Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

สอนลูกอย่างไรให้ยอมรับความแตกต่าง

สอนลูกอย่างไรให้ยอมรับความแตกต่าง

เมื่อลูกเราคืออีกหนึ่งชีวิตที่ต้องเติบโตขึ้นท่ามกลางผู้คนที่ทั้งมีดีและไม่ดีปะปนกัน แต่…ด้วยความที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราจึงไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้เพียงลำพัง ในขณะที่มนุษย์มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม ความเชื่อ ความศรัทธา และความคิด จากที่ผ่านมาคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คน อาจเคยเห็นการบูลลี่กันในสังคม ซึ่งโน้ตเชื่อว่าคงไม่มีคุณพ่อคุณแม่คนไหนอยากให้ลูกถูกบูลลี่ และไม่อยากให้ลูกตัวเองต้องไปบูลลี่ใคร แล้วคุณพ่อคุณแม่จะสอนลูกอย่างไรให้ยอมรับความแตกต่างที่มีอยู่ในสังคมได้อย่างเต็มใจ และมีความสุข วันนี้เราจะมาพูดคุยเรื่องนี้กันค่ะ

สอนลูกอย่างไรให้ยอมรับความแตกต่าง

การสอนลูกให้ยอมรับความแตกต่างในสังคม สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้ค่ะ

อ่านหนังสือนิทาน

การอ่านหนังสือนิทานเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ดีที่จะช่วยให้ลูกได้เห็นภาพและเข้าใจได้ในความแตกต่างของสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ โดยที่คุณ่พอคุณแม่อาจหาหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความแตกต่างมาอ่านให้ลูกฟัง อาทิ ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ทางวัฒนธรรม หรือแม้แต่ความแตกต่างด้านการแสดงออกทางเพศ ซึ่งเมื่อคุณพ่อคุณแม่ทำเป็นประจำ ลูกก็จะค่อย ๆ ซึมซับและทำความเข้าใจได้เองในเรื่องของความแตกต่างค่ะ

สอนให้ลูกเอาใจเขามาใส่ใจเรา

หรือจะพูดง่าย ๆ ก็คือ การสอนให้ลูกเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นนั่นเองค่ะ อาจเป็นการสอนที่สอดแทรกจากการดูข่าวด้วยกันก็ได้ค่ะ เช่น จากเหตุการณ์ในทีวีที่เราเห็นนี้ หากเป็นหนู หนูจะทำอย่างไรคะ รวมไปถึงการสอนให้ลูกเห็นคุณค่าของคนอื่น เช่น ถ้าเราเห็นเด็กนั่งกินข้าวอยู่คนเดียว เราก็สามารถเข้าไปนั่งด้วย เพื่อที่เขาจะได้ไม่เหงา เป็นต้น

ทลายกำแพงภาษาลง

ภาษา” นับเป็นประตูบานแรกที่จะทำให้เราได้รู้จักเรื่องราวต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลกและมีเพื่อนมากขึ้น ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกได้เรียนรู้ว่าในโลกนี้เรามีภาษาที่กำหนดใช้ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละทวีป อาจเริ่มสอนลูกง่าย ๆ ก่อนว่าเฉพาะในไทยเราก็มีสำเนียงและคำศัพท์ที่ใช้ในการสื่อสารที่ต่างกัน เป็นต้น หรือหากลูกมีเพื่อนที่เป็นต่างชาติ แม้ว่าลูกจะยังไม่สามารถพูดภาษาของเพื่อนคนนั้นได้ แต่เราก็ยังมีการสื่อสารในทางอื่น ๆ ได้อีก เช่น ภาษาท่าทาง หรือการวาดรูปสื่อความหมาย เป็นต้น

เป็นต้นแบบที่ดีให้ลูก

ลูกมักเลียนแบบพฤติกรรมและความคิดของพ่อแม่” คำนี้ถูกต้อง ถึงแม้ว่าเมื่อลูกโตเขาอาจมีความคิดบางส่วนที่เป็นของตัวเอง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วลูกจะมีความคิดและพฤติกรรมค่อนไปทางคุณพ่อคุณแม่มากกว่า

การเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูก เช่น เราจะไม่เรียกใครจากรูปลักษณ์ภายนอกที่เขาเป็น เช่น อ้วน เตี้ย ดำ ฯลฯ เหล่านี้เป็นการเรียกที่ไปทางลบ และไม่ควรขบขันหรือชี้ชวนให้ลูกดูคนเดินขากะเพลก รวมไปถึงการปลูกฝังค่านิยมผิด ๆ ให้กับลูก เช่น ผิวขาวน่ารักกว่าผิวดำ แต่ให้เน้นเรื่องของนิสัย และการเป็นคนดีมากกว่า

ให้ลูกทำกิจกรรมกับเด็กคนอื่น

คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างโอกาสให้ลูกได้ทำกิจกรรมหรือเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ เพราะลูกจะได้สัมผัสกับโลกแห่งความเป็นจริง และลูกก็จะได้เรียนรู้ในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมอื่น ๆ ที่นอกเหนืองจากครอบครัว ที่สำคัญเป็นการปลูกฝัง SQ (Social Quotient) หรือความฉลาดในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้เป็นอย่างดีทีเดียวค่ะ

พูดคุยในเรื่องความแตกต่าง

คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยเกี่ยวกับความแตกต่างให้ลูกฟัง ไม่ว่าจะเป็นด้านเพศ เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ และขนบธรรมเนียมประเพณี สอนให้ลูกได้เข้าใจและเปิดใจยอมรับกับเรื่องความแตกต่างเหล่านี้

ให้กำลังใจลูก หากถูกบูลลี่

ในกรณีที่ลูกถูกบูลลี่ คุณพ่อคุณแม่ควรอยู่ข้าง ๆ ลูก ให้กำลังใจลูก พร้อมกับอธิบายให้ลูกฟังว่า เพื่อนของหนู ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนหนูทุกเรื่อง ซึ่งเรื่องนี้ก็คือ หนึ่งในความแตกต่างด้านความคิดเช่นกัน หากเพื่อนยังมาบูลลี่ลูกให้แจ้งครูประจำชั้น และให้บอกคุณพ่อคุณแม่ด้วย ซึ่งถ้าหากแจ้งครูประจำชั้นแล้ว เพื่อนยังไม่หยุดบูลลี่ ให้คุณพ่อคุณแม่เข้าคุยกับครูประจำชั้นร่วมกับผู้ปกครองของเพื่อนคนนั้น เพื่อหาทางออกร่วมกันค่ะ

ทุกชีวิตบนโลกใบนี้ล้วนมีความแตกต่าง ไม่ว่าจะแตกต่างกันด้วยลักษณะภายนอกหรือภายใน (ความคิด ความเชื่อต่าง ๆ) แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับการใช้ชีวิตให้มีความสุขได้ในสังคม นั่นคือ “การยอมรับความแตกต่างให้ได้” โดยมีพื้นฐานมาจากการปลูกฝังของครอบครัวเป็นสำคัญค่ะ