Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ดนตรีเสริมพัฒนาการ ข้อดี และวิธีเสริมพัฒนาการที่ถูกต้อง

ดนตรีเสริมพัฒนาการ ข้อดี และวิธีเสริมพัฒนาการที่ถูกต้อง

ดนตรีถือเป็นอีกหนึ่งภาษาสากลที่ใช้สื่อสารเหมือนกันทั่วโลก นั่นคือการใช้ตัวโน้ตในการสื่อสาร ด้วยท่วงทำนองที่ไพเราะ และเหมาะกับเด็กเล็กจะเป็นการช่วยเสริพัฒนาการของลูกได้ดีทีเดียวค่ะ ข้อดีของการใช้ดนตรีเสริมพัฒนาการมีอะไรบ้าง สามารถทำได้ด้วยวิธีใดบ้าง ไปติดตามกันค่ะ

ข้อดีของดนตรีที่ใช้เสริมพัฒนาการ

คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มใช้ดนตรีเพื่อการเสริมพัฒนาการให้ลูกได้ตั้งแต่ในครรภ์เลยค่ะ เพราะดนตรีที่มีจังหวะที่เหมาะสมในแต่ละช่วงจะส่งผลดีให้คุณแม่ตั้งครรภ์อารมณ์ดี ผ่อนคลาย ส่งผลดีต่อลูกน้อยในครรภ์ได้อีกด้วยค่ะ ซึ่งข้อดีในการใช้ดนตรีเสริมพัฒนาการลูกหรือกรณีที่ให้ลูกได้หัดเล่นเอง สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ลูกอายุ 2-8 ขวบค่ะ โดยมีข้อดี ดังนี้

เสริมพัฒนาการทางสมองให้ลูก

สมาธิ” คือสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรมีไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่จะดีกว่าไหมหากเราสามารถฝึกให้ลูกมีสมาธิได้ตั้งแต่เล็ก ๆ การให้ลูกน้อยได้เล่นดนตรี หรือได้ฟังเพลง จะเป็นการช่วยสร้างสมาธิให้ลูกได้เป็นอย่างดี เพราะสมาธิจะส่งผลดีต่อการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และความคิดสร้างสรรค์ของลูกในอนาคต

เสริมพัฒนาการด้านร่างกาย

เพราะขณะที่ให้ลูกได้ฟังดนตรีนั้น สามารถให้ลูกได้ขยับแขน ขยับขา ไปตามจังหวะเพลงได้ ไม่ว่าจะเป็นการเคาะ หรือการปรบมือ เหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้ลูกมีความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการควบคู่กันไป หรือถ้าใครที่สามารถลุกขึ้นเต้นได้ก็จะดีมากเลยค่ะ เป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อร่างกายให้แข็งแรงได้อีกด้วยค่ะ

วิธีการใช้ดนตรีเสริมพัฒนาการ

การใช้ดนตรีเพื่อเสริมพัฒนาการลูกนั้น นอกจากจะเปิดเพลงให้ลูกฟัง และเล่นดนตรีเองแล้ว (ไม่ซีเรียสนะคะว่าต้องเล่นได้เป็นเพลง) ยังมีอีกหลายวิธีเลยค่ะ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้เพื่อส่งเสริมพัฒนาการลูกได้

ร้องเพลงที่มีคำศัพท์ง่าย ๆ ซ้ำ ๆ

ด้วยหลักการแล้ว การที่เราได้ทำอะไรซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จะทำให้เราจำในสิ่งนั้น ๆ ได้ ลูกน้อยก็เช่นกันค่ะ การที่คุณพ่อคุณแม่ร้องเพลงที่มีคำศัพท์ง่าย ๆ บ่อย ๆ เป็นประจำก็จะทำให้ลูกจำคำศัพท์ได้ ยิ่งถ้าฝึกให้ลูกร้องตามได้ก็จะช่วยให้ลูกสนุกและจำคำศัพท์ได้นั่นเอง

ชวนลูกประดิษฐ์เครื่องดนตรีง่าย ๆ

วันหยุดคุณพ่อคุณแม่ชวนลูกน้อยมาประดิษฐ์เครื่องดนตรีง่าย ๆ ได้ค่ะ ด้วยการใช้วัสดุที่พอจะหาได้ อาทิ กล่องกระดาษ จาน ชาม ช้อน ขวดน้ำพลาสติก หรือฝาของขวดน้ำก็ได้ค่ะ วัสดุเหล่านี้สามารถนำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องดนตรีง่าย ๆ ได้ เช่น กลองเอาไว้เคาะจังหวะ หรือจะเป็นกลองกระป๋อง หรือจะใช่กล่องนม UHT ก็ได้ค่ะ นอกจากลูกจะได้ความสนุกจากการเล่นดนตรีแล้ว ยังได้ความคิดสร้างสรรค์จากการดัดแปลง และการประดิษฐ์เครื่องดนตรีเองอีกด้วยค่ะ

ใช้ตุ๊กตาเป็นตัวเล่าเรื่อง

อาจใช้ตุ๊กตา หรือตุ๊กตานิ้วมือมาแสดงเรื่องราวหรือท่าทางประกอบก็ได้ค่ะ เคลื่อนไหวไปตามเพลง ยิ่งถ้าลูกชอบเล่นบทบาทสมมติ ลองชวนลูกมาจินตนาการสวมบทบาทเป็นตัวละครนั้น ๆ ดู พร้อมกับคิดทำนองเพลงเองขึ้นมา เป็นการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างดีทีเดียว

เล่นเกมจับคู่กับเพลง

ให้นำกระดาษเปล่ามาตัดเป็นทรงสี่เหลี่ยม ด้านหนึ่งวาดตัวละคร หรือสัญลักษณ์ที่แสดงได้ว่านี่คือเพลงที่คุ้นเคย เช่น ดาว สำหรับเพลง “Twinkle, Twinkle Little Star”, แมงมุม สำหรับเพลง “Itsy Bitsy Spider”, สุนัข สำหรับเพลง “Bingo” หรือ รถบัสสีเหลือง สำหรับ “The Wheels on the Bus” เป็นต้น จากนั้นให้วางกระดาษคว่ำลงกับพื้น แล้วให้ลูกสุ่มหยิบกระดาษหงายขึ้น เจอภาพใดให้ร้องเพลงนั้น ๆ


รวมเพลงกล่อมนอนทั้งเพลงไทย เพลงสากล และเพลงบรรเลงกว่า 25 บทเพลง สำหรับคุณแม่ใช้กล่อมลูกน้อย

เปิดเพลงคลอ

ระหว่างที่คุณพ่อคุณแม่นั่งทำกิจกรรมต่าง ๆ กับลูก หรืออยู่กับลูก สามารถเปิดเพลงคลอเบา ๆ ไปด้วยได้ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาของการเล่นด้วยกัน หรือคุณแม่จะทำงานบ้านอยู่ก็ตาม เพราะเป็นการเสริมสร้างสมาธิให้กับลูกได้อีกทางหนึ่ง

ฟังและวาดรูปไปควบคู่กัน

ชวนลูกฟังเพลงและวาดรูปไปพร้อม ๆ กันโดยที่คุณพ่อคุณแม่ร่วมทำด้วย เริ่มด้วยการเปิดเพลงที่ลูกชอบ อาจทำเป็นเพลลิสต์ไว้ก่อน จากนั้นนำกระดาษ ดินสอ ดินสอสี หรือสีเทียน มาใช้ในการวาดรูป ระหว่างที่คุพ่อคุณแม่วาดรูป ให้อธิบายเหตุผลด้วยว่าเพราะอะไรถึงใช้สีนั้น ๆ เช่น สีฟ้า แทนท้องฟ้า เป็นต้น

ชวนลูกทายเพลง

ให้คุณพ่อคุณแม่ ฮัมเพลงแค่บางช่วง จากนั้นให้ลูกทายว่าเพลงนั้น ๆ คือเพลงอะไร อาจจะผลัดกันทายก็ได้ เพื่อเพิ่มความสนุก

ตั้งวงครอบครัว

อาศัยช่วงเวลาที่ทุกคนอยู่กันพร้อมหน้า ตั้งวงดนตรีของครอบครัวขึ้นมา ในที่นี่ไม่ต้องถึงขั้นไปซื้อกลองจริงมา หากที่บ้านไม่มีนะคะ แต่ถ้าครอบครัวไหนมีเครื่องดนตรีอยู่แล้วบางชิ้นเช่น คีย์บอร์ด หรือกีต้าร์ ก็ให้สร้างที่เหลือ เช่น อาจนำกล่องพลาสติกหรือกล่องกระดาษ มาเคาะทำเป็นกลอง อาจช่วยกันแต่งเพลงที่เป็นเพลงเฉพาะของครอบครัว วิธีนี้จะเน้นให้ลูกได้เรียนรู้ว่าที่มาที่ไปของเพลงแต่ละเพลงนั้นเป็นมาอย่างไร

แอปพลิเคชันดนตรี

เราควรใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ด้วยการโหลดแอปพลิเคชันที่สนุก ๆ อย่าง Musical Me, Tune Train, Kids Ear Training และ Piano Dust Buster แอปเหล่านี้จะเป็นการสอนลูกเกี่ยวกับพื้นฐานทางดนตรีค่ะ เช่น ตัวโน้ต ระดับเสียง คอร์ด และโครงสร้างของเพลง เป็นต้น

การเล่นดนตรี หรือการได้ฟังเพลง เป็นการเสริมสร้างพัฒนาการพื้นฐานที่ดีให้กับลูก เพราะการมีสมาธิที่ดี เท่ากับลูกมีความพร้อมสำหรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ค่ะ