Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

พฤติกรรมของพ่อแม่ที่ทำลายความสัมพันธ์กับลูกโดยไม่รู้ตัว

พฤติกรรมของพ่อแม่ที่ทำลายความสัมพันธ์กับลูกโดยไม่รู้ตัว

เพราะความเคยชิน เพราะมันเป็นนิสัยของเรา เพราะเราหวังดี เพราะเราเลี้ยงลูกเองมาตั้งแต่เล็กมองหน้าก็รู้แล้วคิดอะไรอยู่” และอีกหลายร้อยเหตุผลที่คุณพ่อคุณแม่จะอธิบาย เพื่อสนับสนุนการกระทำที่บางครั้งอาจเป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับลูกโดยที่ไม่รู้ตัว

พฤติกรรมของพ่อแม่ที่ทำลายความสัมพันธ์กับลูกโดยไม่รู้ตัว

การรักษาความรัก ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าหากคนในบ้านไม่เข้าใจกัน คุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าใจลูก แล้วลูกจะหันหน้าไปพึ่งใคร เมื่อคนในบ้านไม่สามารถมอบความรักหรือสามารถปรึกษาหารือได้เลย เราไปดูกันดีกว่าค่ะว่ามีพฤติกรรมอะไรบ้างที่ทำให้ความสัมพันธ์กระท่อนกระแท่น

ตำหนิลูกทุกครั้งที่ลูกเล่าอะไรให้ฟัง

หลาย ๆ เรื่องราวที่เด็กได้ไปพบเจอมาเป็นสิ่งใหม่ที่เขาไม่เคยได้เจอมาก่อน เป็นธรรมดาที่เด็กจะรู้สึกตื่นเต้นและสนุก แล้วก็จะมาเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง แต่หากคุณพ่อคุณแม่มีเรื่องที่ตำหนิลูกตลอดเวลา ตำหนิทุกครั้งที่ลูกเอาเรื่องต่าง ๆ มาเล่าให้ฟัง เมื่อเป็นแบบนี้บ่อย ๆ ลูกก็จะไม่กล้าที่จะเล่าอะไรให้ฟังอีก และลูกจะถอยห่างจากคุณพ่อคุณแม่ออกไปเรื่อย ๆ

ทำให้ลูกอายต่อหน้าคนอื่น

เข้าใจได้ค่ะว่าคุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่อบรมลูก แต่การที่ลูกทำผิดและคุณพ่อคุณแม่ดุด่า หรือต่อว่าลูกต่อหน้าคนอื่นเป็นสิ่งที่ไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะลูกจะเกิดความรู้สึกอับอาย ไม่พอใจ และรู้สึกมาปลอดภัย แล้ววันหนึ่งสายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวก็จะขาดลง

บ่นลูกตลอดเวลา

บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจมีเรื่องอื่นที่กังวล กลุ้มใจ หรือเครียดอยู่ แต่ก็กลับเอาอารมณ์ดังกล่าวให้มามีผลกระทบกับลูก ซึ่งลูกไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วยเลย กลายเป็นหงุดหงิดใส่ลูก บ่นลูก ลูกทำอะไรก็ไม่ถูกใจไปซะหมด แบบนี้ก็คงไม่มีลูกคนไหนอยากเข้าใกล้คุณพ่อคุณแม่หรอกค่ะ

เมื่อผู้ใหญ่ทำผิด ไม่มีการขอโทษลูก

ทุกคนสามารถทำผิดพลาดกันได้ค่ะ คุณพ่อคุณแม่ก็ผิดพลาดได้ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า ทำอะไรผิด แต่อยู่ที่ว่า เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทำผิดกับลูกแล้ว ได้มีการขอโทษลูกหรือเปล่า มีวิธีการขอโทษลูกอย่างไร ยอมที่รับผิด เพื่อให้ลูกไม่มีอะไรที่ต้องค้างคาใจ และที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่จะได้เป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกได้อีก โดยเฉพาะในเรื่องของการขอโทษ เมื่อเราทำผิด เราก็ต้องขอโทษ

ไม่มีเวลาให้ลูก

มีเวลาให้ลูก” หรือ “quality time” คือ quality time ถ้าจะแปลให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ เวลาคุณภาพ เวลาที่เล่นกับลูก หัวเราะไปกับลูก พูดคุยและใส่ใจในเรื่องราวต่าง ๆ ของลูกอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ “ตัวอยู่กับลูกแต่คุณพ่อคุณแม่ดูหน้าจอตลอดเวลา” แบบนี้ก็เหมือนกับการไม่มีเวลาให้ลูกนั่นเอง ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัวได้

ไม่ได้กินอาหารร่วมกัน

จะมีช่วงเวลาไหนล่ะที่ทุกคนจะมานั่งรวมกันพร้อมหน้า ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน นอกจากช่วงเวลาที่ได้กินอาหารพร้อมกัน เป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว อาจไม่ต้องทุกมื้อก็ได้ค่ะ แค่วันละมื้อก็โอเค

ตำหนิลูกทุกครั้งเมื่อลูกทำผิดพลาด

ในทุก ๆ ครั้งที่ลูกทำอะไรผิดพลาดไป สิ่งนั้นจะทำให้ลูกได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำคือดุลูกในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งถ้าเรามองกลับไปที่ลูก ลูกก็คงไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นเช่นกัน เพียงแต่ลูกทำได้ทีที่สุดแค่นั้นจริง ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรพูดให้กำลังใจลูกมากกว่าค่ะ เพราะการดุลูก หรือลงโทษลูกในทุกครั้งที่ลูกพลาดจะส่งผลให้ลูกไม่กล้าที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เลย

ไม่รู้แม้กระทั่งลูกชอบหรือสนใจในเรื่องไหน

ถ้าหากมีใครสักคนมาถามคุณพ่อคุณแม่ว่าลูกมีความสนใจในเรื่องไหนเป็นพิเศษ แล้วคุณพ่อคุณแม่นิ่งเงียบไป หรือไม่แน่ใจว่าลูกยังสนใจในเรื่องเดิมอยู่หรือเปล่า แบบนี้ก็เป็นสัญญาณที่พอจะบอกได้ถึงความใส่ใจของคุณพ่อคุณแม่ที่มีต่อลูกแล้วล่ะคะ ไม่แน่นะ เมื่อคุณพ่อคุณแม่หันไปมองลูกอีกที ลูกอาจไม่สนใจคุณพ่อคุณแม่แล้วก็ได้

ได้รู้กันอย่างนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ลองใช้เวลา ค่อย ๆ คิดทบทวนดูนะคะ ว่าที่ผ่านมาเราเคยทำอะไรกับลูกมาบ้าง เราเข้าใจลูกมากพอหรือเปล่า ลองยกข้ออ้างในใจทั้งหมดวางไว้ก่อน แล้วเอาใจเขามาใส่ใจเรา บางทีเราอาจได้ความสุขและความอบอุ่นมากกว่าที่คิดนะคะ

อ้างอิง
Bestlifeonline.com
Thecharactercorner.com