Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกไม่กินผัก รับมือด้วย 6 เทคนิคนี้

ลูกไม่กินผัก รับมือด้วย 6 เทคนิคนี้

อีกหนึ่งปัญหาคลาสสิกสำหรับคุณพ่อคุณแม่ก็คือ “ลูกไม่กินผัก” ถ้าคำว่า “ผัก” ของคุณพ่อคุณแม่หมายถึง ผักที่มีสีเขียวล่ะก็ โน้ตอยากจะชวนให้คุณพ่อคุณแม่คิดย้อนไปเมื่อตอนที่ลูกอายุ 6 เดือน ซึ่งเป็นวัยที่ลูกจะต้องได้รับอาหารเสริมที่นอกเหนือจากนมแม่ เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจกับคำว่า “ผัก” ที่ลูกกินได้หรือที่ลูกชอบ กับผักที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการฝึกให้ลูกกิน พร้อมทั้งเทคนิคที่จะฝึกให้ลูกกินผัก เราไปดูในรายละเอียดกันเลยค่ะ

ปัญหาลูกไม่กินผัก

ชวนคุณพ่อคุณแม่ย้อนเวลากลับไปเมื่อตอนที่ลูกอายุได้ 6 เดือน ลองค่อยๆ ทบทวนกันดูนะคะว่ามีผักอะไรบ้างที่เราใช้ทำเป็นอาหารเสริมให้ลูกบ้าง จะใช่ แครอท ฟักทอง หรืออะโวคาโด ฯลฯ หรือเปล่า เพราะการให้ลูกเริ่มกินผักแบบปั่นละเอียดนั้น ควรเริ่มต้นด้วย “ผักที่ไม่กลิ่นเหม็นเขียว” ก่อน เพราะหากลูกได้กลิ่นเหม็นเขียวแล้วล่ะก็ อาจทำให้ลูกเบือนหน้าหนีผักไปอีกนานเลย

มาถึงวัยที่ลูกเริ่มเคี้ยวได้ บางครอบครัวอยากให้ลูกกินผักเก่งๆ พยายามจัดมาให้ลูกได้ลองกิน แต่…ลืมคิดไปว่า “ลิ้น” เด็กมีความสามารถในการตรวจผักที่ไม่คุ้นเคยได้เก่งมาก แม้เข้าปากไปแล้วก็คายออกมาได้
จากประสบการณ์ส่วนตัว ก่อนที่ลูกจะเข้าโรงเรียนน้องมินกินผักได้เก่งมาก หัวไชเท้า แตงกวา แครอท ต้มจับฉ่าย ฯลฯ แต่พอเข้าโรงเรียนแล้ว เห็นเพื่อนไม่กินผัก เขี่ยผักออก เค้าก็ทำตาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องกลับมาทำทุกวิถีทางให้ลูกกินผักได้ใหม่

สาเหตุที่ลูกไม่กินผัก

โดนบังคับทั้งที่ยังไม่พร้อม

ด้วยความที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการฝึกให้ลูกได้กินผักเก่งๆ และหลากหลาย จึงพยายามเฟ้นหาเมนูใหม่ๆ มาให้ลูกกิน ทันทีที่ลูกเห็นผักสีเขียว ก็ปิดปากทันที ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่ยิ่งบังคับก็จะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีต่อการกินผัก ทำให้เกิดการต่อต้านได้

ยังไม่ชินกับอาหารที่ต้องใช้การเคี้ยว

เพราะเด็กยังคุ้นชินกับอาหารอ่อน อาหารที่เคี้ยวง่าย พอมาเจอผักสีเขียวที่มีเส้นใยมาก ต้องอาศัยการเคี้ยวมากกว่าเดิม พอเค้าเคี้ยวไม่ขาดแล้วกลืนลงไป ก็จะทำให้ลูกอยากอาเจียนได้ ก็เลยเข็ดและไม่ชอบผักที่ต้องเคี้ยวนาน ๆ

ไม่ชอบสีเขียว เพราะเหม็นเขียว

อย่างที่บอกค่ะ คุณพ่อคุณแม่ผักที่เราเริ่มให้ลูกกินตอนเค้าอายุ 6 เดือน เป็นผักที่ไม่ใช่เขียว ไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว ดังนั้น การที่จะให้ลูกได้กินผักสีเขียวนั้นต้องอาศัยเทคนิคเล็กน้อย ซึ่งจะกล่าวในหัวข้อถัดไป กลับกัน ถ้าครั้งแรกของลูกในการกินผักเขียว แล้วต้องเจอกลิ่นเหม็นเขียวก็ทำให้เค้าปฏิเสธการกินได้

ครอบครัวไม่ได้กินผักให้ดูเป็นตัวอย่าง

เมื่อเด็กไม่มีตัวอย่างให้ดูในเรื่องของการกินผัก โดยเฉพาะจากคนในครอบครัว เด็กก็จะเข้าใจว่า ทีคุณพ่อคุณแม่ยังไม่ได้กินเป็นประจำเลย ทำไมเค้าต้องกิน

6 เทคนิคฝึกลูกกินผัก

ชวนลูกกินผักแทนการบังคับ

คุณพ่อคุณแม่อาจบอกว่า เคยลองชวนลูกดูแล้ว แต่ลำพังแค่พูดชวนลูกไม่กินแน่นอน ใช่ค่ะ…เพราะโน้ตก็เป็นเหมือนกัน แต่…อย่างน้อยก็ทำให้เค้ารู้ว่า เราอยู่ข้างลูก ไม่ได้อยู่ข้างผัก เค้าไม่อยากกินตอนนี้ก็ไม่บังคับ ไม่เป็นไร แต่เราก็จะใช้วิธีอื่นๆ ร่วมด้วย

นำผักมาซ่อนแอบหรือแปรงร่าง

คิดเมนูใหม่ๆ และนำผักมาซ่อนแอบ (แต่ไม่ต้องหาให้ลูกเห็นนะคะ 555) หรือนำมาดัดแปลงเช่น โน้ตอยากให้ลูกกินหอมหัวใหญ่ ซึ่งมีกลิ่นฉุน แต่พอสุกแล้วจะหวาน โน้ตก็ใช้วิธีซอยหรือสับละเอียดเลยค่ะ ใส่ในสปาเก็ตตี้ เค้าก็กินแบบเพลินๆ ไป แต่ที่สำคัญ คุณแม่ลองเลือกเมนูที่เค้าชอบก่อนจะดีมากเลยค่ะ แล้วค่อยนำผักมาใส่

ควรเลือกผักใบเขียวที่เหม็นเขียวน้อยที่สุด

ถ้าคุณพ่อคุณแม่รู้แล้วว่า ผักที่มีสีเขียวอย่างเห็นได้ชัด ลูกจะปิดปากทันที ก็อาจต้องลดดีกรีลง อาจเริ่มที่ผักกาดขาว หัวไชเท้า แครอท ก่อน หรือผักที่มีสีเขียวอ่อน หรือหากลูกกินผักเหล่านี้ได้แล้ว อาจเริ่มผักใบเขียวที่กินง่ายก่อน เช่น ผักกวางตุ้งสุก หรือบรอกโคลีสุก เป็นต้น

สร้างแรงจูงใจ

ใช้จาน ช้อน ส้อม ที่มีลวดลายน่ารัก หรือลายที่ลูกชอบ หรือเปิดการ์ตูนที่ลูกชอบ แล้วชี้ให้เห็นเรื่องความแข็งแรงของการกินผัก เช่น มีการ์ตูนอยู่เรื่องตัวละครเป็นเด็กชายฝาแฝด เค้านั่งยานอวกาศ แต่ตัวยานเกิดหลุดร่อน ทำให้อวกาศดูดเด็ก 2 คนออกไปจากตัวยาน โน้ตจึงบอกกับลูกว่า เห็นไหมคะ เด็ก 2 คนนี้เค้าไม่ได้กินผัก ไม่มีแรงเกาะโต๊ะ จึงโดนอวกาศดูดเลย เป็นต้น

หรือเวลาที่ลูกอยากไปเที่ยวที่ไหนที่ต้องใช้การปีนป่าย ก็อาจเสริมได้ว่าถ้าหนูไม่กินผัก เดี๋ยวหนูไม่มีแรงปีนนะ หนูอยากนั่งดูเพื่อนเล่นหรือลูก? ก็ได้ค่ะ

ชวนลูกทำกับข้าว

การชวนลูกทำกับข้าวสำหรับเด็กอายุ 1-3 ขวบนั้น คุณแม่อาจจะให้ลูกช่วยเด็ดผักง่ายๆ ก่อนก็ได้นะคะ ยังไม่ต้องใช้ของมีคม เพื่อเป็นการทำให้เค้าได้รู้สึกได้มีความร่วมในการทำกับข้าวและจะทำให้เค้าอยากกินฝีมือของเค้าเอง

ครอบครัวกินให้ดูเป็นตัวอย่าง

ข้อนี้มีผลมากค่ะ คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นได้ว่าหลายสิ่งอย่างที่คุณพ่อคุณแม่พูดหรือสอนด้วยวาจาอย่างเดียว ไม่ได้ผล แต่บางสิ่งบางอย่างที่ไม่เคยสอน แต่ลูกเห็นคุณพ่อคุณแม่ทำ ลูกจะทำตามได้ทันที การกินผักก็เช่นกัน ฉันใดฉันนั้น ทำให้เค้ารู้ว่าการกินผักของครอบครัวเราเป็นเรื่องปกติ

ประโยชน์ของผักผลไม้ 5 สี

ผักและผลไม้สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม 5 สี แต่ละสี แต่ละอย่างก็จะมีประโยชน์แตกต่างกันไป การให้ลูกน้อยได้กินผักและผลไม้ให้ครบทั้ง 5 สีนั้น จะช่วยบำรุงร่างกาย ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ อาทิ โรคหลอดเลือดในสมอง ความดันโลหิต และโรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น วันนี้จะชวนคุณแม่ไปดูกันค่ะว่าผักผลไม้แต่ละสีนั้นมีประโยชน์อะไรกันบ้าง

ผักผลไม้สีเขียว

ผักในกลุ่มนี้มีสารสำคัญอย่าง คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll), ลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) และสารอื่น ๆ อีกมากมาย ที่มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ชะลอการเสื่อมของจอประสาทตา มีกากใยอาหารสูง ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย และกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย

ผักและผลไม้ที่มีสีเขียว

กะหล่ำปลีสีเขียว, บรอกโคลี, คะน้า, หน่อไม้ฝรั่ง, อะโวคาโด, แตงกวา, ผักโขม, ถั่วลันเตา, แอปเปิ้ลสีเขียว และองุ่นเขียว เป็นต้น

ผักผลไม้สีแดง

สารอาหารสำคัญที่พบได้ในผักผลไม้กลุ่มนี้ได้แก่ ไลโคปีน (Lycopene) เบตาไซซีน (Betacycin) และสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) โดยเฉพาะสารไลโคปีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นเลิศ ที่ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็ง ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้ โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งปอด

ผักและผลไม้ที่มีสีแดง

มะเขือเทศ, กะหล่ำปลีแดง, พริกแดง, หอมแดง, แอปเปิ้ลสีแดง, สตรอเบอร์รี่, เชอรี่, แครนเบอร์รี่, ราสเบอร์รี่, มะละกอ, ส้มโอสีชมพู, ทับทิม, องุ่นแดง, แตงโม และดอกกระเจี๊ยบ เป็นต้น

ผักผลไม้สีม่วงและสีน้ำเงิน

สารอาหารสำคัญที่อยู่ในผักผลไม้กลุ่มนี้ ได้แก่ แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่ช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจอุตัน และลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้

ผักและผลไม้ที่มีสีม่วงและสีน้ำเงิน

มะเขือม่วง, กะหล่ำปลีสีม่วง, มันสีม่วง, เผือก, องุ่นสีม่วง, ลูกพรุน, ลูกไหน, ลูกหว้า, ข้าวแดง, ข้าวนิล และข้าวเหนียวดำ เป็นต้น

ผักผลไม้สีเหลืองและสีส้ม

สารอาหารที่สำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ แคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ เบต้า-แคโรทีน (Beta-carotene) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) และวิตามินซี (Vitamin C)

ผักและผลไม้ที่มีสีเหลืองและสีส้ม

แครอท, ฟักทอง, มันเทศ, ข้าวโพด, มันฝรั่งหวาน, พริกสีเหลือง, ส้ม, เสาวรส, มะม่วง, แคนตาลูป, มะละกอ, และสับปะรด เป็นต้น

ผักผลไม้สีขาว

ในผักผลไม้สีขาวก็มีสารอาหารนะคะ ได้แก่ แซนโทน (Xanthone) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ที่ช่วยลดอาการอักเสบ ช่วยละระดับน้ำตาลในเลือด ต้านอนุมูลอิสระ ลดไขมันในเลือด ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และลดการปวดตามข้อ เป็นต้น

ผักและผลไม้ที่มีสีขาว

กล้วย, ลูกแพร์, น้อยหน่า, ลิ้นจี่, มังคุด, งาขาว, ขิง, กระเทียม, ผักกาดขาว, หัวไชเท้า, ดอกกะหล่ำ, ดอกแค, เห็ด และมันฝรั่ง เป็นต้น

บางครอบครัวอาจบอกว่าลูกก็กินผักใบเขียวได้นะ แต่เท่านั้นยังไม่พอค่ะ เพราะยังมีสารอาหารสำคัญอื่น ๆ ในผักและผลไม้ในสีอื่น ๆ อีกที่ร่างกายต้องการ เพียงแต่จะฝึกให้ลูกได้กินผักและผลไม้ได้หลาย ๆ ชนิดนั้น ต้องใช้เวลานะคะที่สำคัญไม่ควรดุลูก ถ้าลูกยังไม่พร้อมกิน เพราะจะยิ่งทำให้ลูกยิ่งไม่ชอบผักมากขึ้นไปอีก