Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกร้องไห้ตอนกลางคืน เกิดจากอะไร แก้ไขได้ไหม

ลูกร้องไห้ตอนกลางคืน เกิดจากอะไร แก้ไขได้ไหม

การที่ลูกร้องไห้ตอนกลางคืน มักพบได้บ่อยกับเด็กในวัย 2 – 4 ขวบ สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุค่ะ จะอันตรายไหม มีวิธีรับมือหรือเปล่า และอีกหลาย ๆ คำถามที่เกี่ยวกับเรื่องลูกร้องไห้ตอนกลางคืน ซึ่งวันนี้เราจะไปไล่เรียงกันทีละข้อเลยค่ะ

อาการลูกร้องไห้ตอนกลางคืน

อาการของลูกที่มักร้องไห้ตอนกลางคืน โดยมาจะหลับตาอยู่แต่ จะมีอาการเพิ่มเติมที่หลากหลาย ดังนี้

  • กรีดร้องเหมือนตกใจกลัวอะไรสักอย่าง
  • ร้องไห้แล้วมีพูดบางประโยคออกมา ซึ่งอาจฟังได้ชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง
  • เด็กบางคนมีอาการหลับตาและร้องไห้
  • สะดุ้งตื่น พอตื่นมาก็ร้องไห้แบบไม่มีสาเหตุโดยเฉพาะในตอนกลางคืน
  • บางคนมีทั้งหลับตา ร้องไห้ เหงื่อออก พร้อมกับหัวใจที่เต้นแรง

ลูกร้องไห้ พ่อแม่ควรเข้าไปปลุกและอุ้มลูกไหม

คุณพ่อคุณแม่หลายคนตกใจเวลาที่เห็นลูกหลับตา ร้องไห้ บางรายมีการกรีดร้องหลังจากที่ลูกเพิ่งหลับได้ไม่นาน ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกยังหลับตื้นอยู่ ซึ่งการที่คุณพ่อคุณแม่รีบเข้าไปอุ้มลูก เขย่าลูก ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิด เนื่องจาก…
การร้องที่เกิดขั้นในช่วงที่ลูกหลับตื้นหรือช่วง Non REM Sleep นั้น คือ ช่วงที่ลูกจะยังจดจำเหตุการณ์อะไรต่าง ๆ ยังไม่ได้ หากลูกถูกปลุกหรือเขย่าให้ตื่นในช่วงนี้ก็จะยิ่งทำให้ลูกตื่นมากตกใจ และร้องไห้มากขึ้น

สาเหตุที่ลูกร้องไห้ตอนกลางคืน พร้อมวิธีรับมือ

การที่ลูกร้องไห้ตอนกลางคืน เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

มีปัญหาสุขภาพ

ปัญหาสุขภาพ ได้แก่ มีไข้ มีผดผื่น แมลงสัตว์กัดต่อย หรืออาจเป็นโรคภูมิแพ้ ส่งผลให้ลูกเกิดอาการคัดจมูก หายใจไม่สะดวก

วิธีรับมือลูกร้องไห้เพราะปัญหาสุขภาพ

  • หากลูกร้องไห้เพียงแค่ในระยะเวลาสั้น ๆ แบบนี้คุณพ่อคุณแม่ยังไม่ควรเข้าไปอุ้ม หรือให้นมเพิ่มในมื้อดึก เนื่องจากจะกลายเป็นสร้างความเคยชินในการตื่นกลางดึกบ่อย ๆ
  • หากลูกร้องไห้อันเนื่องมาจากการเจ็บป่วย ให้คุณแม่เข้าไปดูลูกว่ามีไข้สูงหรือไม่ มีน้ำมูกมาอุดตันที่ทำให้ลูกหายใจไม่สะดวกหรือเปล่า ควรเช็ดตัว และดูดน้ำมูกลูก ซึ่งถ้าหาสาเหตุมาแล้ว แก้ไข ทำทุกวิถีทางแล้วแต่อาการลูกไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ค่ะ

ลูกฝันร้าย

การฝันร้ายสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกับเด็กที่อายุ 3 – 6 ปี (หรือวัยอนุบาล) เนื่องจากวัยนี้เป็นวัยแห่งจินตนาการ โลกของลูกจะมีจินตนาการสูง ฝันร้ายจึงเป็นอะไรที่ค่อนข้างน่ากลัวและตื่นเต้น ได้แก่ หนีปีศาจ จมน้ำ หรือวิ่งหนีผี เป็นต้น

วิธีรับมือลูกฝันร้าย

หากลูกร้องไห้และตื่นขึ้นมาเอง ให้คุณพ่อคุณแม่กอดลูก ปลอบลูก รอจนกว่าลูกจะสบายใจขึ้น และสงบลง พอตอนเช้าค่อยสอบถามลูกว่าเมื่อคืนหนูฝันร้ายเรื่องอะไร แล้วให้คุณพ่อุรแม่เล่านิทานเรื่องอื่น ๆ แทน เพื่อให้เรื่องราวร้าย ๆ ในความฝันของลูกค่อย ๆ จางลงไป

นอนละเมอ

การนอนละเมอ เป็นอาการที่เราแสดงออกมาไม่รู้ตัวขณะหลับ ตื่นมาส่วนใหญ่มักจำไม่ได้ สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากกิจกรรมหรือเรื่องราวที่ลูกได้รับมาในเวลากลางวัน ซึ่งปัญหาการนอนละเมอ มีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ คือ

ละเมอฝันผวา หรือละเมอร้อง
การละเมอร้องมักพบได้บ่อยในเด็กวัย 4 – 7 ปี อาการสำคัญที่สังเกตได้คือ กรีดร้อง ตกใจตื่นอย่างเฉียบพลัน เด็กจะจำอะไรไม่ได้เลยเมื่อตื่น

ละเมอพูด
เป็นการละเมอที่พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 50% ของเด็กที่มีอายุระหว่าง 3-13 ปี อาการคือ มักพูดพึมพำในลำคอ บางครั้งก็ฟังรู้เรื่อง บางครั้งก็จับความไม่ได้

ละเมอเดิน
หลายคนที่ละเมอเดินไปเปิดตู้เย็น เปิดตู้เสื้อผ้า บางรายอาจเดินไปหยิบของมีคม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้เดินไปคนเดียว ไม่ควรให้คลาดสายตา

วิธีการรับมือลูกละเมอ

  • หากลูกละเมอร้อง หากลูกตื่นขึ้นมาเองให้คุณพ่อคุณแม่กอดลูก ปลอบลูก จนกว่าลูกจะสบายใจ
  • หากละเมอเดินให้คุณพ่อคุณแม่เดินตามลูกไป หากเห็นว่าจะเริ่มมีอันตรายให้แตะตัวลูกเบา ๆ เพื่อไม่ให้ลูกตกใจ

เล่นมากเกินไป ไม่นอนกลางวัน

การปล่อยให้ลูกเล่นมากเกินไป จะทำให้ลูกรับเรื่องราวต่าง ๆ เข้ามาในหัวได้ง่าย เล่นมาก สนุกมาก จนลืมนอนกลางวัน

วิธีรับมือลูกเล่นมากเกินไป

คุณพ่อคุณแม่ควรจัดเวลานอนให้ลูกอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งควรจัดเวลาตื่นให้ลูกที่เหมือนกันทุกวันโดยไม่ตื่นสายมากเกินไป ไม่อย่างนั้นลูกจะไม่ง่วงในเวลากลางวัน

ลูกปวดเหงือก มีฟันงอก

หากเป็นเด็กเล็กที่ฟันจะงอก จะมีอาการปวดเหงือก อาจเกิดความไม่สบายตัว และตื่นมาร้องไห้กลางคืน หรือกลางดึกได้

วิธีรับมือลูกปวดเหงือก มีฟันงอก

  • ให้คุณแม่ใช้นิ้วที่สะอาด ช่วยนวดเหงือกให้ลูกบ่อย ๆ ในจุดที่ฟันจะขึ้น
  • ให้ลูกกัดของเล่นแข็ง เย็น ๆ ที่สะอาด และปลอดภัย

การที่ลูกร้องไห้ตอนกลางคืน โดยรวมคือคุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งตกใจ ให้ตั้งสติก่อน อย่าเพิ่งปลุกให้ตื่นในขณะนั้น ยกเว้นว่าถ้าลูกมีการละเมอเดิน แบบนี้ไม่ควรให้ลูกคลาดสายตาเป็นอันขาด ถ้าเป็นสาเหตุอื่น ๆ ให้คุณพ่อคุณแม่หาสาเหตุแล้วแก้ไขอย่างมีสตินะคะ

อ้างอิง proextron.com, Facebook พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ