Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกชอบกรี๊ด พร้อมวิธีรับมือ

ลูกชอบกรี๊ด พร้อมวิธีรับมือ

เห็นลูกนั่งเล่นอยู่ดี ๆ ซักพักก็กรี๊ดขึ้นมา อิแม่ก็ตกใจคิดว่าเป็นอะไร พอมาดูดี ๆ อ้าวก็ไม่มีอะไรนี่ เล่นของเล่นปกติ มีหลายครอบครัวค่ะที่เจอกับเหตุการณ์นี้โดยเฉพาะกับลูกน้อยวัย 2 – 3 ขวบ คุณพ่อคุณแม่เริ่มกังวลว่าลูกชอบกรี๊ดแบบนี้ผิดปกติไหม ถ้าไม่ผิดปกติ จะมีวิธีรับมือหรือแก้ไขหรือเปล่า ไปค่ะ ทุกคำถามเรามีคำตอบ

สาเหตุที่ลูกชอบกรี๊ด พร้อมวิธีรับมือ

คราวนี้แม่โน้ตอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจถึงสาเหตุกันก่อนว่าเพราะอะไรลูกน้อยถึงชอบกรี๊ด แล้วค่อยไปดูวิธีรับมือและแก้ไขกัน

คลังศัพท์ในหัวน้อย ไม่รู้จะสื่อสารอยางไรดี

คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนอาจจะงงกับลูกน้อย เพราะบางทีดีใจก็ร้องกรี๊ด ไม่พอใจก็ร้องกรี๊ด กำลังคุย ๆ อยู่กับคุณพ่อคุณแม่อยู่ดี ๆ ก็ร้องไห้กรี๊ดขึ้นมา ที่ลูกน้อยเป็นอย่างนี้เนื่องจากเขาเพิ่งรู้จักการสื่อสารด้วยคำพูด ด้วยประโยคได้ไม่นาน ดังนั้น คลังศัพท์ในหัวเขาจึงยังมีน้อย และเขาต้องการจะสื่อสารให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจ แต่ไม่รู้จะใช้คำไหน เมื่อเขาไม่รู้วิธีว่าจะบอกอย่างไร เขาอึดอัด และจึงกรี๊ดออกมานั่นเอง

วิธีรับมือ

อย่างแรกคุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นค่ะ ตั้งใจฟังในสิ่งที่ลูกพูด ถ้าเริ่มเห็นว่าลูกเริ่มรู้สึกอึดอัด เริ่มที่จะไม่รู้คำศัพท์แล้ว ให้คุณพ่อคุณแม่เติมคำในช่องว่างนั้นทันที เพื่อช่วยให้ลูกได้พูดต่อได้ แต่ถ้าเติมคำในช่องว่างไม่ทันแล้ว ลูกกรี๊ดออกมาซะก่อน หน้าที่คุณพ่อคุณแม่ก็คือ ใจเย็นเช่นเดิมค่ะ เพิ่มเติมคือ ค่อย ๆ พูดกับลูก เช่น “หนูอยากได้อะไร หรืออยากให้พ่อแม่ทำอะไรคะ ค่อย ๆ พูดด้วยเหตุผลนะคะ” หรือ “หนูไม่พอใจที่หนูตื่นมาไม่เจอตุ๊กตาตัวโปรดใช่ไหมคะ ลองหาดูดี ๆ ซิ ตกอยู่ข้างเตียงหรือเปล่า” คือ สิ่งสำคัญ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นและบอกลูกว่า “พ่อแม่เข้าใจอารมณ์ของเขา” เมื่อลูกน้อยเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่ใจเย็นได้ ลูกจะเลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่โดยอัตโนมัติเลยทีเดียว

ปรับตัวไม่ทันกับวัยและสังคมรอบตัว

วัย 2 – 3 ขวบ เป็นวัยที่เพิ่งเริ่มได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ มากมาย เริ่มได้เข้าสังคม ออกไปเที่ยวต้องเจอกับผู้คนมากมาย ร่างกายเจริญเติบโต ฮอร์โมนก็เริ่มปรับตัวไปตามเพศ เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกรู้สึกกระสับกระส่าย หงุดหงิด และกรี๊ดออกมาได้

วิธีรับมือ

ด้วยความที่เราเลี้ยงลูก อยู่กับลูกทุกวัน คุณพ่อคุณแม่อาจะละเลยในเรื่องพัฒนาการของลูกไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นผลมาจากพัฒนาการของลูกที่ควรทำความเข้าใจก่อนที่จะตัดสินไปว่าลูกก้าวร้าว ในขั้นนี้หากพบว่าลูกกรี๊ด ให้คุณพ่อคุณแม่หากิจกรรมเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจลูก เมื่ออารมณ์ลูกสงบลง ค่อยถามไถ่ว่าถึงสิ่งที่ลูกต้องการ

อยากให้ทุกคนให้ความสำคัญ

ใคร ๆ ก็ต้องการความรัก ต้องการเป็นคำสำคัญ ลูกน้อยก็เช่นกันค่ะ โดยเฉพาะความรักจากคุณพ่อคุณแม่ ยิ่งถ้าต้องมารู้ว่าคุณพ่อคุณแม่กำลังจะมีน้อง เขาก็จะกลัวว่าน้องจะแย่งความรักนี้ไป

วิธีรับมือ

การให้ความรักกับลูกด้วยการพูดคุยว่าความรักที่คุณพ่อคุณแม่มีให้เขานั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย นอกจากนี้ การให้เวลาคุณภาพ และการกอด เป็นอะไรที่จะทำให้ลูกรู้สึกอุ่นใจมากขึ้น และมั่นใจมากขึ้นว่าความรักที่คุณพ่อคุณแม่มีให้เขานั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย

เลียนแบบจากผู้ใหญ่

พฤติกรรมบางอย่างของเด็กก็มาจากการที่เด็กได้เห็นคุณพ่อคุณแม่ทะเลาะกัน เห็นจากในละคร หรืออาจมาจากคนรอบตัว เด็กจึงเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะเด็กยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าพฤติกรรมไหนควรทำหรือไม่ควรทำ

วิธีรับมือ

เริ่มจากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่รอบตัวก่อนที่ควรปรับพฤติกรรมการแสดงออก หรือถ้าหากคุณพ่อคุณแม่เริ่มเห็นว่าตัวเองคุมอารมณ์ไม่อยู่ให้เดินออกจากตรงนั้นมาก่อน หรือถ้าเริ่มเห็นผู้ใหญ่คนอื่น ๆ เริ่มจะแสดงอาการฉุนเฉียว ให้พาอเขาออกมาจากจุดนั้นเช่นกัน เพื่อไม่ให้ลูกเห็นและเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

เป็นวัยที่เต็มไปด้วยอารมณ์

ที่ต้องบอกแบบนี้ก็เพราะว่าเด็กยังไม่สามารถแยกแยะหรือเข้าใจเหตุผลที่ถูกต้องได้ เขายังสับสนระหว่างการทำที่ถูกใจตัวเองกับการทำอะไรแบบถูกต้อง ดังนั้น เมื่อลูกไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการจึงร้องไห้ เสียใจ โวยวาย และกรี๊ด

วิธีการรับมือ

ตั้งกฎเกณฑ์ให้ชัดเจน อาทิ “ถ้ากินข้าวไม่หมด บ่ายนี้ไม่ต้องกินขนม” หรือ “ถ้าหนูไม่ชอบตุ๊กตาแบบไหน ให้บอกพ่อกับแม่นะคะ เราจะได้ไม่ซื้อมา

การปรับพฤติกรรมลูกชอบกรี๊ด ไม่ใช่เรื่องยากค่ะ เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจพัฒนาการของเด็กก่อน เพราะเมื่อเรารู้ถึงสาเหตุแล้ว การแก้ไขก็จะทำได้อย่างตรงจุดค่ะ