คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่ายุคนี้เป็นยุคของ “โซเชียลมีเดีย (Social Media)” ทุกคนสามารถถ่ายรูป ถ่ายคลิปแล้วโพสต์ลงบนเฟสบุคอินสตาแกรม ทวิตเตอร์ยูทูปฯลฯ ได้เพียงมีมือถือและใช้เวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น แต่…สำหรับคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ เราควรระวังเรื่องนี้ให้มากเป็นพิเศษ
วันนี้ผู้เขียนชวนคุณแม่มาทำความเข้าใจและปรับพฤติกรรมลูกร้องกรี๊ด เอาแต่ใจกัน ไปดูกันทีละข้อเลยค่ะ
สารบัญ
ทำไมถึงไม่ควรโพสต์พฤติกรรมไม่ดีของลูกบนโลกโซเชียล
เพราะอะไร?…
ตัวเด็กเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เด็กร้องกรี๊ด เอาแต่ใจ จะเอาทุกอย่างที่อยากได้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรโพสต์พฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกบนโลกโซเชียลอาทิ ร้องกรี๊ดอย่างรุนแรง ลงไปนอนดิ้นอยู่บนพื้น เอามือดึงผมตัวเอง ผู้เขียนเคยได้ยินมาว่ามีเด็กบางคนถึงขั้นเอาหัวโขกพื้นก็มี เพราะ…สิ่งที่พ่อแม่โพสต์ไว้นั้น มันจะอยู่บนโลกโซเชียลไปอีกนาน อาจทำให้ผู้ไม่หวังดีนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ และที่สำคัญ เป็นการละเมิดสิทธิเด็กอีกด้วยค่ะ
เด็กคนอื่นๆ
หากพ่อแม่ของเด็กคนนั้นโพสต์ลงบนโลกโซเชียล โดยเฉพาะยูทูปและมีเด็กคนอื่นเปิดมาเจอ เค้าจะจำและทำตาม จากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง เด็กในวัย 1-3 ขวบ จะเป็นวัยที่ช่างจดช่างจำมาก เด็กๆ จำพฤติกรรมที่ไม่ดีเหล่านั้นและทำตามอย่างไม่ต้องสงสัย
ด้วยธรรมชาติของเด็กในวัย 1-3 ขวบ เป็นวัยที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง อยากที่จะเลือกนู่นเอง เลือกนี่เอง และเมื่อไม่ได้ดังใจก็จะกรี๊ด นอนดิ้นกับพื้น ร้องไห้ไม่ฟังอะไร เป็นต้นเบื้องต้นเราควรทำความเข้าใจลูกก่อนว่าเค้าต้องการอะไร แล้วค่อยเริ่มปรับพฤติกรรมกันค่ะ
ลูกกรี๊ด ลูกต้องการบอกอะไรคุณแม่
- อาจเพราะโมโห หงุดหงิด ไม่ได้ดั่งใจ ขัดใจ เพราะเด็กในวัยนี้ยังพูดไม่ชัด คำศัพท์ในหัวยังน้อย ไม่รู้ว่าจะสื่อสารอย่างไรให้คุณแม่เข้าใจ แต่ถ้าโตขึ้นเค้าก็จะอธิบายได้มากขึ้นเองค่ะ
- ลูกเกิดการเรียนรู้ว่าเมื่อกรี๊ดแล้ว คุณแม่จะหันมาให้ความสนใจ และจะได้สิ่งที่ต้องการทันที
- จำพฤติกรรมจากคนรอบข้าง แล้วเกิดการเลียนแบบ
- คนรอบข้างชอบแกล้งให้ลูกหงุดหงิดบ่อยๆ
วิธีการปรับพฤติกรรมลูกกรี๊ด เอาแต่ใจ
- ควรใส่ใจลูกด้วยการหันไปมองเวลาที่เค้าต้องการความสนใจจากเรา เพราะหากเราไม่ได้สนใจเค้าอย่างที่เค้าต้องการ ลูกอาจกรี๊ดได้ เพราะลูกเรียนรู้ว่าถ้ากรี๊ดแล้วคุณแม่จะหันไปมองเค้าทันทีที่สำคัญลูกจะเข้าใจว่าการกรี๊ดเป็นการเรียนร้องความสนใจได้ดี
- อย่าตามใจลูกมากเกินไป เพราะคุณแม่คงไม่สามารถให้ลูกได้ในทุกอย่างที่ลูกขอ ดังนั้นหากลูกไม่เคยถูกขัดใจเลย ก็จะทำให้เค้ากรี๊ดและทำร้ายตัวเอง เพื่อต้องการเอาชนะคุณแม่ได้ค่ะ
- สอนให้ลูกรู้จักการควบคุมอารมณ์ตัวเอง ให้ลูกรู้จักความผิดหวังและเสียใจบ้าง
- ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง เช่น สวมกางเกงเอง ใส่รองเท้าเอง เก็บของเล่น หรือเก็บของใช้ส่วนตัวได้เอง การฝึกสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะทำให้ลูกเรียนรู้และสามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า โดยไม่ต้องร้องขอให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยเหลือ ทำให้ลูกเก่งและดูโตมากกว่าเด็กคนอื่นๆ
- หากขณะที่ลูกกรี๊ด และยังไม่ยอมฟังใคร ให้คุณแม่ปล่อยเค้ากรี๊ดไปก่อน รอจนกว่าลูกจะสงบ แล้วค่อยเข้าไปคุยกับลูก บอกลูกว่า “แม่เข้าใจว่าหนูโกรธ” บางครั้งสิ่งที่ลูกอยากได้ คุณแม่ไม่สามารถให้ได้จริงๆ ก็อธิบายให้เค้าเข้าใจว่าเพราะอะไร และเมื่อไหร่ที่เค้าสมควรจะได้รับสิ่งนั้น
- อย่าสัญญา หากไม่สามารถทำตามที่สัญญาได้ เพราะเด็กจะผิดหวังและฝังใจไปจนโต
- การเบี่ยงเบนความสนใจ ผู้เขียนคิดว่าการเบี่ยงเบนความสนใจสามารถใช้ได้กับเค้าเพียงแค่ช่วงอายุเดียว หากลูกโตขึ้น…การที่พ่อแม่เข้าแก้ปัญหาที่ลูกร้องกรี๊ด อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงเหตุผลว่าทำไมถึงให้ในสิ่งที่ลูกขอไม่ได้ จะเป็นการดีกว่าที่จะเบี่ยงเบนความสนใจของเค้า เพราะอนาคตหากเค้าจำได้ว่าสิ่งนี้เคยขอไปแต่ไม่ได้ คราวนี้ก็จะกรี๊ดใหม่ เป็นแบบนี้ไม่จบ
อยากให้ลูกเติบโตเป็นเด็กแบบไหน ก็หว่านเมล็ดพันธุ์แบบนั้นให้ลูกนะคะ