Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ใช้คำว่า “ไม่” กับลูกอย่างไรให้สร้างสรรค์ ไม่กระทบต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของลูก

ใช้คำว่า “ไม่” กับลูกอย่างไรให้สร้างสรรค์ ไม่กระทบต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของลูก

เมื่อลูกเริ่มสู่วัยหัดเดิน หัดพูด (2-3 ขวบ) เด็กบางคนเริ่มต่อรองเป็นแล้วนะคะ เหล่านี้อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องเหนื่อยหน่อย เหนื่อยที่ต้องคอยห้ามไม่ให้ทำโน่น ทำนี่อันเกิดจากความไม่รู้ของลูก ซึ่งการพูดคำว่า “ไม่” จะเป็นการทำร้ายจิตใจลูก ทำให้ลูกรู้สึกว่าถูกตีกรอบ ลูกจะไม่กล้าลุกขึ้นมาทำอะไร ส่งผลต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ของลูกอีกด้วยค่ะ แต่จะพูดอย่างไรที่สามารถแทนคำว่า “ไม่” ได้ และไม่กระทบต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของลูก

พูดคำว่า “ไม่” ให้สร้างสรรค์

ทุกอย่าง “yes” หมด ทำได้หมด

ขอยกตัวอย่างที่น่าจะเห็นได้ชัดนะคะ เช่น ใกล้เวลากินข้าวแล้ว แต่ลูกขอออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน ให้คุณพ่อคุณแม่ตอบลูกไปได้เลยค่ะว่า…

“ได้ค่ะ แต่ต้องหลังกินข้าวซัก 45 นาทีนะคะ ให้เข็มยาวถึงเลข 9 ก่อน เพราะเพิ่งกินข้าวเสร็จใหม่ ไปวิ่งเลย เดี๋ยวหนูปวดท้องนะคะ”

แบบนี้ก็จะทำให้ลูกไม่รู้สึกว่าถูกปฏิเสธแล้วล่ะค่ะ

บอกความรู้สึกของเราให้ลูกฟัง

สมมติว่าลูกกำลังทุบโต๊ะ ทำให้เกิดเสียงดังและสร้างความรำคาญให้กับคุณพ่อคุณแม่ หรือบางครั้งหากไปนอกบ้านก็อาจไปสร้างความรำคาญให้คนรอบข้างได้ และแทนที่คุณพ่อคุณแม่จะพูดว่า “ไม่ทุบโต๊ะนะลูก” ให้คุณพ่อคุณแม่เปลี่ยนแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมาแทน

“หนูกำลังทำให้โต๊ะเจ็บ แม่เสียใจจัง”

แบบนี้นอกจากจะทำให้ลูกหยุดได้แล้ว ยังเป็นการสอนลูกไปในตัวอีกด้วยค่ะว่า การจะทำอะไรก็ตามควรคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่นด้วย ทำให้ลูกมีพัฒนาการการเรียนรู้ด้านอารมณ์ค่ะ

ให้ทางเลือกกับลูก

หากในกรณีที่ลูกเล่นเตะบอลในบ้าน ซึ่งคุณแม่กลัวว่าจะไปทำลายข้าวของเสียหาย แทนที่จะบอกให้ลูกหยุดเล่นทันที ลองพูดกับลูกและให้ทางเลือกกับลูกแบบนี้ดูนะคะ

“ถ้าหนูจะเล่นบอล เล่นได้ค่ะ ถ้าเล่นในบ้าน แม่แนะนำว่าให้หนูเล่นได้แบบกลิ้งที่พื้น แต่ถ้าจะเตะบอลหรือขว้างสูง ๆ หนูต้องเล่นนอกบ้านนะคะ”

การให้ทางเลือกกับลูกจะทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาไม่ถูกบังคับ ที่สำคัญ ยังเป็นการฝึกให้ลูกได้ใช้ความคิดและการวิเคราะห์อีกด้วยค่ะ

อธิบายให้ลูกฟังและทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น

ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะสั่งห้ามลูกว่าไม่ให้ทำอะไรนั้น ให้คุณพ่อคุณแม่อธิบายให้ลูกฟังก่อนด้วยข้อความที่สั้นและกระชับนะคะ พร้อมกับทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง เช่น หากลูกต้องการเล่นกับแมว ควรบอกให้ลูกลูบหัวแทนการตีหรือจับแมวแรง ๆ พร้อมทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง จะทำให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ค่ะ

บอกเป้าหมายให้ลูกเข้าใจก่อน

เวลาที่ไปเดินเล่นที่ห้างสรรพสินค้า ชั้นที่คุณพ่อคุณแม่ไม่อยากไปมากที่สุด คงหนีไม่พ้นชั้นที่ขางยของเล่น แต่หากวันหนึ่งเราจำเป็นที่จะต้องไปชั้นนั้น เพื่อหาซื้อของใช้เด็ก ของขวัญ หรือของเล่นให้กับเด็กคนอื่น ก่อนออกจากบ้าน ให้คุณพ่อคุณแม่อธิบายให้ลูกเข้าใจก่อนว่า

“วันนี้ที่เราต้องไปซื้อของเล่น ก็เพื่อเอาไปเป็นของขวัญให้เพื่อนหนูนะลูก เพราะหนูมีของเล่นหลายชิ้นแล้ว”

แบบนี้ก็จะทำให้ลูกโปรแกรมตัวเองแล้วว่าวันนี้คุณพ่อคุณแม่จะไม่ได้ซื้อของเล่นให้ ซึ่งเป็นการเลี่ยงคำว่า “ไม่” ด้วยการทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน

เพราะพัฒนาการลูกมีหลายด้าน ในขณะเดียวกันการเลี้ยงลูกก็มีในหลายมิติ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องหมั่นสังเกตและใส่ใจในสิ่งที่ลูกทำ ผ่านการอบรมเลี้ยงลูกอย่างถูกทาง เพราะการพูดคำว่า “ไม่” จะทำให้ลูกเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่พูดแต่คำว่า “ไม่” อย่างเดียวเช่นกัน กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิต ถ้าไม่อยากเห็นภาพลูกในมุมนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องปรับเปลี่ยนคำพูดตั้งแต่วันนี้แล้วล่ะค่ะ

อ้างอิง
Redbookmag.com
askdrsears.com