Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกขี้เบื่อ เพราะอะไร? รู้ไหม…มันคือข้อดี

ลูกขี้เบื่อ เพราะอะไร? รู้ไหม...มันคือข้อดี

โดยธรรมชาติของเด็กวัย 3 – 5 ขวบ มักจะสนุกกับการเรียนรู้ในสิ่งต่าง ๆ รอบตัว แต่หากเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกเริ่มนั่งนิ่ง ไม่ค่อยได้ยินเสียงหัวเราะของลูกเมื่อนั้นคุณพ่อคุณแม่น่าจะต้องทำอะไรสักอย่างแล้วค่ะ แต่ขอให้คุณพ่อคุณแม่มั่นใจได้เลยว่า อาการที่ลูกเบื่อนั้นมันคือสัญญาณที่ดีค่ะ

รู้ได้อย่างไรว่าลูกเริ่มเบื่อ

เด็ก ๆ ในวัย 3 – 5 ขวบ มักจะชอบหาของเล่น และวิธีเล่นที่ทำให้ตัวเองมีความสุข มีเสียงหัวเราะ เป็นวัยที่ต้องการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เป็นวัยช่างจำ แต่หากวันหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกนั่งนิ่ง จากเดิมที่เคยเล่นของเล่น เคยวิ่งเล่น ก็ไม่ทำเหมือนเคย เอ๊ะ…หรือลูกจะง่วง จะสังเกตได้อย่างไร คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ดังนี้

เบื่อสิ่งแวดล้อมเดิม ๆ

ข้อนี้เกิดขึ้นมากในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เพราะเด็ก ๆ จะไม่สามารถไปไหนมาได้นอกจากที่บ้าน หรือถ้าในสภาวะปกติที่บ้านเมืองไม่มีโรคระบาด เด็กที่ขี้เบื่อกับสิ่งแวดล้อมเดิม ๆ ก็เป็นเพราะชีวิตมีแค่บ้านกับโรงเรียน ซึ่งอาจเป็นด้วยปัจจัยทางรายได้ของครอบครัวจึงส่งผลให้เด็กไม่ได้มีโอกาสไปเรียนรู้สิ่งอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากบ้านและโรงเรียน ซึ่งเด็กก็จะนั่งนิ่ง ๆ และมักจะพูดออกมาว่าอยากไปที่นั่น ที่นี่

เบื่อของเล่น เบื่อสิ่งของ

ลูกเริ่มบ่นว่าเบื่อสิ่งของนั้น เบื่อของเล่นนี้ และมักเริ่มพูดซ้ำ ๆ บ่อย ๆ

เบื่อกับกิจกรรมซ้ำ ๆ

ข้อนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถประเมินได้ค่ะ จากเหตุการณ์ที่ลูกต้องทำซ้ำ ๆ ซึ่งเมื่อต้องทำกิจกรรมนั้น ลูกจะไม่มีรอยยิ้มบนใบหน้าเลย

เบื่อที่ต้องทำในสิ่งที่ยากเกินไป

หากสิ่งที่ให้ลูกทำนั้นมีความยากเกินไป ลูกจะรู้สึกเบื่อ หากความรู้สึกนี้ถูกสะสมในจิตใจมาก ๆ ลูกอาจจะแสดงออกด้วยการไม่ทำ หรือมีอารมณ์ที่หงุดหงิดออกมาได้

ข้อดีจากการที่ลูกเป็นเด็กขี้เบื่อ

จริงอยู่การที่ลูกแสดงอาการเบื่อออกมานั้น อาจส่งผลให้บรรยากาศภายในบ้านดูไม่ครึกครื้นเท่าที่ควร แต่ให้คุณพ่อคุณแม่ดีใจได้เลยค่ะว่า การที่ลูกเป็นเด็กขี้เบื่อนั้นมีข้อดีอยู่หลายอย่างทีเดียวค่ะ

ลูกขี้เบื่อ แสดงว่าลูกเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์

เพราะด้วยธรรมชาติของเด็ก เขาจะไม่มีทางปล่อยให้ตัวเองอยู่นิ่งได้นาน ๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกรู้สึกเบื่อ เขาจะพยายามคิดหาทางสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้ตัวเองสนุกกับสิ่งใหม่ สร้างสิ่งต่าง ๆ จากจินตนาการ และพยายามทำความคิด ความฝันนั้นให้เป็นจริง

ลูกขี้เบื่อ แสงดว่าลูกจะเป็นคนที่พึ่งพาตัวเองได้

ด้วยความเบื่อที่เกิดขึ้นกับตัวเด็ก บางครั้งเด็กเองก็ไม่สามารถที่จะบอกกับคุณพ่อคุณแม่ได้ เพราะกลัวโดนดุ ดังนั้น ทางออกเดียวและเป็นทางออกที่ดีที่สุดคือ การพึ่งพาตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น หากลูกเบื่อของเล่นเดิม ๆ ที่มีอยู่ เด็กก็จะต้องหาทางดัดแปลงเอาเอง เพื่อให้ได้รูปลักษณ์หรือวิธีการเล่นใหม่ ๆ แม้ว่ามันจะไม่ได้เพอร์เฟกต์ แต่อย่างน้อยก็ได้เป็นการทดลองทำในสิ่งใหม่ ๆ

ลูกขี้เบื่อ ความเบื่อจะเป็นแรงผลักดันที่ดี

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่เห็นแล้วว่าลูกกำลังเบื่อ เบื่อของเล่น เบื่อคุยกับเพื่อน เบื่อพบปะผู้คน คุณพ่อคุณแม่ฟังดูอาจจะตกใจ แต่ความจริงแล้วเขาอาจจะกำลังคิดหาวิธีการทำกิจกรรมหรือวิธีการเล่นใหม่ ๆ อยู่ก็ได้ค่ะ เชื่อเถอะคะเด็กในวัยนี้เขาจะไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองนั่งเซ็งได้นานหรอกค่ะ ใจเย็น ๆ คอยดูอยู่ห่าง ๆ เพราะความเบื่อก็คือ แรงผลักดันที่ดีนั่นเอง

ลูกขี้เบื่อ แสดงว่าเด็กจะมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น

บางครอบครัว ด้วยความที่กลัวว่าลูกจะไม่มีทักษะไม่มีความรู้ จึงจัดตารางให้ลูกได้เรียนโน่น เรียนนี่เต็มไปหมด เรียนจนลูกไม่ได้มีเวลาที่จะอยู่กับตัวเองบ้าง อยากให้คุณพ่อคุณแม่ลองปรับลดตารางเรียนดูบ้างค่ะ ลดการเรียนลง ให้ลูกได้มีเวลาอยู่กับตัวเองบ้าง เพราะมีงานวิจัยได้ออกมาระบุว่า การที่ปล่อยให้ลูกได้อยู่กับตัวเองเป็นครั้งเป็นคราวนั้น จะช่วยให้ลูกเป็นเด็กที่มีสุขภาพจิตดีอีกด้วยค่ะ

วิธีรับมือ ลูกขี้เบื่อ

เข้าไปพูดคุยกับลูกตรง ๆ

หากคุณพ่อคุณแม่เริ่มสังเกตเห็นแล้วว่าลูกมีอาการเบื่อ ให้ลองเข้าพูดคุยกับลูกตรง ๆ อย่างอ่อนโยน ว่าที่ลูกเป็นเช่นนี้เพราะอะไร และปรับตารางการใช้ชีวิตร่วมกัน

ให้ลูกเลือกเอง

สิ่งไหนก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่พิจารณาแล้วว่าลูกสามารถเลือกเองได้ ก็ลองให้ลูกได้ตัดสินใจเอง เช่น การเรียนเสริม หรือการเรียนกิจกรรมพิเศษอื่น ๆ เป็นต้น

พ่อแม่ไม่ต้องรู้สึกผิด

เพราะการที่ลูกเบื่อไม่ใช่เรื่องใหญ่ หรือไม่ใช่เรื่องที่คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงมาผิดแต่อย่างใดค่ะ เพียงแค่ขึ้นอยู่กับการจัดตารางเวลาในการทำกิจกรรมในแต่ละวันเท่านั้น

ให้ลูกได้แก้ปัญหาเอง

หากลูกเลือกบางสิ่งบางอย่างด้วยตัวเองได้แล้ว แต่ดันเกิดมีปัญหาขึ้นมา คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเข้าไปแก้ปัญหาให้ลูกทันที แต่ควรให้ลูกได้เรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน

มีเวลาคุณภาพร่วมกัน

ครอบครัวควรมีเวลาคุณภาพด้วยกัน อย่างน้อย 1 – 2 ชั่วโมง เพื่อความรักและความสัมพันที่แน่นแฟ้นมากขึ้นภายในครอบครัวค่ะ

แม่โน้ตมักพูดเสมอว่า “เวลาคุณภาพ” เพราะมันหมายถึง การที่คุณพ่อคุณแม่ใช้เวลาอยู่กับลูก และปราศจากโซเชียลมีเดีย คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่เล่นมือถือในขณะที่ใช้เวลาอยู่กับลูก แต่ให้ทำกิจกรรมร่วมกันแทน

อาการที่ลูกขี้เบื่อ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่การตอบสนองลูกในเชิงบวกเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า การที่ลูกนิ่งเงียบ ไม่ใช่ว่าลูกมีอาการทางจิต แต่เขากำลังทำความเข้าใจกับกระบวนการทางความคิดและการตอบสนองความต้องการของตัวเองอยู่ เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรใจเย็น ๆ สังเกตลูก และเข้าไปพูดคุยกับลูกให้ถูกเวลา ลูกก็จะกลับมาเป็นเด็กที่ร่าเริงสดใสได้เหมือนเคยค่ะ