Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกขี้กลัว เพราะอะไร พร้อมวิธีรับมือ

ลูกขี้กลัว เพราะอะไร พร้อมวิธีรับมือ

อาการขี้กลัว” สามารถเกิดได้กับเด็กทุกคน แต่ความกลัวที่นานไปก็ยังไม่หายซักที จนทำให้คุณพ่อคุณแม่เริ่มกังวลใจ และหนักใจ เด็กบางคนเป็นช่วงเดียวของวัย พอโตขึ้นก็หาย แต่สำหรับบางคนความกลัวนี้ยังคงฝังอยู่ในจิตใจไปจนโต เรื่องราวของการขี้กลัวนี้เป็นเรื่องปกติของเด็กมั้ย? โตขึ้นจะหายหรือเปล่า? หรือพ่อแม่จะช่วยลูกอย่างไรได้บ้าง? ผู้เขียนมีรายละเอียดมาฝากคะ

พัฒนาการพื้นฐานด้านอารมณ์เด็ก

  • พื้นฐานอารมณ์เด็กที่มีมาตั้งแต่เกิด เด็กกลุ่มนี้จะหวั่นไหว และอ่อนไหวง่ายมาก
  • ไม่พ่อก็แม่ คนใดคนนึง หรืออาจจะทั้งคู่ ที่มีอุปนิสัยขี้กลัว เด็กๆ จะเฝ้าดูพฤติกรรมของพ่อและแม่ จนซึมซับ ทำตามโดยไม่รู้ตัว
  • รักลูกไม่ถูกทาง เด็กถูกเลี้ยงแบบประคบประหงมมากเกินไป ถูกห้ามไกือบทกอย่าง พ่อแม่ไม่.ให้ลองสิ่งใหม่ ๆ หากเลี้ยงแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เด็กจะกลายเป็นเด็กขี้กลัว และไม่กล้าลองทำอะไรใหม่ๆ บางรายหากเป็นหนักๆ อาจถึงขั้นเป็นโรควิตกจริตได้เลยทีเดียว
  • เด็กเคยเจอกกับ “เหตุการณ์รุนแรง” หรือ “วิกฤติ” ที่ยากจะลืมในชีวิต เช่น พ่อแม่แยกทางบ้านแตกสาแหรกขาด เด็กขาดความอบอุ่นไม่รู้จะหันหน้าไปหาใครดี เคยได้รับอุบัติเหตุแล้วต้องนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน

อาการขี้กลัวของเด็กแต่ละช่วงวัย

วัยทารก

เป็นวัยที่ต้องการเวลาในการปรับตัวโดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก วัยนี้เป็นวัยที่มักจะกลัวสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่ผิดแผกไปจากเดิม อาทิ สถานที่ที่มีเสียงดัง หน้าตาของคนที่ไม่คุ้นเคย

วัย 1 – 3 ปี

วัยนี้จะเริ่มรู้เรื่องต่าง ๆ มากขึ้น เริ่มกลัวความมืด กลัวการอยู่คนเดียว ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียวในห้องมืด ๆ นอกจากนี้ลูกน้อยในวัยนี้บางรายก็จะกลัวการเริ่มหรือการทำกิจกรรมอะไรใหม่ เช่น การขี่จักรยาน หรือการหัดว่ายน้ำครั้งแรก ดังนั้น ประสบการณ์ในครั้งแรกของลูกจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากลูกได้รับประสบการณ์ที่ดีตั้งแต่ครั้งแรก อย่างน้อยลูกน้อยก็จะเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วยความสนุก

วัย 3 – 5 ปี

เป็นวัยที่ลูกเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง อยากรู้ อยากลองทำอะไรด้วยตัวเอง เป็นวัยที่มีจินตนาการสูง ส่วนใหญ่สิ่งที่ลูกกลัวมักจะเป็นสิ่งที่เขาคิดว่ามีอยู่จริงบนโลกใบนี้ อาทิ ผี ปิศาจ แม่มด รวมถึงพวกสัตว์ประหลาดทั้งหลาย

วัย 6 – 12 ปี

วัยนี้เริ่มกลัวในสิ่งที่เป็นความจริงในชีวิตประจำวันหรือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเขา เช่น กลัวสัตว์เลี้ยงแสนรักตาย กลัวคุณแม่ไม่รัก กลัวไม่ได้กินขนม หรือแม้แต่กลัวถูกคุณพ่อตี

สาเหตุที่ทำให้ลูกขี้กลัว

การขู่ หรือการหลอก

เรื่องนี้นับเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่หลายครอบครัวมักใช้ขู่ลูกเพื่อให้ลูกหยุดพฤติกรรมอะไรบางอย่าง โดยที่ไม่อธิบายหรือพูดคุยกับลูกบนเหตุผลที่แท้จริงว่าเพราะอะไรถึงอยากให้หยุดทำพฤติกรรมดังกล่าว เมื่อลูกถูกขู่บ่อย ๆ เขาจะนำเรื่องนั้น ๆ ไปจินตนาการต่อซึ่งจุดนี้เองที่คุณพ่อคุณแม่เคยรู้มาก่อน จนเกิดเป็นเรื่องทีฝังใจเด็กไปจนโต

คนใกล้ชิดลูกเป็นคนขี้กลัว

คนใกล้ตัวหรือผู้ที่เลี้ยงดูเด็กเป็นคนแบบไหน มีนิสัยอย่างไร แน่นอนเด็กต้องซึมซับเอาสิ่งนั้นมาด้วย เช่น พี่เลี้ยงกลัวจิ้งจก ลูกก็จะกลัวจิ้งจกไปด้วย เป็นต้น

ลูกเคยได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีมาก่อน

อาจมีบางเหตุการณ์ที่ลูกเคยเจอแล้วทำให้ลูกตกใจกลัวเป็นอย่างมาก เช่น เคยประสบอุบัติเหตุมาก่อน เวลาไปไหนมาไหนจึงเกิดความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัย จึงต้องคอยระวังตัวตลอด เพราะกลัวว่าเหตุการณ์เดิมจะซ้ำรอยอีก

ขาดความรัก และความเข้าใจ

เพราะความรักเป็นบ่อเกิดของความเข้าใจ หากลูกขาดในเรื่องเหล่านี้จะทำให้ลูกเติบโตมาเป็นเด็กที่มักจะเรียกร้องความสนใจ โหยหาความรักจากคนนอกบ้าน และกลายเป็นคนที่ไม่เห็นคุณค่าของตัวเองในที่สุด

ลูกขี้กลัว พ่อแม่รับมืออย่างไร

จากที่ได้กล่าวมา วัยเตาะแตะจะกลัวสิ่งต่างๆ ค่อนข้างเยอะ เกือบทุกสิ่งเลยก็ว่าได้ นั่นเป็นเพราะเค้า “ไม่รู้” ว่าสิ่งๆ นั้นมันเกิดจากอะไร? ดังนั้น เพื่อให้ลูกคลายความกลัวลง คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยลูกด้วยวิธีดังต่อไปนี้ค่ะ

ยอมรับและเข้าใจความกลัวของลูก

หากลูกมีความกลัวเกิดขึ้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรยอมรับในสิ่งที่เค้ากลัว อย่าหงุดหงิด โมโห หรือรำคาญ เหมือนว่าไม่เห็นมีอะไรที่น่ากลัวเลย

กอดลูก

คุณพ่อคุณแม่จะอุ้มหรือกอดลูกไว้ก็ได้ แล้วค่อยๆ เดินไปหาสิ่งนั้นที่ลูกกลัวอย่างช้าๆ ถ้าลูกไม่ยอมจริงๆ ก็ไม่ต้องไปบังคับเค้านะคะ ให้เดินออกมาจากตรงนั้น

อธิบายเรื่องจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น

ขณะที่เกิดเหตุการณ์ที่ลูกกำลังกลัว ให้อธิบายถึงให้ลูกฟังในสิ่งที่เกิดขึ้น “อย่าโกหก” ลูกเด็ดขาด อย่าพูดเพียงเพื่อต้องการเบี่ยงเบนความสนใจ เพราะเด็กจะได้รับข้อมูลที่ผิด

เวลาฉีดวัคซีน อย่าโกหกลูกว่าไม่เจ็บ

เวลาที่ลูกถึงเวลาที่จะต้องไปฉีดวัคซีน อย่าโกหกลูกว่า “ไม่เจ็บ” ยังไงเข็มฉีดเข้าเนื้อมันต้องต้องเจ็บอยู่แล้ว เพียงแต่บอกในความเป็นจริงและถูกต้องว่า “เจ็บแป้บเดียวก็หาย” ลูกจะรับรู้และเข้าใจในเรื่องของความจริง เค้าจะทำใจและรับมือกับมันได้ดี

อ่านนิทานที่ช่วยต่อสู้กับความกลัว

คุณพ่อคุณแม่ลองหานิทานที่ต่อสู้กับความกลัวในสิ่งต่างๆ มาอ่านให้ลูกฟังเรื่อย ๆ จะช่วยได้มากทีเดียว

เลี่ยงการใช้สิ่งของที่ลูกกลัวซักพัก

สิ่งของชิ้นไหนที่ลูกกลัว และไม่ได้จะเป็นในชีวิตประจำวัน ให้คุณพ่อคุณแม่เลี่ยงการใช้ไปซักพัก แล้วค่อย ๆ เอาออกมาให้ลูกได้เห็น ค่อย ๆ ให้เค้าได้สัมผัส เพิ่มความคุ้นเคยทีละนิดๆ ก็ช่วยได้ค่ะ

ไม่หัวเราะเยาะลูก

ลองคิดใจเขาใจเรา ถ้าเรากลัวแล้วคุณพ่อคุณแม่หัวเราะเยาะลูก สิ่งนี้นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่มีความกังวล และขาดความมั่นใจในตัวเองได้

ไม่ดุลูก ขณะที่เขาแสดงความกลัว

เช่น “อย่ากลัวอะไรไร้สาระไปหน่อยเลย” หรือ “นี่ดูพี่ ๆ เขาซิ ไม่เห็นจะกลัวเลย” เหล่านี้จะทำให้ลูกรู้สึกว่าแม้เขาจะอยู่ใกล้คุณพ่อคุณแม่แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าปลอดภัย ที่สำคัญ เขาจะไม่กล้าเล่าเรื่องอะไรให้คุณพ่อคุณแม่ฟังอีก เพราะกลัวถูกดุ

เป็นต้นแบบที่ดีให้ลูก

แม้บางครั้งคุณพ่อคุณแม่จะมีบางสิ่งบางอย่างที่กลัวอยู่บ้าง แต่ก็เพื่อให้ลูกได้เห็นต้นแบบที่ดี ลูก ๆ ก็จะเลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

สิ่งที่สำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำเลยก็คือ การที่รู้ว่าลูกกลัวอะไรแล้วยิ่งขู่ เช่น ถ้าดื้อมากๆ เดี๋ยวให้หมอมาฉีดยาเลย เป็นต้น นอกจากจะไม่ช่วยให้เด็กหายกลัวแล้ว กลับกลายเป็นยิ่งกลัวฝังใจไปเลย คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจและให้เวลากับเค้าในการช่วยให้ลูกคลายความกลัว ซักวันเค้าจะดีขึ้นและความกลัวเหล่านี้จะหายไปค่ะ