สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ การเลี้ยงลูกเรียกได้ว่าเป็นอะไรที่ท้าทายมาก มันไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินไป หากคุณพ่อคุณแม่จะทำความเข้าใจเค้า เพราะในแต่ละช่วงวัยก็จะมีพฤติกรรมที่ต่างกัน ซึ่งวันนี้โน้ตจะพูดถึง “การเลี้ยงลูกวัย 2 ขวบ” บางคนอาจเรียก Terrible Twos หรืออาจจะเป็น “วัยทอง 2 ขวบ” ก็แล้วแต่ แต่ความหมายโดยรวมของวัยทอง 2 ขวบก็คือ การที่เด็กมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปมากจากที่เคยเรียบร้อย เชื่อฟัง กลับกลายเป็นเด็กรั้น เอาแต่ใจไปซะอย่างนั้น
สำหรับเรื่องนี้มีที่มาที่ไปและมีวิธีที่คุณพ่อคุณแม่จะนำไปปรับใช้เพื่อรับมือกันอีกด้วยค่ะ
Youtube : ลูก 2 ขวบเอาแต่ใจ ใช่ “วัยทอง” หรือเปล่า?
สารบัญ
พฤติกรรมของวัยทอง 2 ขวบ (Terrible Twos)
สำหรับพฤติกรรมของเด็กวัยนี้ที่บอกว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปนั้น หลักมาจาก 2 ปัจจัยด้วยกันค่ะ คือ พัฒนาการของเด็กวัย 2 – 5 ขวบ ด้วยพื้นฐานแล้วเด็กวัยนี้เค้าก็จะเริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น อยากคิดเอง อยากทำอะไรด้วยตัวเอง และอีกสาเหตุนึงก็คือ เพราะเด็กต้องเจอการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นทางกาย เช่น การยืดตัว การที่ยังเดินไม่ได้ดังใจ และการที่เด็กต้องเจอกับสังคมใหม่ๆ สิ่งใหม่ๆ หลายอย่าง ทำให้ปรับตัวทันบ้าง ไม่ทันบ้าง ทำให้เด็กแสดงออกดังนี้
มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น อยากทำโน่น นี่ นั่นเอง
ไม่ชอบให้ใครมาบังคับ ถ้าบอกให้เค้าทำอะไรแล้วไม่ทำ ข้อนี้นี่เองค่ะที่เรียกว่า “เด็กดื้อ”
แสดงอาการต่อต้านหรือขัดขืน เมื่อถูกออกคำสั่งหรือได้รับการปฏิเสธ
รู้จักการต่อรอง และหวังว่าจะได้ยินคำว่า “Say yes” อย่างเดียว
โวยวายหรือร้องกรี๊ด เมื่อไม่ได้ดังใจ บางคนรุนแรงจนถึงขึ้นทำร้ายตัวเอง ตีหรือขัดแขนพ่อแม่
ระบายอารมณ์ด้วยการขว้างปาสิ่งของ
หวงของเล่นมาก แม้ตัวเองไม่เล่นแต่ก็ไม่ให้คนอื่นเล่น
สาเหตุของพฤติกรรมวัยทอง 2 ขวบ
ไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชาย สมองที่ทำหน้าที่ในการควบคุมอารมณ์และความรู้สึกของเด็กที่มีอายุในช่วง 2-4 ขวบนั้น จะเติบโตได้เร็วกว่า สมองส่วนที่ควบคุมในเรื่องของเหตุผล
วิธีรับมือที่พ่อแม่ควรรู้
ทำความเข้าใจกับเด็กวัยนี้
เพื่อการแก้ปัญหาได้ถูกจุด คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมของเด็กวัยนี้ก่อน เพราะเมื่อเราเข้าใจแล้วเราจะได้ใช้เหตุผลกับเค้าได้ถูกเรื่อง การปรับพฤติกรรมก็จะง่ายขึ้นค่ะ
คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นๆ ค่ะ
เวลาที่เค้างอแงหรือเอาแต่ใจ เราต้องไม่เดินหนีเค้านะคะ ไม่อย่างนั้นจะยิ่งไปกันใหญ่ พยายามอดทนและใจเย็นเข้าไว้ ระหว่างนั้นอาจจะคิดอย่างนี้ก็ได้ค่ะว่า “เรารักลูก อยากให้ลูกเป็นเด็กดี เราต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ สอนเค้า” แบบนี้ก็จะช่วยให้เราไม่ต้องไปโฟกัสที่เสียงร้องของลูกมากนัก ป้องกันไม่ให้คุณแม่ตบะแตกซะก่อน
เบี่ยงเบนความสนใจ
ระหว่างที่ลูกร้องงอแง เอาแต่ใจนั้น คุณแม่อาจต้องคิดแผนเผื่อเพื่อเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น เอาตุ๊กตาตัวโปรดมาพากย์เป็นเสียงการ์ตูน เป็นต้น
ยื่นข้อเสนอ
มีข้อเสนอให้ลูกเพื่อให้เค้าได้คิดเอง ตัดสินใจเอง และจะทำให้เค้ารู้สึกว่าเค้ายังมีอำนาจตัดสินใจอยู่บ้าง เช่น หนูจะร้องจนอ้วกแล้วไม่ได้กินขนม หรือจะหยุดร้องแล้วไปเลือกขนมกันดีคะ เพราะร้องไห้ไปกินขนมไปไม่ได้ค่ะ ทำได้อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นนะ
ใช้อารมณ์ขันเป็นตัวช่วย
หากเราต้องการจะสอนหรือฝึกให้ลูกทำอะไรซักอย่างอาจใช้วิธีนี้ก็ได้ค่ะ เช่น อยากให้ลูกได้ทานส้ม ระหว่างที่ลูกยังกล้าๆ กลัวๆ อยู่นั้น เราอาจหาตัวการ์ตูนนิ้วมาเล่นกับเค้าแล้วพากย์ก็ได้ค่ะ
สร้างตารางเวลาให้ลูก
สร้างกิจกรรมประวันที่ชัดเจนให้ลูก แล้วทำเป็นประจำ ลูกจะรู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร
ห้ามดุหรือตีลูก
เพราะสิ่งที่ลูกจะมีแต่ความรุนแรง แถมเค้าไม่เข้าใจอีกว่าทำไมตีเค้า
หากิจกรรมที่ลูกได้ปล่อยพลัง
เมื่อลูกได้ปล่อยพลัง เค้าจะรู้สึกผ่อนคลาย เป็นการช่วยปรับอารมณ์ได้อีกอย่างนึงค่ะ เมื่อลูกได้ยิ้มได้หัวเราะ ก็จะทำให้ลูกได้เรียนรู้ในเรื่องของอารมณ์อีกด้วย
ข้อดีของการเป็นวัยทอง 2 ขวบ
- ทำให้พ่อแม่รู้ได้ชัดเจนว่าลูกต้องการอะไร
- ลูกจะมีการตั้งคำถาม สมมติฐาน และวิธีการหาคำตอบด้วยตัวเอง
- รู้จักการวางแผน ว่าควรทำอะไรก่อน-หลัง
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยทอง 2 ขวบไม่ต้องกังวลใจนะคะ เพราะอาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายเองได้เมื่อเค้าโตขึ้น เพียงแต่สิ่งที่ลูกต้องการโดยเฉพาะในช่วงนี้คือ ความรักและความเข้าใจจากคุณพ่อคุณแม่นั่นเองค่ะ