพราะร้องไห้ขนาดนี้คุณพ่อคุณแม่ยังไม่สนเขาเลย) ลูกน้อยจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่มีคุณค่า นาน ๆ เข้า เด็กจะมีปัญหาในเรื่องการทำความเข้าใจในอารมณ์ของตนเอง ไม่สามารถหาคำจำกัดความให้กับสิ่งที่ตัวเองรู้สึกหรือแสดงออกได้ ซี่งส่งผลต่อการสื่อสารที่เป็นคำพูดนั่นเอง

เป็นเด็กเก็บกด

จากการเพิกเฉยของคุณพ่อคุณแม่ จากเดิมที่ลูกร้องไห้เพื่อที่จะสื่อสารให้คุณพ่อคุณแม่รู้ต่อมาก็จะกลายเป็นว่าเมื่อลูกน้อยมีความเศร้าหรือความทุกข์ ลูกจะไม่แสดงออก เป็นการ “เก็บกด” อารมณ์ไว้กับตัวเองจนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ เมื่อโตขึ้นลูกหากลูกมีเรื่องทุกข์ใจ ลูกก็จะไม่เห็นถึงความสำคัญที่จะต้องคุยกับคุณพ่อคุณแม่อย่างเปิดใจ บางรายอาจไม่คุยเลย

ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ที่ผ่านมา ลูกได้รับประสบการณ์มาแบบไหน ลูกก็จะส่งต่อพฤติกรรมในแบบนั้น ลูกถูกเพิกเฉยต่ออารมณ์ทุกข์ใจที่เค้าเคยพยายามที่จะสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ฉันใด เขาก็จะไม่ได้รู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นแบบนั้นเหมือนกัน

วิธีสื่อสารกับทารกให้ตรงใจลูก

การสื่อสารกับลูกไม่ใช่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะเป็นฝ่ายพูดฝ่ายเดียวแต่ควรฟังลูกพูดด้วยเช่นกัน ซึ่งจะมีวิธีสื่อสารกับลูกได้ ดังนี้

น้ำเสียง และท่าทาง

น้ำเสียงเป็นอะไรที่ลูกน้อยสามารถจับความรู้สึกได้ไวทีเดียวค่ะ เสียงและท่าทางที่นุ่มนวล อ่อนโยนจะทำให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่นใจ และปลอดภัย

เน้นคำสำคัญ และใช้คำซ้ำ

โดยเฉพาะในช่วงที่คุณแม่ต้องการจะสอนลูก ตัวอย่างเช่น การเรียกชื่อลูกซ้ำ เพื่อให้ลูกได้รู้จักชื่อของตัวเอง

พูดชื่อสิ่งที่เห็น

ให้คุณแม่พูดบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ พร้อมกับชี้ให้ลูกรู้จักสิ่งต่าง ๆ แม้ลูกจะพูดไม่ได้ แต่ลูกสามารถจำได้ค่ะ

พูดชื่นชมลูก

เมื่อลูกสามารถพูดสื่อสารได้ อย่าลืมชื่นชมให้กำลังใจลูกด้วยนะคะ

มีเสียงประกอบกับสิ่งที่พูด

เช่น เมื่อเห็นหมา ให้คุณแม่บอกลูกก่อนว่านี่คือ หมา แล้วค่อยทำเสียง “โฮ่ง ๆ” เป็นต้น

ไม่ควรสอนลูกว่า “นี่คือ เจ้าโฮ่ง” เพราะโตขึ้นลูกน้อยจะเรียกหมาว่า “โฮ่ง” หรือ “แมว” ก็ให้สอนว่าแมว ไม่ควรสอนว่า “หง่าว” เหล่านี้จะส่งผลเสียอย่างเห็นได้ชัดเมื่อลูกต้องเข้าโรงเรียน กลายเป็นว่าลูกต้องปรับตัวและมาเริ่มเรียนรู้คำศัพท์ที่ถูกต้องใหม่

สบตาลูกน้อย

ข้อนี้สำคัญมาก ทุกครั้งที่คุณแม่พูดคุยกับลูกให้สบตาลูกเสมอ เพื่อให้ลูกรับรู้ว่าคุณแม่ตั้งใจคุยกับเขา

การเพิกเฉยต่อความรู้สึกของทารกก็เท่ากับคุณแม่กำลังจะปลูกฝังสิ่งนั้นให้กับลูกน้อยเช่นกัน ถ้าหากต้องการให้ลูกน้อยเติบโตมาเป็นเด็กดี รู้จักมีน้ำใจ เห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น คุณพ่อคุณแม่ควรเปลี่ยนความคิดเรื่องการเพิกเฉยต่ออารมณ์ของลูกตั้งแต่วันนี้นะคะ