Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกขาดความมั่นใจ เกิดจากอะไร?

ลูกขาดความมั่นใจ เกิดจากอะไร?

เคยไหมคะที่คุณพ่อคุณแม่ยืนมองลูกของคนอื่นเค้ากล้าเล่น กล้าพูด มีความมั่นใจ กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่พอหันมามองที่ลูกตัวเอง ถอนหายใจ และคิดในใจ “ทำไมลูกเราไม่มีความมั่นใจได้แบบนี้บ้างนะ?” วันนี้เราจะมาเจาลึกถึงสาเหตุกันค่ะว่าเพราะอะไร

ลูกขาดความมั่นใจ เกิดจากอะไร?

สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กเป็นคนที่ขาดความมั่นใจมักมาจากการเลี้ยงดูของคนในครอบครัวค่ะ เพราะเด็กจะได้รับอิทธิพลจากพฤติกรรมของผู้ใหญ่ และผลกระทบที่ส่งต่อมายังเด็ก ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

ทำให้ลูกทุกอย่าง

ในฐานะที่เป็นแม่คนแล้ว โน้ตเข้าใจค่ะว่าแม่รักลูกนั้นเป็นอย่างไร และเชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคนก็รักลูกเหมือนกัน แต่มันอยู่ที่การใช้ “ความรัก” ให้ถูกทางต่างหาก คุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ทุกอย่างออกมาดีที่สุด ออกมาให้ได้ดั่งใจเราที่สุด จึงยอมทำเอง ทำให้ลูกทุกอย่าง ลูกจึงขาดทักษะพื้นฐานในการใช้ชีวิต เช่น การช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวัน และลูกเติบโตขึ้นลูกก็จะยิ่งขาดทักษะในการใช้ชีวิตมากขึ้นไปอีก เมื่อเจอกับปัญหาไม่รู้ว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร ไม่รู้จักการวางแผน เมื่อต้องออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน ลูกจึงขาดความมั่นใจ ไม่กล้าคิด ไม่กล้าตัดสินใจ

ลูกเกิดความกลัวจากคำพูด

คำพูดของคุณพ่อคุณแม่มีผลอย่างมากกับลูกค่ะ การพูดอะไรก็ตามไม่ว่าจะแง่ลบหรือว่าแง่บวก ลูกจะจำได้ขึ้นใจ เช่น ถ้าลูกต้องการจะช่วยตั้งโต๊ะอาหารให้ คุณพ่อคุณแม่ให้ลูกถือกระบอกน้ำของตัวเองก่อน แล้วบอกกับลูกว่า “ระวังน้ำหกนะ” แบบนี้จะทำให้ลูกรู้สึกว่า ถ้าน้ำหกต้องเป็นเรื่องใหญ่แน่ เพราะฉะนั้น ลองเปลี่ยนคำพูดดูค่ะ เป็น “จับแน่น ๆ นะคะ ประคองไว้สองมือแบบนี้” ทั้งสองประโยคมีนัยเหมือนกันแต่ต่างกันตรงวิธีการใช้คำพูด ซึ่งประโยคหลังฟังดูนุ่มนวลและดูห่วงใยกว่า

เข้มงวดมากเกินไป

ทุกครอบครัวต้องมีกฎกติกาค่ะ แต่การใช้แบบเข้มงวดเกินไป จะกลายเป็นส่งผลให้ลูกไม่กล้าทำอะไรเลย เพราะกลัวผิดไปเสียทุกอย่าง ลูกจะไม่กล้าคิดนอกกรอบ รวมถึงไม่กล้าสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ ซึ่งส่งผลต่ออนาคตแน่นอน

กลัวความผิดหวัง

เด็กบางคนถูกคาดหวังจากครอบครัวเอาไว้มาก เด็กต้องรับแรงกดดันอยู่ตลอดเวลา เด็กจะฝังหัวว่าเขาต้องรับภาระ ทำความหวังของครอบครัวให้สำเร็จ กลายเป็นทุกก้าวย่าง ทุกการตัดสินใจของลูกต้องเดินอย่างระมัดระวัง ซึ่งหากวันนั้นมาถึง ต้องผิดหวังจริง ๆ คราวนี้ความมั่นใจลูกจะยิ่งไม่เหลือเลย ซึ่งเดิมก็แทบจะไม่มีอยู่แล้ว

ลูกขาดที่ปรึกษา

เด็กในวัย 3-5 ขวบขึ้นไป เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ ช่างซัก ช่างถาม ยิ่งเมื่อเข้าสู่วัยเรียนเขาจะต้องไปเจอกับผู้คนที่มากหน้าหลายตา เมื่อเขามีปัญหาขึ้นในชีวิต แม้ว่าบางปัญหาผู้ใหญ่อาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กก็ตาม แต่เด็กน้อยที่ยังขาดประสบการณ์ เขามองไม่เห็นทางออก แต่…หากลูกไม่มีที่ปรึกษา ก็เหมือนเรือที่ไม่มีหางเสือ ให้คิดเอง หาทางออกเองซึ่งอาจเป็นทางออกที่ผิดก็ได้ เมื่อลูกออกทางผิดบ่อย ๆ ก็เป็นธรรมดาที่ลูกจะขาดความมั่นใจ และสุดท้ายอยากเก็บตัวเงียบ

ถูกวิจารณ์ในทุกความคิดและการกระทำ

เพราะเด็กในวัยนี้ยังสนุกกับการเรียนรู้ โลกของเขายังสนุก สดใส ร่าเริง แต่คุณพ่อคุณแม่ลองจินตานาการตามนะคะ หากลูกกำลังเล่นสนุก ๆ อยู่ดี ๆ คุณแม่ก็ดุลูกเพราะด้วยความผิดเล็กน้อย ที่เกิดจากความอยากเรียนรู้ของลูก เมื่อถูกตำหนิบ่อย ๆ โลกของเขาที่เคยสนุก สดใส คงเงียบเหงาลงในไม่ช้า เหล่านี้จะส่งผลต่อจิตใจเด็กได้ ในอนาคต

ลูกถูกเปรียบเทียบ

แทบจะเป็นกฎเหล็กเลยก็ว่าได้ค่ะว่าคุณพ่อคุณแม่ห้ามนำลูกไปเปรียบเทียบกับใคร เพราะคิดง่ายๆ นะคะ ถ้าเป็นเราถูกนำไปเปรียบเทียบบ้างเราจะรู้สึกอย่างไร? เอาใจเขามาใส่ใจเรา การนำลูกไปเปรียบเทียบกับคนอื่น นอกจากจะไม่เกิดผลดีแล้ว ยังจะทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่รักเขาอีกด้วยนะคะ

“รักลูก” แต่ต้องใช้ให้ถูกทางนะคะ เพราะผลที่เกิดขึ้นในวันนี้ ย่อมเกิดจากเหตุในอดีตที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูได้ทำไว้ก่อนหน้า ถ้าหากวันนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกกลับมาเป็นเด็กที่มีความมั่นใจ สามารถเริ่มได้จากการนั่งทบทวนตัวเองในเรื่องการเลี้ยงดูที่ผ่านมาว่าเรามาถูกทางหรือยัง แต่ต้องไม่เข้าข้างตัวเองนะคะ แล้วค่อยปรับกันไปทีละเรื่อง ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาพอสมควร แต่ไม่ยากเกินความสามารถของคุณพ่อคุณแม่หรอกค่ะ