Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ทำไมลูกชอบเถียง? ชวนพ่อแม่ทำความเข้าใจก่อนปรับพฤติกรรม

ทำไมลูกชอบเถียง? ชวนพ่อแม่ทำความเข้าใจก่อนปรับพฤติกรรม

ทุกคนเคยผ่านการเป็นเด็ก ทุกคนเคยผ่านการที่ถูกมองว่า “เถียง” มาก่อน แต่มาวันนี้ วันที่เราเป็นคุณพ่อคุณแม่แล้ว โน้ตก็อยากจะชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจพฤติกรรมของ “ลูกชอบเถียง” กันสักหน่อย เมื่อเราเข้าใจสาเหตุและไปถึงต้อนตอของพฤติกรรมแล้ว เราก็จะแก้ไขพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น แต่เดี๋ยวก่อน…คำว่า “ง่ายขึ้น” ไม่ได้หมายความว่าจะปรับพฤติกรรมได้ภายในวันเดียวนะคะ ต้องอาศัยเวลาค่ะคุณพ่อคุณแม่

พัฒนาการด้านภาษา

ก่อนอื่นเลยเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า พัฒนาการของเด็กโดยปกติแล้ว เด็กที่มีอายุระหว่าง 3-5 ปี นั้น เขาจะมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ได้ดีและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้รวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของภาษา

อายุ 3 ขวบ

เป็นวัยที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนปวดหัว เจ็บคอ ไม่ใช่อะไรนะคะ แต่เป็นเพราะความช่างพูด ช่างซักถาม ของเขานั่นเอง เป็นวัยที่เห่อการพูด สงสัยอะไรก็จะถามไปซะหมด สามารถจดจำเพลงและเนื้อเพลงได้ดี

อายุ 4 ขวบ

เริ่มจดจำตัวอักษร เริ่มอ่านได้มากขึ้นและคล่องขึ้น รวมทั้งยังสามารถร้องเพลงที่มีท่วงทำนองที่สนุกสนานได้มากขึ้นอีกด้วยค่ะ

อายุ 5 ขวบ

เข้าใจคำสั่งได้มากขึ้น เข้าใจความหมายตรงกันข้าม เรียนรู้วิธีการเขียนได้เร็ว บางคนเริ่มอ่านคำที่ตัวเองเห็นบ่อย ๆ ได้แล้วทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

สาเหตุที่ลูกชอบเถียง

จากหัวข้อที่ผ่านมา แม้ว่าเด็กจะเรียนรู้คำศัพท์ได้มากแค่ไหน แต่เด็กยังมีคำศัพท์ในหัวไม่มากพอและยังไม่สามารถเรียบเรียงคำพูดให้ดูสละสลวยได้ จนทำให้การที่ลูกพยายามที่จะอธิบายเหตุผลให้คุณพ่อคุณแม่ฟังนั้นจึงดูเป็นการเถียงไปซะอย่างนั้น

การเถียงของลูกนั้นเกิดจากการที่ลูกต้องการจะอธิบายว่าไม่ได้เป็นอย่างที่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจสักหน่อย ถ้าย้อนดูในอดีต มีหลายครั้งที่คุณพ่อคุณแม่มักเหมารวมพฤติกรรมของลูกไปในทางลบ และต่อว่าลูกด้วยการใส่อารมณ์ เช่น

“เอาอีกแล้ว ทำไมเล่นของเล่นแล้วไม่ชอบเก็บนะ”

ซึ่งทางที่ถูกควรจะเข้าไปคุยกับลูกดี ๆ ประมาณว่า “คราวหน้าถ้าหนูเล่นของเล่นแล้วไม่ยอมเก็บ หนูอยากให้แม่ทำอย่างไรดีคะ” เป็นต้น วิธีนี้ก็จะเป็นการฝึกให้ลูกได้คิดวิเคราะห์อีกด้วยนะคะ
ถ้ามองกันอีกด้านโน้ตว่าการที่ลูกแสดงความคิดเห็นออกมาเลย ก็ดีกว่าการนั่งพยักหน้าหงึก ๆ เหมือนจะเชื่อฟัง แต่ในใจลูกนั้นคิดไปคนละทางกับคุณพ่อคุณแม่ แบบนี้เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าลูกคิดอะไรอยู่

“เถียง” vs “แสดงความคิดเห็น”

ระหว่างการ “เถียง” กับ “แสดงความคิดเห็น” บางครั้งมันใกล้กันอย่างที่เรียกได้ว่าแยกยาก แต่…ก็ไม่ได้หมายความว่าจะแยกไม่ได้เลยซะทีเดียว วันนี้เรามาดูกันชัด ๆ ค่ะ ว่าแบบไหนของลูกที่เรียกว่า “เถียง” และแบบไหนที่เรียกว่า “แสดงความคิดเห็น”

เถียง

  • พูดและแสดงออกอย่างมีอารมณ์
  • ใช้เสียงดังเข้าข่ม
  • พูดแบบข้าง ๆ คู ๆ
  • ไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา
  • จะเอาชนะอย่างเดียว

แสดงความคิดเห็น

  • พูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบ ไม่ขึ้นเสียง
  • ไม่แสดงออกถึงความไม่พอใจ ไม่ชักสีหน้า
  • ไม่ใช้อารมณ์
  • พูดหรืออธิบายอย่างมีเหตุผล
  • พูดเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน

ถ้าจะสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ หรือวิธีสังเกตที่ง่ายสำหรับคุณพ่อคุณแม่ก็คือ ดูว่าลูกใช้ “อารมณ์” ในการพูดหรือเปล่านั่นเองค่ะ เพราะอารมณ์คือตัวแปรสำคัญ หากมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องจะส่งผลต่อคำพูดและพฤติกรรมทันที

เทคนิคการปรับพฤติกรรมลูกชอบเถียง

การเลี้ยงลูกไม่ใช่ว่าเป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งที่ต้องปรับ แต่ต้องปรับไปด้วยกันทั้งคุณพ่อคุณแม่และคุณลูกนะคะ

ไม่ใช้อารมณ์นำทาง

เริ่มจากคุณพ่อคุณแม่ก่อนเลยค่ะ เราต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก ทำให้เป็นกิจวัตร แล้วสิ่งนี้จะก่อเกิดเป็นนิสัยไปเองค่ะ

เปิดใจ

การให้โอกาสให้ลูกได้พูดนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องเปิดใจเสียก่อนนะคะ ฟังลูก พร้อมทำความเข้าใจลูกในสิ่งที่เขาพยายามจะสื่อสารกับเรา

แสดงหรือบอกลูกเสมอว่าเราคือ พวกเดียวกัน

ทำให้ลูกได้รู้ว่า ไม่ต้องเอาชนะกัน เราคือ พวกเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่พร้อมให้ความเข้าใจกับลูกเสมอ

ใช้ภาษากายหรือภาษาท่าทาง

เวลาที่ลูกเริ่มมีอารมณ์ ให้คุณพ่อคุณแม่ใจเย็น ๆ ก่อนนะคะ แล้วเอามือค่อย ๆ ลูบหลัง หรือจับมือลูกอย่างอ่อนโยน มีแววตาที่พร้อมจะเข้าใจ ลูกจะสัมผัสได้ เขาจะเริ่มเย็นลงค่ะ

ใช้เหตุผลคุยกับลูก

คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้เหตุผลคุยหรืออธิบายกับลูกก่อน เพื่อเขาจะได้เรียนรู้และมีแบบอย่างที่ดีค่ะ

สอนให้ลูกรับฟังคนอื่นอย่างตั้งใจเช่นกัน

เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากลูกเป็นฝ่ายที่จะพูดอย่างเดียว จะทำให้ลูกไม่สามารถเปิดใจเรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้เลย

เอาใจเขามาใส่ใจเรา

ทุกครั้งที่เกิดปัญหา ให้คุณพ่อคุณแม่ลองคิดกลับกันว่า ถ้าเป็นเราในอายุเท่าลูกตอนนี้ เราจะทำแบบนี้ไหม หรือความคิดความอ่านของเด็กในวัยนี้มีขีดจำกัดแค่ไหน เป็นต้น เราจะเข้าใจลูกมากขึ้น

การเลี้ยงลูกในแง่ของการปรับตัว ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่หน้าที่ลูก หน้าที่คุณพ่อ หรือหน้าที่คุณแม่ แต่ทุกคนต้องเรียนรู้และปรับเข้าหากัน โน้ตมักจะพูดไว้เสมอว่า แม้จะเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำถูกทุกอย่าง รักลูก…เลี้ยงลูกด้วยความเข้าใจนะคะ