Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกกินยาก…คุณแม่ไม่ต้องคิดมากตาม

89963651 - a boy in a blue panama at a yellow table in a hot heat.

ยังเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ยังคงตกใจและเครียดกันมากๆ เหมือนกันทุกรายนั่นก็คือพอเราเจอกับปัญหาที่ลูกไม่ยอมทานข้าว ทานยาก และชอบทานแต่ของไม่มีประโยชน์เท่าไรนัก ทำให้ฟันพุบ้าง อ้วนบ้าง หรือสุขภาพไม่แข็งแรงเท่าที่ควรบ้าง ซึ่งก็พลอยทำให้คุณพ่อคุณแม่ปวดหัวไปตามๆ กัน
แต่เอาเป็นว่าทำใจให้สบาย และอย่ารีบไปเครียดกับปัญหาขนาดนั้นเพราะทุกปัญหามีทางออกและการที่คุณพ่อคุณแม่ไม่เครียดจนเกินไปก็จะช่วยส่งอารมณ์ดีๆ ไปถึงลูกๆ เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเขาได้และยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาอารมณ์ของลูกให้สดใสไปในตัวอีกด้วย

มารู้สาเหตุหลักของการไม่ยอมทานข้าวกันก่อน

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาลูกไม่ทานข้าว ลูกทานยาก หลักๆ แล้วมาจากตัวของคุณพ่อคุณแม่ ใช่แล้วฟังไม่ผิดแน่ๆ มาจากคุณพ่อและคุณแม่นั่นก็คือการที่คุณพ่อคุณแม่เกิดความวิตกกังวลมากจนเกินไป จนในบางครั้งอาจจะลืมไปว่าเด็กในช่วงอายุประมาณ 1-3 ขวบ จะสามารถทานอาหารได้ในปริมาณเพียง 1 ใน 4 ของผู้ใหญ่เท่านั้นซึ่งด้วยความชินของคุณพ่อคุณแม่อาจมองว่าปริมาณที่ลูกทานเข้าไปนั้นจะน้อยเกินไป จนทำให้ไปค้นหาวิธีการแก้ไขกันจนบางทีเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความกังวลทั้งคุณพ่อคุณแม่และส่งผลไปถึงลูกอีกด้วย

พอเจออาการที่ลูกอิ่มแล้วเขาเกิดหันหน้าหนี ไม่สนใจ หรือแรงกันจนผลักจานอาหารออกทันที สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นจุดที่ทำให้เกิดความกังวลของคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมากแน่นอน แต่ทางเราขอแนะนำว่าใจเย็นๆ และอย่าวิตกกังวลจนเกินไปเพราะนี่คือพฤติกรรมปกติของเด็กๆ นั่นเอง

จุดที่ทำให้เรื่องนี้บานปลายไปใหญ่เพราะในบางครั้งคุณพ่อคุณแม่ได้มีการบังคับให้ลูกทานอาหารต่อจนหมดหรือจนกว่าคุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกสบายใจ ซึ่งจุดนี้ทำให้ลูกมีปัญหาอื่นขึ้นมากลายเป็นการต่อต้านการทานข้าวแบบจริงจัง สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องปรับก็คือ ไม่ต้องคาดหวังว่าลูกน้อยจะต้องทานข้าวในปริมาณเท่าเดิมทุกวัน ถ้าวันไหนทานน้อยกว่าปกติจริงๆ ก็ค่อยลองหาอาหารอื่นๆ มาทดแทนให้ได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ จะดีกว่า

มาเริ่มต้นรู้จักวิธีเอาชนะใจลูกทานยากกัน

  1. เพิ่มทางเลือกให้กับลูกน้อยมากขึ้น เช่น ให้เลือกระหว่างซุปผักหรือต้มจืด เป็นต้น และในแต่ละจานควรมีสีสันที่สดใสน่ารัก เพื่อดึงดูดใจลูกน้อยของคุณ
  2. อย่าใจดีให้กินขนม ของหวาน หรือสิ่งอื่นๆ ก่อนเวลาอาหารหลักบ่อยหรือมากเกินไปเพราะจะส่งผลให้พอถึงเวลาอาหารหลักแล้วเขาจะไม่ค่อยหิวทำให้เกิดการปฏิเสธอาหารนั่นเอง
  3. ถ้าเกิดลูกแสดงอาการว่าอิ่ม เราก็หยุด อย่าไปบังคับเพราะจะทำให้เด็กฝังใจกับอาหารชนิดนั้นได้
  4. บรรยากาศกับอารมณ์ของลูกเป็นเรื่องสำคัญ คอยจัดโต๊ะอาหาร และบรรยากาศรอบๆ ให้ดูน่าสนใจ ดูมีลูกเล่นให้เขามีความสุขอยู่เสมอ จะทำให้เพลินกับการทานข้าวมากขึ้นแน่นอน
  5. ผักอาจจะเป็นจุดที่ยากที่เด็กๆ จะยอม เราต้องลองหาวิธีเรียกร้องความสนใจให้ผักดูน่าสนใจ เช่น จัดเป็นการ์ตูน เอาไปทอด จิ้มกับซอส ฯลฯ เพื่อทำให้เด็กคุ้นเคยและค่อยๆ ชินไปกับการทานผักนั่นเอง
  6. เวลาอาหารก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าบังเอิญลูกน้อยยังเล่นเพลินอยู่เราก็ควรบอกให้เขาเตรียมตัวไว้ และพอถึงเวลาก็กำหนดเวลาทานแค่ 30-45 นาที พอเสร็จก็เก็บ หากทานน้อยก็ไม่ต้องกังวลและไม่ต้องให้อะไรเพิ่มเติม เพื่อพอถึงเวลาอาหารหลักในมื้อต่อไปเขาจะหิวและทำให้ทานง่ายขึ้นนั่นเอง
  7. อย่าคิดที่จะนำการทานอาหารในแต่ละมื้อมาเป็นการให้รางวัลหรือลงโทษเพราะมันไม่ได้ช่วยให้ลูกมีความอยากอาหารมากขึ้นแถมยังอาจเป็นปมในใจได้อีกด้วย
  8. นมที่ให้ลูกเป็นประจำในช่วงก่อนอายุ 1 ขวบ เราควรลดปริมาณลงและให้เฉพาะหลังมื้ออาหารเท่านั้นเพื่อเป็นการไม่ให้ลูกอิ่มจนเกินไปนั่นเอง
  9. จัดโต๊ะให้พอดีและเหมาะกับลูก ให้เขาสามารถเอื้อมหยิบ หรือขึ้นลงเก้าอี้ได้อย่างง่ายดาย และหากลูกดูอิ่มแล้วต้องการลงจากเก้าอี้ ไม่ต้องเดินไปป้อน เพื่อให้เขาได้รู้ว่าจะทานข้าวก็ต้องอยู่บนโต๊ะอาหารเท่านั้นเป็นการสร้างการรับรู้ให้กับลูกน้อยได้อีกทางหนึ่ง
  10. ต้องคอยสังเกตลูกถ้ายังดูไม่หิวจริงๆ และเราทราบกันดีว่าได้ให้ขนมหรือสิ่งอื่นๆ ก่อนมื้ออาหารก็ลองเลื่อนเวลาไปประมาณ 1 ชั่วโมง แต่หากเขายังไม่ทานอีกก็ให้งดมื้อนั้นไปเลยรอจนมื้อถัดไปเพื่อเป็นการกระตุ้นการอยากอาหารนั่นเอง