Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

EQ คือ 12 เทคนิคการเลี้ยงลูกให้มีความฉลาดทางอารมณ์สูง (EQ)

12 เทคนิคการเลี้ยงลูกให้มีความฉลาดทางอารมณ์สูง (EQ)

ความฉลาดทางสติปัญญาหรือ I.Q. นั้น หากคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ที่มีสติปัญญาดี ลูกก็มีแนวโน้มสูงที่จะมีสิปัญญาดีตามไปด้วย ซึ่งนอกจากนี้แล้วยังขึ้นอยู่กับการที่ลูกได้รับสารอาหารที่เพียงพอและครบถ้วนต่อความต้องการของร่างกายตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ตลอดจนช่วงวัยเด็ก ซึ่งส่วนของ “ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ E.Q. (Emotional Quotient)” นั้น เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถกำหนดให้ลูกได้ว่าอยากให้ลูกมีพฤติกรรม และมีนิสัยอย่างไร

12 เทคนิคการเลี้ยงลูกให้มีความฉลาดทางอารมณ์สูง

ให้ความรัก

ข้อนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการให้ความรักสามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นจากคำพูด หรือจะดีมากหากคุณพ่อคุณแม่แสดงออกด้วยการกอด การยิ้มให้ การสัมผัส การโอบไหล่ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นภาษากายที่บ่งบอกถึงความรักเป็นอย่างดี ไม่ต้องรักแบบ “อยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ” นะคะ แบบนี้ลูกไม่รู้หรอกค่ะ ว่าคุณพ่อคุณแม่รักเขาแค่ไหน

ครอบครัวมีความสุข

สิ่งสำคัญก็คือ การที่ลูกได้เห็นว่าคุณพ่อคุณแม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งต่าง ๆ รวมถึงการมีความคิดเห็นในเรื่องการเลี้ยงลูกที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน แต่ถ้าครอบครัวไหนมีแนวคิดในการเลี้ยงที่ตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้างก็ไม่เป็นไรนะคะ เอาแค่หลักใหญ่ใจความให้ตรงกันแบบนี้ก็ยังโอเคค่ะ

มีความเข้าใจในพัฒนาการของลูก

สิ่งนี้จะเพิ่มความเข้าใจในเรื่องของแนวทางการเลี้ยงลูกได้มากทีเดียวค่ะ เพราะถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่าแต่ละวัยจะมีพัฒนาการขั้นไหนแล้วก็จะไม่กังวล ไม่ต้องกดดันลูก หรือกดดันตัวเอง ทำให้เกิดความเครียดกันเสียเปล่า ๆ เพราะถึงอย่างไร พัฒนาการยังมีไปอย่างต่อเนื่องตั้งแม้ลูกจะพ้นวัยอนุบาลไปแล้วก็ตาม

คุณพ่อคุณแม่ควรมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูก

เวลา” คือคำตอบของข้อนี้ค่ะ การที่เด็กคนหนึ่งเกิดมาสิ่งที่เขาโหยหามากที่สุดก็คือ “ความรักและความอบอุ่น” จากคุณพ่อคุณแม่ แม้ว่าครอบครัวส่วนใหญ่นั้นคุณพ่อจะเป็นคนที่ทำงานนอกบ้าน คุณแม่เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก ซึ่งทำให้คุณพ่อมีเวลาอยู่กับลูกน้อยเมื่อเทียบกับคุณแม่ แต่ถ้าต้องการให้ลูกมี E.Q. สูง คุณพ่อคุณแม่ควรแบ่งเวลาและหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูกให้ชัดเจน เพื่อให้ลูกไม่รู้สึกว่าเขาขาดความรักจากใครไป

สร้าง Self – Esteem ให้กับลูก

คือการสอนให้ลูกได้รู้จักคุณค่าของตัวเอง รักตัวเอง ด้วยการชื่นชมลูกตามสมควรหากลูกทำดี หรือประสบความสำเร็จในสิ่งที่ลูกพยายามทำ รวมถึงการให้กำลังใจเมื่อลูกผิดหวังหรือท้อแท้

ให้โอกาสและอิสระกับลูกในการตัดสินใจ

จะเป็นการกระตุ้นให้ลูกเกิดความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าทำ กล้าลอง รวมถึงการไม่ชี้นำทางความคิดให้ลูก เหล่านี้ถ้าคุณพ่อคุณแม่พิจารณาดูแล้วว่า สิ่งที่ลูกต้องการทำนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่อันตรายแต่อย่างใดก็ควรให้อิสระกับลูกในการตัดสินใจได้ค่ะ

สอนให้ลูกรู้จักรักและดูแลผู้อื่นเช่นเดียวกับตัวเอง

หรือจะว่าไปข้อนี้ก็คือ การสอนให้ลูกรู้จักมีน้ำใจ แบ่งปัน หรือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั่นเอง

ฝึกให้ลูกคิดวิเคราะห์ด้วยหลักของเหตุผล

อาทิ หากลูกต้องการของเล่นแพง ๆ สักชิ้นหรืออาจเป็นของที่มีอยู่แล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับลูกด้วยท่าทีและน้ำเสียงที่อ่อนโยน พร้อมทั้งอธิบายว่าลูกควรซื้อหรือไม่ควรซื้อสิ่งนี้เพราะอะไร

สอนให้ลูกผ่อนคลายและทำอะไรก็ได้ที่ตัวเองมีความสุข

อาจเป็นการนั่งอ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือจะเป็นเรื่องของการหางานอดิเรกทำ เช่น ของสะสม เป็นต้น เพื่อให้ลูกได้มีมุมแห่งความสุขที่เป็นของตัวเองซักมุม แต่ควรเป็นสิ่งที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนนะคะ

เป็นต้นแบบที่ดีให้ลูก (Modeling)

ซึ่งโดยทั่วไปแล้วก็จะมีหลักอยู่ว่า “เด็กมักจะเลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่” เพราะฉะนั้นการที่คุณพ่อคุณแม่เป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูกจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะลูกจะเลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่โดยไม่รู้ตัว

มีความยืดหยุ่น

ทุกครอบครัวมักมีกฎ กติกาประจำบ้าน แต่การเข้มงวดกับลูกไปก็ไม่เป็นผลดี ดังนั้น กฎ กติกามีได้ค่ะ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องรู้จักยืดหยุ่นให้ได้เช่นกันในบางเรื่อง

การเลี้ยงลูกให้มีความฉลาดทางอารมณ์คุณพ่อคุณแม่ต้องปลูกฝังลูกไปเรื่อย ๆ ค่ะ ตั้งแต่เล็กจนโต แล้ววันหนึ่งเมล็ดพันธุ์แห่ง E.Q. ก็จะงอกเงยอย่างงดงามมาให้คุณพ่อคุณแม่ได้ชื่นชมเอง

อ้างอิง
Rama.mahidol.ac.th