Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกกินหวานมากไป เสี่ยงต่ออะไรบ้าง? ควรเริ่มกินได้ตอนกี่ขวบ?

ลูกกินหวานมากไป เสี่ยงต่ออะไรบ้าง? ควรเริ่มกินได้ตอนกี่ขวบ?

ขึ้นชื่อว่า “ขนม” หรือ “ของหวาน” สำหรับเด็กๆ แล้วมันเป็นของคู่กัน มันคือความสุขทุกครั้งที่เค้าได้กิน แต่…เราควรให้เค้ามาเจอคู่ของเค้ากี่ขวบดี? ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรควบคุมปริมาณในการกินขนมของลูกด้วยนะคะ ไม่อย่างนั้นจะส่งผลเสียต่อเด็กในอนาคตได้ รายละเอียดจะมีอะไรบ้าง ไปดูกันค่ะ

Youtube : ลูกกินหวานมากไป เสี่ยงต่ออะไรบ้าง? ควรเริ่มกินได้ตอนกี่ขวบ?

อะไรบ้างที่ควรเลี่ยง

กลุ่มขนม


อาทิ คุ้กกี้ เค้ก โดนัท เพรทเซล แครกเกอร์รสหวาน ขนมถุงกรอบๆ มันฝรั่งทอด ช็อคโกแลต ลูกอม ซูกัสเป็นต้น

เป็นที่รู้กันว่ากลุ่มนี้เป็นขนมที่อุดมไปด้วยแป้ง ไขมัน เกลือ และน้ำตาล โดยเฉพาะลูกๆ ที่จะขอคุณพ่อคุณแม่ทานในช่วงที่ใกล้เวลาทานข้าว จะทำให้เด็กไม่ทานข้าว เพราะไม่รู้สึกหิวแล้ว จึงทำให้ลูกไม่ได้ทานอาหารที่มีประโยชน์ แม้ว่าคุณแม่จะเตรียมอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วนแล้วก็ตาม เป็นเหตุให้เด็กกลายเป็น “เด็กกินยาก” ได้


นอกจากนี้ ยังส่งผลเสียต่อร่างกายของลูกในด้านอื่นๆ ด้วยค่ะ เช่น ฟันผุ และโรคอ้วน


ยังเคยมีงานวิจัยออกมาระบุว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เด็กซนมากผิดปกติ หรืออยู่ไม่สุข หรือที่เรียกว่า โรคไฮเปอร์สมาธิสั้น ก็มาจากการทานหวานเป็นประจำ

กลุ่มนม


นมเปรี้ยว นมรสช็อคโกแลตไมโลโอวัลติน นมรสหวาน เช่น นมน้ำผึ้ง นมพีเดียชัวร์เป็นต้น


นม…ถึงแม้ดูว่าจะมีประโยชน์ แต่หากให้ลูกทานนมที่มรสหวานบ่อยๆ หรือทานเป็นประจำก็ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กติดหวานได้ เพราะนมที่มีความหวานมากๆ นั้น นั่นเป็นเพราะมีปริมาณน้ำตาลในระดับที่สูงมากพอๆ กับน้ำอัดลมหรือน้ำหวานเลยทีเดียวค่ะ ถึงแม้ว่านมวัวจะมีแคลเซียม มีสารอาหารที่ร่างกายต้องการ แต่ทางที่ดีและเพื่อสุขภาพของลูกที่แข็งแรงควรฝึกให้ลูกทานนมรสจืดไว้จะดีกว่า


ดอกจันตัวโตๆ เลยค่ะ ว่า “น้ำตาลทราย” และ “คอร์นไซรัป” ไม่ดีต่อสุขภาพ เป็นสาเหตุของโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไขมันสะสมในตับ และเส้นเลือดแข็งตีบอุดตัน

เมื่อเราทานนมที่มีรสหวานบ่อย จะทำให้เราเสพติดโดยไม่รู้ตัว และจะหงุดหงิดเวลาที่ไม่ได้ทาน ดังนั้นในช่วงแรกๆ ที่งด อาจมีอาการหงุดหงิดง่าย กระวนกระวาย แต่ก็จะดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์

กลุ่มเครื่องดื่ม


โกโก้ ชา กาแฟ และน้ำอัดลม

กลุ่มนี้มีคาเฟอีน ดังนั้น ไม่ควรให้ลูกทานนะคะ เพราะจะส่งผลเสียต่อสมองและหัวใจของเด็กค่ะ

กลุ่มผลไม้


ผลไม้…ฟังดูน่าจะมีประโยชน์ ไม่มีโทษกับเด็กๆ ถูกค่ะ แต่ไม่ถูกทั้งหมด เพราะยังมีผลไม้บางชนิดที่มีปริมาณน้ำตาลมาก ซึ่งไม่ควรให้เด็กทาน เช่น ขนุน ทุเรียน ลำไย หรือลองกอง เป็นต้น

นอกจากนี้กรมอนามัยระบุว่าพฤติกรรมของเด็กที่มักบริโภคน้ำตาลมักอยู่ในช่วงวัยเรียนโดยมีผลการสำรวจพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านการบริโภคอาหารในเด็กวัยเรียน ปี 2560 พบว่า

• เด็กอายุ 10 ปี 33%
• เด็กอายุ 14 ปี 47.1 %

มีพฤติกรรมที่ชอบทานขนมหวาน น้ำหวาน และน้ำอัดลม หลังเวลา 18:00 น. 1-3 วัน/สัปดาห์ ซึ่งหากเด็กๆ ยังไม่เลิกพฤติกรรมเช่นนี้ และยังทำเช่นนี้ไปจนโต อาจส่งผลทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อที่เรื้อรังได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และโรคอ้วน

ให้ทานหวานตอนกี่ขวบดี?

เด็กคือผ้าขาว เค้าจะเป็นอย่างไร ก็อยู่ที่ผู้ใหญ่จะแต่งแต้ม” คำกล่าวนี้ถูกต้องเลย การฝึกหรือการจะปลูกฝังลักษณะนิสัย รวมไปถึงพฤติกรรมต่างๆ สามารถทำได้ตั้งแต่เล็กๆ โดยการทำอาหารที่ไม่ปรุงอะไรเลยในช่วง 2 ปีแรกมีเพียงเกลือไอโอดีนเล็กน้อย เพื่อให้ลูกได้รับสารไอโอดีนบ้างเท่าที่จำเป็น และไม่ให้ลูกกินขนมก่อนวัย 2 ขวบ
หรือหากคุณพ่อคุณแม่ต้องการกินขน ควรหลบๆ เพื่อไม่ให้ลูกเห็น หรือถ้าหากหลบไม่ได้ หรือหลบไม่ทัน (เพราะเด็กๆ จะตาไวมากเรื่องขนม 555)ก็ให้อธิบายกับลูกไปตรงถึงเหตุผลค่ะ ว่าทำไมยังทานไม่ได้ จะมีผลต่อสุขภาพอย่างไร

หากบ้านไหนที่เป็นอยู่ตอนนี้ ยังสามารถแก้ไขได้ค่ะ โดยการอธิบายถึงผลเสียที่จะมีต่อสุขภาพ และคุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง ไม่ซื้อขนมติดบ้าน หากเหงาปาก อยากขนมให้เปลี่ยนเป็นผลไม้สดแทนแต่ก็ยังไม่แนะนำให้หักดิบซะทีเดียวนะคะ ให้ลูกได้ทานบ้าง แต่ในปริมาณที่น้อย ซึ่งอาจจะต้องทำข้อตกลงกันก่อนทาน เช่น หากลูกอยากทานช็อคโกแลต ก็อาจตกลงกับลูกว่า ให้ทานได้อาทิตย์ละครั้ง เป็นต้น เอาที่ไม่ตึงไม่หย่อนเกินไปดีที่สุดค่ะ