Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

พฤติกรรมที่อาจจะเกิดเมื่อลูกคนเดียวกำลังจะกลายเป็นลูกคนโต

มีหลายๆ ครอบครัวที่วางแผนในการมีลูกไว้หลายคนแต่ก่อนอื่นก็ต้องเริ่มมีลูกคนแรกกันก่อนระยะเวลาในการมีลูกคนต่อไปของแต่ละครอบครัวอาจจะแตกต่างกันไปตามความพร้อมแต่แน่นอนว่าหลายๆ ครอบครัวก็มักจะต้องเผชิญกับปัญหาพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกคนโตเมื่อเริ่มรู้ว่ากำลังจะมีน้อง

ซึ่งวันนี้เราจะนำพฤติกรรมที่มักจะเกิดขึ้นกับเขาเมื่อรู้ตัวว่ากำลังจะมีน้องมาฝากกันเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้เตรียมรับมือและคอยหมั่นดูแลใส่ใจลูกคนโตเหมือนเดิมให้เขาไม่รู้สึกขาดอะไรไปนั่นเอง

พฤติกรรมที่มักจะเกิดเมื่อลูกกำลังจะหลายเป็นพี่คนโต

1.ออดอ้อนเก่งขึ้น

เด็กบางคนอาจจะออดอ้อนจนลามไปถึงขั้นที่เรียกว่างอแงกันเลยก็เป็นได้มีหลายๆ อย่างที่เขาอาจจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจนทำให้คุณพ่อคุณแม่ถึงกับงงกันได้เลยทีเดียว
อย่างในบางเคสเด็กๆ อาจจะผ่านการถูกสอนให้สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเองแล้วไม่ว่าจะเป็น ทานข้าวเอง ดื่มนมเอง เข้าห้องน้ำเอง แต่งตัวเอง แต่เมื่อรู้ตัวว่ากำลังจะมีน้องนั้นสิ่งที่เคยทำได้กลับเปลี่ยนไปหันกลับมาให้คุณพ่อคุณแม่คอยดูแลเหมือนตอนเล็กๆ ที่ยังทำอะไรไม่เป็นเลย

2.กลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจมากขึ้น

เมื่อคุณพ่อคุณแม่กำลังดูแลน้องใหม่อยู่ไม่ว่าจะเป็นการให้นม เปลี่ยนผ้าอ้อม ป้อนข้าว หรืออะไรก็ตาม ลูกคนโตอาจจะรีบเรียกร้องให้คุณสนใจในสิ่งที่เขาต้องการทันทีไม่ฟังคำอธิบายใดๆ จากคุณทั้งนั้น
ในข้อนี้คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลมากจนเกินไปพฤติกรรมนี้จะค่อยๆ หายไปในช่วงประมาณ 2-3 เดือนต่อจากนี้ เพราะเขากำลังเริ่มปรับตัวให้เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นแต่ที่สำคัญที่สุดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถ้าขาดความรักความใส่ใจและความเข้าใจจากคุณพ่อคุณแม่

3.อ่อนไหวง่ายขึ้น

ในตอนที่ยังเป็นลูกคนเดียวอยู่นั่นเมื่อคุณพ่อคุณแม่ตักเตือนสั่งสอนอะไรก็ดูจะว่านอนสอนง่ายไม่มีปัญหาอะไรแต่เมื่อมีน้องสิ่งเดิมที่คุณพ่อคุณแม่เคยตักเตือนสั่งสอนกลับทำให้เขางอแง ร้องไห้อย่างหนัก ปลอบเท่าไรก็ดูยากที่จะหาย
นี่คือความกลัวของเขา กลัวว่าการดุในครั้งนี้จะเป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่รักเขาน้อยหลงหรือไม่ ดังนั้นเช่นเคยคุณพ่อคุณแม่ต้องเอาใจใส่เขาทำให้เขามั่นใจและมีความอุ่นใจว่าไม่ว่าอย่างไรคุณก็ยังจะรักเขาเหมือนเดิม

4.ซึมๆ ดูเหงาและไม่ค่อยพูดคุย

ถ้าคุณกำลังมีน้องใหม่เข้ามาแล้วลูกคนโตของคุณดูเหงาหงอยผิดปกติจากที่เคยเป็นเด็กร่าเริงแจ่มใสนั้นคุณก็ควรใส่ใจและคอยพาเขาเข้ามาในวงของการเลี้ยงดูน้องเสมอ
เพราะแน่นอนว่าในช่วงแรกของเด็กแรกเกิดก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษทั้งเรื่องอาหารการกิน ความสะอาด การนอนหลับ และเรื่องอื่นๆ จนทำให้ดูเหมือนว่าคุณพ่อคุณแม่โฟกัสอยู่กับแค่น้องและลูกคนโตก็อาจจะไม่เข้าใจจนทำให้เก็บไปน้อยใจ เกิดอาการปลีกตัวและเหงาหงอย ซึมเศร้าก็เป็นได้

5.เรียกร้องความสนใจอย่างรุนแรง

นี่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องรีบหาวิธีรับมือ แต่แน่นอนว่ามันไม่ใช่การหันไปสนใจลูกทันทีที่เขาต้องการอย่างแน่นอน
แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ระดับของความรุนแรงในการเรียกร้องความสนใจของเขาเสียก่อนเพราะบางคนอาจจะแค่โวยวายร้องไห้ บางคนอาจจะแสดงความไม่พอใจชัดเจนเมื่อเห็นคนให้ความสนใจน้องหรือในบางรายอาจจะรุนแรงไปถึงขั้นทำร้ายตัวเองได้เลยทีเดียว

ดังนั้นการหมั่นเอาใจใส่และคอยพูดให้ลูกค่อยๆ เข้าใจเสมอก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องคอยทำอยู่เสมอแม้ว่าเขาอาจจะยังไม่ดีขึ้นแต่ก็ต้องหมั่นทำไปเรื่อยๆ เพื่อให้เขาสัมผัสได้ถึงความรักจากพวกคุณนั่นเอง

แต่ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลที่พูดมานั้นจะเกิดขึ้นน้อยลงได้ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีการเตรียมตัวในการมีลูกคนที่สองให้ดีก่อน เช่น การให้ลูกคนโตได้ทำความรู้จักกับน้องตั้งแต่น้องอยู่ในท้องเพื่อให้เขาได้สนุกไปกับความเปลี่ยนแปลงในท้องของคุณแม่ และเมื่อน้องคลอดออกมาแล้วก็ให้เขาได้มีส่วนช่วยในการดูแลน้องด้วยไม่ว่าจะเป็นการหยิบผ้าอ้อม โอ๋น้องตอนร้องไห้ และกิจกรรมอื่นๆ ตามที่เขาพอจะทำได้ และที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่จำเป็นที่จะต้องแบ่งเวลาพิเศษให้ลูกคนโตเพียงลำพังบ้าง เพื่อให้เขาได้รู้สึกถึงความอบอุ่นเหมือนที่เคยได้รับตอนยังเป็นลูกคนเดียวนั่นเอง