Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ความรุนแรงในครอบครัว ส่งผลต่อลูกน้อย ส่งต่อสู่สังคม

ความรุนแรงในครอบครัว ส่งผลต่อลูกน้อย ส่งต่อสู่สังคม

การจะเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตมาในสังคมปัจจุบันได้อย่างมีความสุข ต้องอาศัยปัจจัยในการเลี้ยงดูหลายอย่างค่ะ โดยเฉพาะในเรื่องของความพร้อมของครอบครัว ความพร้อมที่ไม่ได้หมายถึงแค่ ความพร้อมในการมีลูก แต่ยังหมายรวมถึงความพร้อมทางด้านวุฒิภาวะของคุณพ่อคุณแม่อีกด้วย ซึ่งหากทั้งคู่ไม่มีความพร้อมในเรื่องนี้ อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวได้

ความรุนแรงในครอบครัว คืออะไร?

ความรุนแรงในครอบครัว คือ การทำร้ายกันทั้งทางร่างกาย และจิตใจ อันเกิดจากคนในครอบครัว ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น สภาพเศรษฐกิจ สังคม ติดการพนัน ติดสุรา หรือติดยาเสพติด เหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างบาดแผลให้กับทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ที่ถูกกระทำ

ทั้งนี้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น หากเป็นร่างกายก็ยังพอที่จะรักษาให้หายได้ แต่บาดแผลทางจิตใจที่เกิดขึ้น ต้องใช้เวลาในการเยียวยาที่นาน บางรายไม่สามารถลบเลือนได้ และที่สำคัญคือ เขาจะฝังหัวติดตัวไปจนโต

ผลกระทบจาก ความรุนแรงในครอบครัว

เด็ก ๆ ที่มักถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวนั้น จะส่งผลต่อเด็ก ๆ หรือลูก ๆ ดังนี้

เกิดความเครียดสะสม

โดยเฉพาะกับลูกที่เป็นเหยื่อเอง ทุกครั้งที่เขาถูกกระทำ เด็กจะเกิดความเครียดและความเครียดสะสม ซึ่งมีผลกระทบต่อจิตใจ เช่น การเห็นคุณพ่อคุณแม่ทะเลาะกัน หรือใช้กำลังทำร้ายกัน เหล่านี้จะกลายเป็นภาพจำของคำว่า “ครอบครัว” และส่งผลต่อมุมมองในระยะยาวของลูกได้

เกิดความหวาดกลัว

เด็กที่ถูกกระทำบ่อย ๆ จะเกิดความหวาดกลัว ความสับสน และการไม่มีความสุขที่จะใช้ชีวิตในครอบครัว ไม่รู้ว่าจะหาทางป้องกันตัวเองได้อย่างไร

โทษตัวเอง

หากเป็นเด็ก ๆ ที่อาศัยอยู่กับครอบครัวซึ่งไม่มีความพร้อม และมักจะเห็นคุณพ่อคุณแม่ทะเลาะ หรือทำร้ายร่างกายกันทุกวัน ก็จะกลายเป็นโทษตัวเอง ว่าตัวเองเป็นต้นเหตุ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

ร่างกายแปรปรวน

หากเด็กหรือผู้ที่ถูกกระทำเกิดความเครียดมาก ๆ อาจส่งผลต่อร่างกายได้ โดยจะเริ่มจากการเกิดความหดหู่ คลื่นไส้ ปวดหัว ปวดท้อง ร้องไห้อย่างหนัก เบื่ออาหาร ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ บางร้ายถึงกับฝันร้ายเลยทีเดียว

ปลีกตัวออกจากสังคม

เป็นอาการที่เริ่มหนักขึ้น เนื่องจากเขาจะรู้สึกว่าเขาไม่เป็นที่ต้องการ เพราะต้องเห็นความรุนแรงหรือได้รับความรุนแรงของคุณพ่อคุณแม่ในทุก ๆ วัน เบื่อที่จะเจอกับปัญหาเหล่านี้ จึงรู้สึกว่าการปลีกตัวเอง การอยู่คนเดียวน่าจะดีที่สุด ไม่ต้องการพบใคร หรือเข้าสังคมกับใคร

ส่งต่อความรุนแรงให้สังคม

เมื่อเด็กเกิดความเครียดสะสมมาก ๆ เข้า เขาจะซึมซับเอาความรุนแรง และแนวความคิดเหล่านี้เข้ามาในหัว ซึ่งส่วนใหญ่การแสดงออกต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ของกลุ่มเด็กเหล่านี้จะออกไปทางความรุนแรงเดียวกันกับที่เขาประสบมา ซึ่งมีทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

สิ่งที่ควรทำเพื่อหยุดความรุนแรงในครอบครัว

ความรุนแรงในครอบครัว สามารถหยุดมันได้เสียตั้งแต่วันนี้ ดังนี้

เตรียมความพร้อม

ความพร้อมในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง เรื่องการเงินอย่างเดียว แต่หมายถึงความพร้อมทางร่างกายและจิตใจ เนื่องการมีลูกในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม ไม่มีการวางแผนมาก่อน จะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายตามมา

รักลูก ควรแสดงออก

ความรักของคุณพ่อคุณแม่ที่มีต่อลูก ไม่ใช่การให้เพียงแต่เงินทอง รักลูก ควรแสดงออกให้ลูกรู้ว่ารัก ไม่ต้องเขินอายกันค่ะ การบอกรักลูก หรือการกอดลูก ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นเรื่องที่น่าทำ ลองจินตนาการตามนะคะ หากวันหนึ่งเราต้องขาดใครสักคนไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เราจะไปบอกรักเขาตอนนั้น เขาคงไม่รับรู้แล้ว เพราะฉะนั้น วันนี้ เรายังมีลูก มีคนที่เรารัก และรักเราอยู่ ให้บอกรักกันบ่อย ๆ ดีกว่าค่ะ

ไม่ควรใช้อารมณ์นำหน้า

เริ่มจากการสูดลดหายใจเข้าลึก ๆ หลาย ๆ รอบก่อน เพราะ “พฤติกรรม” จะก่อให้เป็น” นิสัย” ดังนั้น หากเราใช้อารมณ์นำบ่อย ๆ เราก็จะติดการใช้อารมณ์นำทาง แต่ถ้าหากเราตั้งสติ และใช้เหตุผลนำทาง เราก็จะกลายเป็นคนที่เลี้ยงลูกด้วยเหตุผลค่ะ

ไม่แปลกที่เราจะเห็นเด็กที่ใช้อารมณ์นำหน้า หรือชอบใช้กำลังในการตัดสินปัญหา สันนิษฐานเบื้องต้นได้เลยว่า เด็กซึมซับและเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่มา ซึ่งหากเด็กไม่ได้รับการแก้ไขด้วยความเข้าใจ และชี้นำได้ถูกทาง เขาก็จะส่งต่อพฤติกรรมเหล่านี้สู่คนอื่นและสังคมต่อไป ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องการเห็นภาพลูกในแบบนั้น วันนี้เราควรสำรวจตัวเอง และปรับพฤติกรรมที่ไม่ดีก่อนที่มันจะกลายเป็นนิสัยนะคะ