Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ให้ความรักก่อนให้ความรู้

พ่อ-แม่” เช้าขึ้นมาต้องเตรียมตัวไปทำงาน นอกจากจะต้องเตรียมเรื่องของตัวเองแล้ว ก่อนสิ่งอื่นใดคือ ต้องแบ่งเวลาดูแลลูกๆ ปลุกให้ลุกจากที่นอน แปรงฟัน อาบน้ำ กินข้าว เตรียมไปโรงเรียน ทุกๆ เช้าชีวิตจะวุ่นกับภารกิจเหล่านี้

เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น การเลี้ยงดูก็จะต้องปรับไปตามวัยของลูกด้วย มองย้อนกลับไป คนเป็นแม่อย่างเรารู้สึกว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดและสบายที่สุดคือช่วงวัยแบเบาะ เพราะลูกแค่ต้องการความรักและอาหาร ที่สำคัญคือลูกยังตอบโต้ไม่ได้ ยังไม่มีคำพูด ก็แค่เหนื่อยกาย พักผ่อนก็หาย แต่ถึงจะเหนื่อยแค่ไหนเพื่อลูกแม่ทำได้

เคยสังเกตไหม ถึงแม้ว่าเด็กจะอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่ให้การเลี้ยงดูเหมือนกัน แต่ทำไมผลลัพธ์ต่างกัน
อะไรที่มีผลต่อพฤติกรรมของเด็ก และมีผลกับแนวคิดของเขา แน่นอนว่าธรรมชาติของเด็กแต่ละคนมีความแตกต่าง ลักษณะนิสัย ความชอบ ดูลึกลงไปในเรื่องของจิตใจก็ต่างกัน ทุกคนมีความต่างกัน

เราไม่จำเป็นต้องทำให้ทุกคนเหมือนกัน เพียงแค่เราจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้อย่างไร

รากฐานสำคัญที่ควรให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก

“ให้ความรักก่อนให้ความรู้”

อ.วรภัทร ภู่เจริญ ผู้ใหญ่ที่ดิฉันนับถือ ท่านกล่าวไว้ จากการให้เรียนรู้โดยการสังเกตวิธีการสอนของครูสมพร ที่นำลิงมาเลี้ยงมาฝึกจนใช้เก็บมะพร้าวได้

หลักการก็คือ “ให้ความรักก่อนให้ความรู้” ดิฉันรู้สึกว่า สิ่งนี้จริงมากทีเดียว เพราะขนาดลิง ที่เป็นสัตว์ป่า เรายังนำมาฝึกได้ นับประสาอะไรกับคนจะฝึกไม่ได้ จริงไหม

ใครรู้สึกว่าลูกเราไม่ดื้อบ้างคะ

คงจะมีน้อยคน หรืออาจจะไม่มีเลย เพราะธรรมชาติของเด็กต้องมีความดื้อ ความซน ความอยากรู้อยากเห็น

อยากให้คุณพ่อคุณแม่ลองปรับกรอบการเลี้ยงดูจาก ‘ผู้กำกับ‘ มาเป็น ‘ผู้สังเกตการณ์‘ กันดูบ้างนะคะ.

ให้ความรักก่อนให้ความรู้

พ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่วิธีการแสดงออก อาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพื้นฐานความคิดและจิตใจ สภาพอารมณ์. เหนือสิ่งอื่นใดให้ลูกมั่นใจว่าเรารักเขาอย่างแท้จริง ไม่เพียงแค่รักบนเงื่อนไขว่าถูกใจพ่อแม่ แต่รักในตัวตนของเขา

ถามดีกว่าบอก

ปกติเราเคยชินกับการสั่ง การบอกให้ทำเราตัดสินว่าสิ่งที่ลูกคิดสิ่งที่ลูกทำบางอย่างไม่ดีไม่เหมาะสม แล้วเราก็เป็นคนชี้ให้ลูกต้องทำอย่างนั้นต้องทำอย่างนี้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดนะคะเพราะตัวพ่อแม่เองก็ผ่านการสอนมาในลักษณะนี้ แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเราเป็นเพียงคนชี้ทาง แล้วให้ลูกเราฝึกเลือก ฝึกตัดสินใจด้วยตนเอง ผลที่ได้น่าจะได้มากกว่าการได้ดั่งใจเรานะคะ

ถ้าเราเคารพซึ่งกันและกัน ผู้ใหญ่ก็ใช่ว่าจะถูกเสมอ เด็กก็ใช่ว่าจะผิดตลอด
ลองใช้คำถามดูค่ะ เชื่อว่าน่าจะลดความขัดแย้ง ลดการที่ต้องเถียงกัน ทะเลาะกัน แล้วมาคุยกันด้วยเหตุผลมากขึ้น ยอมรับกันมากขึ้น

เป้าหมายของการเลี้ยงลูกของคุณคืออะไร

บทเรียนเริ่มต้นที่พ่อแม่ บางทีสิ่งที่ลูกเป็น สิ่งที่เราคิดว่าเป็นปัญหาสำหรับลูก สำรวจให้ดีแล้ว อาจเป็นโจทย์ที่เราจะใช้ปรับตัวเราเองมากกว่าปรับลูกนะคะ