Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

5 เทคนิค การฝึกวินัยให้ลูกโดยไม่ต้องดุ ไม่ต้องลงโทษ

เริ่มแรก อยากชวนพ่อแม่คิดตามนะคะ ว่าถ้าหากเราต้องใช้ชีวิตอยู่กับคนที่ไม่มีระเบียบวินัย เราจะรู้สึกอย่างไร? การฝึกวินัยจึงเป็นสิ่งจำเป็น ควรปลูกฝังตั้งแต่ลูกยังเล็ก เริ่มได้ตั้งแต่อายุ 3 ขวบเป็นต้นไป การฝึกวินัยให้ลูกโดยไม่ต้องดุ ไม่ต้องลงโทษดูจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะคงไม่มีเด็กคนไหนที่อยากให้พ่อแม่สอนไปดุไป บางครอบครัวอาจใช้การลงโทษด้วยการ Time Out ให้สำนึกผิดเอาเอง ในขณะที่เด็กบางคนคิดได้ แต่เด็กบางคนคิดไม่ได้ก็มี (ซึ่งเราอาจรู้เมื่อสาย เพราะเด็กเข้าใจผิดไปว่าพ่อแม่ไม่รัก)

หลักการพื้นฐานที่ครอบครัวควรมี

อันดับแรกก่อนที่จะฝึกวินัยให้ลูก พ่อแม่ควรมีสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานก่อน แล้วการสอนจะง่ายขึ้นค่ะ

พ่อแม่ลูกมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

เพราะการมีความรัก มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จะทำให้ลูกเข้าใจวัตถุประสงค์ของพ่อแม่ได้ว่า ที่ต้องฝึกต้องสอนวินัยให้เขาก็เพราะความรัก

พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดี

โดยเฉพาะในเรื่องของระเบียบวินัย ลูก ๆ มักจะเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่ ทั้งที่พ่อแม่รู้ตัวว่าลูกมองอยู่ และทั้งแบบที่ลูกแอบมองโดยที่พ่อแม่ไม่รู้ตัว แต่ที่แน่ ๆ คือ ลูกจะจำทุกอย่างที่พ่อแม่ทำ

ทำความตกลงกับคนในครอบครัว

นอกจากพ่อแม่ที่ต้องมีการฝึกลูกในทิศทางเดียวกันแล้ว หากครอบครัวไหนที่เป็นครอบครัวใหญ่ มีปู่ ย่า ตา ยาย ควรพูดคุยทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าเรามีแนวทางการฝึกลูกอย่างไร เพื่อให้ได้ผลตามที่วางไว้

5 เทคนิค การฝึกวินัยให้ลูกโดยไม่ต้องลงโทษ

กำหนดขอบเขตให้ชัดเจน

ก่อนการฝึกระเบียบวินัยให้ลูก พ่อแม่ควรตั้งกติกา กฎระเบียบ หรือกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน ว่าอะไรทำได้และอะไรที่ทำไม่ได้ อธิบายให้ลูกเข้าใจก่อน รวมถึงอย่าลืมทบทวนลูกด้วยการให้ลูกพูดทวนในสิ่งที่เราอธิบายไปด้วยนะคะ เพราะบางครั้งเด็กจะพยักหน้าว่าเข้าใจ แต่พอถึงเวลาปฏิบัติจริง ๆ เขาไม่เข้าใจก็มี

ฝึกอย่างสม่ำเสมอ

อย่างน้อย 6-12 เดือน โดยที่พ่อแม่ต้องไม่เปลี่ยนกติกาไปมานะคะ และที่สำคัญ ควรใช้กฎ กติกาที่ตั้งขึ้นมาอย่างเคร่งครัด แต่ไม่ต้องถึงกับข่มขู่ กดดันลูกนะคะ

ให้ความสนใจลูกอย่างเต็มที่

เพราะเด็กก็คือเด็ก สิ่งที่เด็กต้องการเป็นอย่างมากจากพ่อแม่ คือ การให้ความสนใจในตัวเขา สังเกตไหมคะ เวลาที่ลูกเห็นว่าพ่อแม่ไม่สนใจ เขาจะทำทุกอย่างเพื่อให้พ่อแม่หันมองเขา เมื่อพ่อแม่หันมองเขา แม้ว่าพ่อแม่จะหันมาดุเขาก็ยังดี เขาจะหยุดเรียกร้องความสนใจทันที เพราะพ่อแม่มองเขาแล้ว เขาพอใจแล้ว ดังนั้น ถ้าพ่อแม่เข้าใจเขาในจุดนี้แล้ว ก็จะเป็นพลังบวกให้ลูกได้รู้ว่า พ่อแม่รักเขา สนใจเขาอยู่

แต่ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่ต้องให้เวลากับลูกตลอดเวลา และไม่สามารถทำอย่างอื่นได้เลยนะคะ เพียงแค่ให้เวลากับลูกในบางช่วง ให้ความสนใจกับเค้าให้เต็มที่ ใช้ทุกนาทีกับลูกให้มีค่ามากที่สุดก็พอค่ะ

ให้เวลาลูก

ทุกอย่างต้องอาศัยเวลาค่ะ การฝึกวินัยให้ลูกก็เช่นกัน โดยอาจเล่นบทบาทสมมติกับลูกก็ได้ อาทิ เป็นครูและนักเรียน หลังกินข้าวเสร็จต้องเก็บจานชามเอง หรือก่อนนอนกลางวันก็ต้องปูที่นอนเอง รวมทั้งนอนเสร็จแล้วก็ต้องเก็บที่นอนเอง เป็นต้น เพื่อพ่อแม่จะได้เป็นต้นแบบในเรื่องระเบียบวินัยให้ลูกได้ปฏิบัติตาม

ชื่นชมลูกตามสมควร

หลังจากการฝึกหรือไม่ว่าจะในระหว่างการฝึกก็ตาม หากลูกสามารถทำในสิ่งที่เราสอนเขาได้ พ่อแม่อย่าลืมชื่นชมลูกด้วยนะคะ ชมแต่พอควร พอดี ๆ ถ้าจะให้ดีไม่ควรให้เป็นสิ่งของหรือขนมตอบแทนนะคะ เพราะจะทำให้เด็กเข้าใจว่า “ถ้าอยากกินขนม เราต้องแสดงให้พ่อแม่เห็นว่าเรามีระเบียบวินัย

การชื่นชมด้วยคำพูดที่ดี ก็ทำให้ลูกมีกำลังใจขึ้นเยอะแล้วค่ะ อย่าลืมว่าพื้นฐานของเด็กต้องการเพียง “ความรักและความใส่ใจ” ของพ่อแม่เท่านั้นเอง

การฝึกลูกในเรื่องใดสักเรื่องหนึ่งต้องอาศัยเวลา อาศัยพ่อแม่เป็นแบบอย่าง ถ้าพ่อแม่อยากให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบไหนก็หว่านเมล็ดพันธุ์นั้น ๆ ลงไป รดน้ำ พรวนดินตามสมควรนะคะ แล้ววันหนึ่งก็จะออกดอกออกผลให้พ่อแม่ได้ชื่นใจแน่นอนค่ะ