Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

สิ่งแปลกปลอมเข้าหูลูก รับมืออย่างไรดี?

สิ่งแปลกปลอมเข้าหูลูก รับมืออย่างไรดี?

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่คงเคยได้เห็นข่าวกันมาบ้าง เกี่ยวกับเด็กที่มักเอาวัตถุหรือสิ่งของต่าง ๆ ใส่หูตัวเอง แล้วเกิดติดอยู่ในช่องหูเอาไม่ออก บางคนก็สามารถบอกคุณพ่อคุณแม่ได้เลย แต่ในเด็กบางคนอาจจะเล็กเกินกว่าที่จะสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ให้รู้ได้ แล้วถ้าหากวันหนึ่งเรื่องนี้เกิดกับลูกของเราล่ะ จะทำอย่างไรดี? บางครั้งเรื่องบางเรื่อง อาจใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด เรื่องการปฐมพยาบาลในกรณีที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าหูลูกเป็นสิ่งจำเป็น และมีอะไรบ้างที่ต้องระวัง ไปติดตามกันค่ะ

สิ่งแปลกปลอมที่มักพบในหูเด็ก

สิ่งแปลกปลอมที่สามารถเข้าไปติดในหูของลูกมีหลายอย่างด้วยกัน ดังนี้

  • คอตตอนบัด
  • ก้อนกรวด
  • แบตเตอรี่แบบกระดุม
  • แมลง
  • เมล็ดพืช
  • ลูกปัด
  • เม็ดกระดุมเล็ก

อาการที่สังเกตได้ หากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าหูลูก

เพราะเด็ก ๆ มักมีความอยากรู้ อยากลอง ซึ่งต้องบอกว่าบางครั้งอาจมีบ้างที่เล็ดลอดสายตาไป คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูอาจไม่ได้อยู่กับเด็กตลอดแต่เด็กอาจเอาสิ่งแปลกปลอมเข้าหูแล้ว สามารถสังเกตอาการได้ดังนี้ค่ะ

  • ลูกบอกว่าปวดหู หรือเจ็บในหู โดยเฉพาะเวลาเคี้ยวข้าว บางรายอาจไม่สามารถเคี้ยวข้าวได้เลย
  • ลูกไม่ได้ยินในสิ่งที่คนรอบข้างพูด เรียกแล้วไม่มีการตอบสนอง
  • มีอาการหูน้ำหนวก
  • มีหนองหรือเลือดไหลออกจากหู
  • ในช่องหูมีอาการบวม หรือบวมแดง

วิธีการปฐมพยาบาล เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าหู

เมื่อคุณพ่อคุณแม่มั่นใจว่ามีสิ่งแปลกปลอมเข้าหูลูกแล้ว ควรปฐมพยาบาลลูกดังนี้ค่ะ

  • อย่าใช้นิ้วหรือไม้แคะหูเด็ดขาด เพราะจะทำให้สิ่งแปลกปลอมยิ่งเข้าไปลึก
  • เอียงหูข้างที่มีสิ่งแปลกปลอมให้ต่ำลง แล้วกระตุกที่ใบหู สิ่งแปลกปลอมนั้นอาจเคลื่อนออกมาเอง และถ้าหากคุณพ่อคุณแม่เห็นวัตถุนั้นอย่างชัดเจน และมั่นใจได้ว่าพอจะเอาออกได้ ให้ใช้คีมถอนขนปลายแคบค่อย ๆ คีบออก ยกเว้นว่าวัตถุดังกล่าวมีลักษณะกลม ไม่ควรคีบออกค่ะ เพราะมันอาจจะทำให้วัตถุเคลื่อนกลับเข้าไปลึกกว่าเดิม
  • ห้ามใช้น้ำมันหรือน้ำหยอดหู เพราะบางวัตถุอาจมีการซับน้ำหรือน้ำมัน ก็จะส่งผลให้วัตถุมีการขยายขนาดที่ใหญ่ขึ้นได้
  • หากยังไม่สามารถนำเอาวัตถุออกมาจากหูได้ แนะนำปรึกษาแพทย์ค่ะ

การป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าหูลูก

เพราะสิ่งแปลกปลอมมีทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ซึ่งเราสามารถป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าหูได้ดังนี้ค่ะ

  • ต้องใส่ใจในเรื่องการดูแลลูก พยายามอย่าให้ลูกคนเดียวนานเกินไป
  • ควรเก็บของเล่นชิ้นเล็ก ๆ ลูกปัด หรือกระดุมเล็กให้พ้นมือเด็ก
  • หากเป็นกรณีของสิ่งมีชีวิต ควรดูแลทำความสะอาดที่นอน รวมถึงเครื่องนอนต่าง ๆ ให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันกันไรฝุ่น และแมลงต่าง ๆ
  • หากบ้านไหนเลี้ยงสัตว์ เช่น สุนัข ไม่ควรอุ้มพาดบ่า เพื่อป้องกันหมัดหรือเห็บเข้าหู
  • กรณีที่ไปกางเต็นท์ต่างจังหวัด ควรมีสำลีที่ใช้อุดหูอุดที่ช่องหูไว้ แต่ไม่ต้องแน่นมากนะคะ เพื่อป้องกันแมลงเข้าหู แต่เราก็ยังสามารถได้ยินเสียงอื่น ๆ ได้อยู่

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนำสิ่งแปลกปลอมออกแล้ว

ภาวะแทรกซ้อนนี้อาจเกิดได้หากสิ่งแปลกปลอมค้างอยู่ในหูเป็นระยะเวลานาน ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นมีดังนี้

  • หูหนวก หรือมีการได้ยินเสียงแบบอู้อี้
  • ช่องหูเกิดการอักเสบ หรือบวมแดง
  • หูติดเชื้อ เนื่องจากวัตถุที่เข้าไปมีขนาดเล็ก และอยู่มาแล้วเป็นเวลานาน
  • เกิดการฉีกขาดภายในหู เนื่องจากมีการเสียดสีกันระหว่างหูกับวัตถุ
  • เยื่อแก้วหูทะลุ
  • หูชั้นกลางเสียหาย หากร้ายแรงอาจส่งผลให้สูญเสียการได้ยินถาวร
  • ปวดตามข้อ หรืออาจะเป็นอัมพาตที่ใบหน้า

แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะดูแลลูกเองก็ตาม แต่ก็มีงานบ้านที่ต้องทำจึงต้องให้ลูกเล่นของเล่นเองลำพัง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม พยายามอย่าให้ลูกเล่นเองคนเดียวเป็นระยะเวลานานนะคะ โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เพราะหากคุณพ่อคุณแม่ให้การปฐมพยาบาลไม่ทันหรือรู้ช้าเกินไป อาจส่งผลกระทบด้านลบกับลูกหลายด้านเลยทีเดียว หากรุนแรงอาจถึงขึ้นสูญเสียการได้ยินแบบถาวรเลยทีเดียว