Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

W-Shape Sitting ลูกนั่งสบาย แต่อันตรายกว่าที่คิด

W-Shape Sitting ลูกนั่งสบาย แต่อันตรายกว่าที่คิด

ขณะที่คุณพ่อคุณแม่แล่นกับลูกเพลิน ๆ อยู่นั้น เคยสังเกตไหมค่ะว่าท่าไหนที่ลูกชอบนั่งเวลาที่อยู่กับพื้น ท่าบางท่าอาจเป็นท่าที่สบายสำหรับลูกก็จริงแต่ในระยะยาวแล้วจะส่งผลเสียกับสุขภาพร่างกายได้มากทีเดียว และแน่นอนค่ะ ท่าที่ว่านั้นก็คือ ท่า W-Shape Sitting นั่นเอง มาค่ะ วันนี้โน้ตจะชวนคุณพ่อคุณแม่ไปทำความรู้จักเจ้าท่านี้และผลเสียของท่านี้ให้มากขึ้น ไปติดตามกันค่ะ

ลักษณะท่านั่ง W-Shape Sitting

ท่านั่งของ W-Shape Sitting คือ ลักษณะที่ก้นของเด็กติดอยู่กับพื้น แต่ขาทั้ง 2 ข้างพับออกไปด้านข้าง และงอไปที่ด้านหลัง เมื่อมองจากด้านบนจะคล้ายกับตัวอักษร W ในภาษาอังกฤษ ท่านี้เป็นท่าที่เด็กหลายคนชอบนั่ง เพราะนั่งสบาย มีฐานที่กว้างและมั่นคง ไม่ล้มง่าย ๆ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตให้ดี ลูกจะไม่สามารถเอื้อมมือไปหยิบสิ่งของที่อยู่ไกล ๆ ได้ เพราะท่านั่งที่ไม่เอื้ออำนวย

ผลกระทบจากการนั่งท่า W-Shape Sitting

หากเด็กนั่งท่านี้เป็นเวลานาน ๆ อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงได้ ดังนี้ค่ะ

  • แรงบิดต่อสะโพกและข้อเข่าที่ผิดปกติ ส่งผลต่อแนวกระดูกขาของเด็ก ซึ่งจะมีอาการต่าง ๆ ตามมา อาทิ ปวดสะโพก หรือปวดเข่า เป็นต้น
  • เด็กเสียการทรงตัวในขณะยืน เนื่องจากข้อสะโพกหมุนเข้าด้านใน ทำให้เข่าทั้งสองข้างหมุนเข้าหากัน เท้าล้ม นิ้วแบนเข้าด้านใน ทำให้เด็กทรงตัวไม่ได้นั่นเอง
  • หากเด็กนั่งท่านี้เป็นระยะหลายเดือน จะส่งผลให้กล้ามเนื้อหุบสะโพก กล้ามเนื้อหุบสะโพกหมุนเข้าด้านในหดสั้น ทำให้ปลายเท้าบิดหมุนเข้าด้านในในขณะเดิน ซึ่งเป็นเหตุให้สะโพกอาจหลุดออกจากเบ้าสะโพกได้
  • เด็กจะไม่สามารถเอี้ยวตัวหรือหมุนตัวไปหยิบสิ่งของต่าง ๆ ได้ ซึ่งความจริงเด็กควรที่จะนั่งและเอื้อมหยิบสิ่งของต่าง ๆ ได้ เพื่อเป็นการสร้างสมดุลให้กับร่างกาย (Balance Reaction)
  • ส่งผลต่อกระดูกสันหลังที่ผิดรูป เพราะน้ำหนักจะไปอยู่ที่ต้นขาหมด
  • ท่านี้เป็นท่าที่ทำให้กล้ามเนื้อหลังไม่ได้ออกแรงเพื่อการทรงตัว ซึ่งสิ่งนี้เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับเด็กในเรื่องของพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวขั้นสูงต่อไป อาทิ การยืนทรงตัวเวลาที่โดนผลัก ยืนทรงตัวบนพื้นที่ต่างระดับ หรือแม้กระทั่งเวลาที่เด็กต้องนั่งไปด้วย และต้องเขียนหนังสือไปด้วย (หรือใช้มือทำงานไปด้วย) เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยการทรงตัวของกล้ามเนื้อหลังทั้งสิ้น ซึ่งถ้าหากกล้ามเนื้อหลังของลูกไม่แข็งแรง จะส่งผลให้มีพัฒนาการในด้านอื่น ๆ ช้ากว่าเด็กคนอื่น

วิธีแก้ไขท่านั่งให้ลูก

เรื่องนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตกันบ่อยหน่อยนะคะ เพราะความที่เป็นท่านั่งที่สบาย เด็ก ๆ จึงมักเผลอที่จะนั่งท่า W-Shape Sitting กันบ่อย ๆ ถ้าหากพบว่าลูกเผลอนั่งอีกให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยลูกแก้ไขด้วยวิธีดังต่อไปนี้ค่ะ

  • หาที่ยึดเกาะให้ลูก : ด้วยการวางหมอนล้อมรอบหรือจะหาเก้าอี้เสริมสำหรับเด็ก แบบมีที่กั้น เพื่อให้ลูกได้มีที่ยึดเกาะ แบบนี้ลูกก็จะสามารถพยุงตัวได้เวลานั่งค่ะ
  • ใช้หมอนรองที่นุ่มสบาย : เพราะเมื่อเด็กเข้าสู่วัย 6 เดือน ส่วนใหญ่ก็จะสามารถนั่งเองได้แล้ว ถ้าเป็นเช่นนี้ให้คุณพ่อคุณแม่หาหมอนรองที่นุ่มสบายขนาดที่เหมาะสม มารองตั้งแต่ต้นคอ หลัง ไปจนถึงโคนขาของลูก เพื่อให้ลูกได้เอนหลัง นั่งพิงสบาย และที่สำคัญ ยังเป็นการประคองตัวลูกให้นั่งได้อย่างถูกต้องอีกด้วยค่ะ
  • บริหารหน้าท้อง : หน้าท้องของลูกนะคะ ไม่ใช่ของคุณพ่อคุณแม่นะ แบบนั้นจะไม่ได้ช่วยอะไรลูกค่ะ^^ การบริหารหน้าท้องเป็นสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งเช่นกัน จำเป็นมากสำหรับพัฒนาการด้านการนั่งและการพยุงตัว ทำได้โดยให้คุณพ่อคุณแม่อุ้มลูกขึ้น-ลง หรืออุ้มเหาะเหมือนเครื่องบิน การเล่นในลักษณะนี้จะช่วยให้ลูกได้บริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องได้ เป็นการเตรียมความพร้อม เสริมความแข็งแกร่งให้ลูกน้อยในวัยหัดนั่งค่ะ

เป็นอย่างไรกันบ้าง ผลเสียจากการนั่งท่า W-Shape Sitting รุนแรงกว่าที่คิดใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตกันซักหน่อย พร้อมกับช่วยลูกแก้ไขท่านั่งให้ถูกต้อง เพื่อพื้นฐานของพัฒนาการที่ดีของลูกน้อยนะคะ

อ้างอิง
คุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
Pt.mahidol.ac.th
Mindbrainchildactivity.com