Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

รถหัดเดินช่วยได้จริงหรือ?

เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวคราวเกี่ยวกับเด็กอายุเพียง 8 เดือนที่นั่งอยู่ในรถหัดเดินซึ่งรถหัดเดินไหลไปชนกับรั้วบ้าน แต่รั้วบ้านแต่รั้วบ้านไม่ได้ล็อคแล้วรถก็ไหลลงมาที่ถนน พอดีกับที่มีรถบรรทุกขับมาพอดี คนขับหักหลบแล้วแต่ไม่พ้น เนื่องจากเป็นซอยแคบ ทำให้ทับเด็กเสียชีวิตคุณแม่คว้าเอาไว้ไม่ทัน เหตุเพราะ…กำลังเล่นไลน์อยู่

แต่วันนี้โน้ตจะมาพูดในเรื่องของ “รถหัดเดิน” ค่ะ ซึ่งก็มีประเด็นกันมาเรื่อยๆ และเป็นพักๆ กับคำถามที่ว่า “รถหัดเดินช่วยให้เดินได้เร็วขึ้น…จริงหรือ?” พร้อมกันนี้ยังมีข้อมูลการช่วยลูกหัดเดินทิ้งท้ายไว้ให้อีกด้วยนะคะ เราไปไล่เรียงกันเลยดีกว่าค่ะ

สถิติงานวิจัยต่างประเทศ

จากเพจเฟสบุ๊กเลี้ยงลูกนอกบ้าน ของพญ. จิราภรณ์อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ได้ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 1990-2014 มีเด็กอเมริกันกว่า 230,000 ราย ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และมีบางส่วนที่เสียชีวิตเนื่องจากการใช้รถหัดเดิน

ในขณะที่ประเทศแคนาดา ได้ออกกฎหมายยกเลิกการผลิตและห้ามโฆษณารถหัดเดินแล้ว

ความจริงเกี่ยวกับรถหัดเดิน

ด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับรถหัดเดินที่มีมานาน ว่าจะสามารถช่วยให้ลูกเดินได้เร็ว แต่ความจริงแล้วผลที่ได้กลับตรงกันข้ามเลยค่ะ เพราะ “เด็กจะเดินอย่างผิดวิธี” คือ

ไม่ลงน้ำหนักเต็มเท้า

เพราะด้วยความเร็วของรถเวลาที่ลูกนั่งอยู่ในรถเค้าจะใช้เพียงปลายเท้าเท่านั้นที่แตะพื้น เท่านี้รถก็วิ่งแล้ว และทำให้ลูกไม่ได้เรียนรู้วิธีการรักษาสมดุลของร่างกาย เวลาที่ลูกต้องการให้รถเคลื่อนที่ ลูกจะพุ่งหัวไปก่อน ซึ่งถ้าเมื่อเวลาเดินจริง หากหัวพุ่งไปก่อน จะทำให้ลูกทรงตัวไม่ได้

ติดการเขย่งด้วยปลายเท้าแม้ไม่ได้อยู่ในรถ

ทำให้ลูกหัดเดินได้ช้ากว่าปกติข้อนี้ยืนยันได้ด้วยตัวเอง เพราะเมื่อก่อนก็ให้ลูกใช้เหมือนกันค่ะ แต่แค่ช่วงเวลาสั้นๆ เพราะเราสังเกตเห็นแล้วว่าเค้าชอบเดินเขย่งปลายเท้า ก็เลิกใช้เลย (ปล. ให้ลูกเดินเฉพาะในบ้านนะคะ ไม่เคยเอาไปใช้ข้างนอก)

อันตรายที่อาจเกิดจากรถหัดเดิน

ยกตัวอย่างอันตรายอันเกิดจากรถหัดเดิน สามารถเป็นไปได้ในหลายเหตุการณ์เลยค่ะ อาทิ หากลูกต้องการสิ่งของซักอย่างหนึ่งที่อยู่สูง แล้วเค้าต้องลุกขึ้นเพื่อเอื้อมไปหยิบ อาจทำให้รถพลิกคว่ำได้ หรือลูกชอบใจไถรถไปเร็ว แต่ไปเจอพื้นต่างระดับหรือสะดุด ก็อาจทำให้พลิกคว่ำได้เช่นกัน

หากหนักหน่อย ก็อาจจะเป็นอย่างเหตุการณ์ข้างต้นที่ได้กล่าวมา ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว “มีผู้ใหญ่อยู่…แต่คว้าไว้ไม่ทัน

ทางออกหากจำเป็นต้องใช้

สำหรับครอบครัวไหนที่ยังไม่ได้ซื้อ แนะนำว่าอย่าซื้อเลยค่ะ ยกเว้นซะแต่ว่าต้องการให้คุณแม่ได้พักการอุ้มหรือบางครอบครัวที่มีอยู่แล้ว หากจำเป็นต้องใช้จริงๆ ลองปรับการใช้มาเป็นแบบนี้ดูไหมค่ะ…

  1. ถอดล้อออก
    แล้วใช้เป็นเฉพาะที่นั่งพักแทน พักของลูก พัก (การอุ้ม) ของคุณแม่ด้วย บางครอบครัวมีคุณแม่คนเดียวที่ต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก จะให้อุ้มกันตลอดก็คงไม่ไหว
  2. จัด Playpen หรือ คอกกั้น ให้ลูกได้มีพื้นที่กว้าง และเคลื่อนไหวด้วยตัวเองได้อย่างอิสระซึ่งดูน่าจะปลอดภัยกว่า แต่ทั้งนี้ ก็ต้องจัดสถานที่ให้ปลอดภัย ไม่ให้รก ไม่มีสิ่งกีดขวาง หรือทางต่างระดับ
  3. ทำที่กั้นบันได หรือที่กั้นทางต่างระดับ เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุค่ะ

การหัดเดินอย่างถูกต้อง

เด็กในวัย 9-15 เดือน จะเริ่มปล่อยมือและจะค่อยๆ ก้าวเดินอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่แล้วลูกจะเดินได้อย่างมั่นคงก็อายุประมาณ 1 ขวบ 4 เดือน หรือมากกว่านั้น

เด็กๆ จะค่อยๆ เรียนรู้วิธีที่จะประคองตัวเองยืน ก้าวขา และเดิน เด็กอาจจะเดินช้าไปบ้าง คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลนะคะ ให้เค้าฝึกไปเรื่อยๆ โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยให้ความช่วยเหลืออยู่ข้างๆ ก็พอค่ะ การฝึกให้ลูกเดินคุณพ่อคุณแม่ควรจะ…

  1. ไม่เร่งรัด ควรให้ลูกได้หัดเดินอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  2. ให้ลูกเดินเท้าเปล่าเพราะจะทำให้ลูกทรงตัวได้ง่ายกว่า และยังเป็นการบริหารกล้ามเนื้อเท้าและขา ที่สำคัญ การได้สัมผัสผิวที่แตกต่างจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ลูกอยากเดินมากขึ้น
  3. ของล่อใจ อาทิ ของเล่นชิ้นโปรด อาจถือของเล่นให้ห่างจากลูกซัก 2-3 ฟุต เพื่อช่วยกระตุ้นให้เค้าเดินมาหา

การฝึกให้ลูกเดินนั้น คุณพ่อคุณแม่มีส่วนสำคัญในการช่วยเค้าทั้งทางร่างกาย (ช่วยพยุง) และจิตใจ (ให้กำลังใจ) เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วค่ะ ที่สำคัญ ไม่ต้องไปเสียเงินซื้อรถหัดเดิน ก็เป็นการประหยัดได้อีกทางหนึ่งเลยนะคะ

อ้างอิง
เฟสบุ๊กคุณหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
เฟสบุ๊ก เลี้ยงลูกนอกบ้าน