Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เล่นอย่างไรให้ได้ทั้งสนุกและได้กระตุ้นพัฒนาการสำหรับเด็กวัย 0 – 3 ขวบ

เล่นอย่างไรให้ได้ทั้งสนุกและได้กระตุ้นพัฒนาการสำหรับเด็กวัย 0 – 3 ขวบ

หลายคนบอกว่า “อยากกลับไปเป็นเด็กอีก ไม่อยากโต เพราะชีวิตวัยเด็กมีแค่ กิน นอน เล่น” ซึ่งหนึ่งใน 3 เรื่องราวที่โน้ตจะพูดถึงในวันนี้คือ เรื่องของ “การเล่นของเด็กวัย 0 – 3 ขวบ” เพราะถ้าในเมื่อความสนุกของเด็กคือ การได้เล่น วันนี้เราจะใช้การเล่นมาเล่นอย่างสร้างสรรค์ ได้ทั้งสนุกด้วยและได้ทั้งการกระตุ้นพัฒนาการได้ด้วย เพราะหากลูกมีพื้นฐานที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ ก็จะส่งผลให้เขาเติบโตเป็นเด็กแข็งแรง ร่าเริง แจ่มใส พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ

วัยแรกเกิด – 3เดือน

เด็กวัยนี้เค้ามักจะชอบมองหน้าคน ทั้งคุณพ่อคุณแม่และคนอื่น ๆ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาศัยช่วงเวลานี้ชวนลูกคุย ไม่ว่าจะเป็นตอนอาบน้ำ ตอนให้นมลูก หรือแม้แต่ช่วงของการเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูปก็ได้ค่ะ

การเล่นกระตุ้นพัฒนาการของเด็กวัยนี้
ควรเป็นการเล่นที่กระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งได้แก่ การมองเห็น (ตา) การได้ยิน (หู) การดมกลิ่น (จมูก) การรับรส (ลิ้น) และการสัมผัส (กาย)

  • การเล่นปูไต่ : โดยให้คุณแม่ร้องเพลงที่มีเสียงสูงและเสียงต่ำ เพื่อเป็นการเพิ่มความน่าสนใจให้ลูก อีกทั้งปูไต่ยังเป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัสทางผิวหนังและเสริมทักษะทางสังคมได้ดี
  • แขวนโมบาย : โมบายควรเป็นลักษณะที่มีสีสันสดใส มีเสียงเพลงคลอไปด้วย การเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ ของโมบายจะเป็นการกระตุ้นการมองเห็นของเด็กได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เด็กอาจมีขยับแขนและขาตามเพลง ซึ่งเป็นเรื่องดีค่ะ เพราะเด็กจะได้ออกกำลังกล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กและมัดใหญ่ไปด้วย

4 – 6 เดือน

เด็กวัยนี้สามารถเล่นอะไรที่ซับซ้อนได้มากขึ้น และเล่นอย่างมีจุดหมาย

การเล่นกระตุ้นพัฒนาการของเด็กวัยนี้

  • ของเล่นที่มีเสียงกรุ๊งกริ๊ง : ลูกจะหันตามเสียง และจะมีความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น
  • การร้องเพลงพร้อมท่าประกอบ : เช่น เพลงจับปูดำ หรือเพลง โยกเยกเอย ที่คุณแม่ร้องเพลงไปทำท่าประกอบไป ลูกก็จะได้ออกกำลังกล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ
  • เลียนแบบเสียงพูด : เช่น จ๋า จ๊ะ ไป บาย เป็นต้น ทั้งนี้ให้คุณพ่อคุณชวนลูกพูดคุยแบบนี้บ่อย ๆ นะคะลูกจะได้หัดพูดด้วยค่ะ
  • ของเล่นที่เป็นรูปทรงต่าง ๆ : เช่น ของเล่นที่เป็นรูปทรงต่าง ๆ ให้นำใส่ลงกล่อง เพราะการที่ลูกต้องเอื้อมหยิบ จะทำให้ลูกได้เหยีดกล้ามเนื้อค่ะ

6 – 9 เดือน

วัยนี้จะเริ่มเคลื่อนไหวได้เอง มีพัฒนาการด้านภาษาที่ดี

การเล่นกระตุ้นพัฒนาการของเด็กวัยนี้

  • เล่นจ๊ะเอ๋ : เพื่อเป็นการดูในเรื่องการตอบสนองของลูก และเป็นการเสริมทักษะด้านสังคม
  • ยางสำหรับกัด : เพราะในช่วงแรกของวัย เด็กเล็กจะเรียนรู้และสำรวจสิ่งของต่าง ๆ ด้วยปาก

9 – 12 เดือน

ลูกเริ่มเข้าใจภาษาท่าทางของคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น เริ่มจะพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ได้แล้วแต่เป็นคำสั้น ๆ

การเล่นกระตุ้นพัฒนาการของเด็กวัยนี้

  • หนังสือภาพ : เป็นการฝึกให้ลูกได้รู้จักสิ่งต่าง ๆ รอบตัว รู้จักคำศัพท์ง่าย ๆ และเป็นการฝึกให้ลูกพูดตาม
  • เล่นตุ๊กตามือหรือนิ้วพร้อมพากย์เสียง : ลูกจะได้เรียนรู้การใช้ภาษา พร้อมทั้งการใช้จินตนาการ ด้วยการที่คุณพ่อคุณแม่ทำเสียงสูงต่ำ เหล่านี้จะทำให้ลุกสนุกและรักการเรียนรู้มากขึ้น
  • เล่นของเล่นลากจูง : ลูกจะเริ่มเกาะยืน การเล่นของเล่นลากจูงจะเป็นการกระตุ้นพัฒนาการของกล้ามเนื้อทั้งมัดใหญ่และเล็ก รวมถึงเรียนรู้การทำงานที่ประสานกันของตากับกล้ามเนื้อ

1 – 2 ขวบ

เริ่มมีการเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่วขึ้น เป็นอิสระมากขึ้น และเริ่มเป็นตัวของตัวเอง อยากทำอะไรเอง

การเล่นกระตุ้นพัฒนาการของเด็กวัยนี้

  • เลียนแบบพฤติกรรม : เช่น เมื่อเห็นคุณแม่กวาดบ้านก็จะมองหาไม้กวาดมากวาดด้วย เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นต้นแบบที่ดีนะคะ เพื่อให้ลูกทำตาม
  • ร้องเพลงประกอบท่าทาง : ลูกจะหัดปรบมือให้เข้าจังหวะและจะมีท่าทางประกอบตามที่คุณพ่อคุณแม่ทำให้ดู อาจเป็นเพลงช้างก็ได้ค่ะ

2 – 3 ขวบ

เด็กวัยนี้เริ่มเล่นตามจินตนาการ เล่นบทบาทสมมติได้

การเล่นกระตุ้นพัฒนาการของเด็กวัยนี้

  • เล่นบทบาทสมมติ : เป็นการกระตุ้นพัฒนาการลูกด้านภาษา ลูกจะได้เรียนรู้ว่าบทบาทที่ตัวเองเล่นอยู่นั้นมีหน้าที่อะไรบ้าง เป็นการค้นหาตัวตนของลูกได้ดีอีกทางหนึ่ง
  • ปั้นดินน้ำมัน เล่นทราย : การเล่นแบบนี้นอกจากจะทำให้ลูกได้ใช้จิตนาการแล้ว ยังเป็นการฝึกกล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กและมัดใหญ่อีกด้วยค่ะ

การเล่นของเด็ก ๆ หากคุณพ่อคุณแม่วางแผนดี ๆ จะทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี ส่งผลดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจเลยทีเดียวนะคะ คิดออกหรือยังคะว่าวันนี้จะชวนลูกเล่นอะไรดี