Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ทำไมเด็กถึงติดเกม? ประเด็นที่พ่อแม่ไม่เคยรู้มาก่อน

ทุกคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่ “ยุคดิจิทัล” เต็มตัว หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป อาทิ เรื่องของการการจับจ่ายใช้สอย จากที่เคยเป็น “สังคมเงินสด” กลับกลายเป็น “สังคมไร้เงินสด” ถึงแม้จะยังไม่ 100% แต่ก็ใกล้เข้ามาทุกที

“แล้วนับภาษาอะไรกับเด็กที่เกิดในยุคนี้ล่ะ?”

เราในฐานะคนที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองจะวางแนวทางการสอนลูกอย่างไร? จะห้ามไม่ให้ลูกรู้จักเทคโนโลยีเหล่านี้ดีหรือจะให้รู้จักดี ใจหนึ่งก็ไม่กล้าเพราะกลัวลูกติด โดยเฉพาะเรื่องของเกม

จะว่าไปเรื่องที่เด็กติดเกม มีหลายๆ สำนักได้ออกมาพูดถึงเรื่องนี้กันเยอะมาก ถึงสาเหตุ แนวทางแก้ไข ตลอดจนวิธีการป้องกัน แต่วันนี้ สิ่งที่โน้ตจะนำมาแชร์ให้ฟัง มันเป็น…

“อีกหนึ่งสาเหตุที่ว่าทำไมเด็กถึงติดเกม ที่เชื่อว่าพ่อแม่หลายท่านคิดไม่ถึง”

จากอาจารย์ท่านหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะออกนาม ท่านเป็นอาจารย์สอนอยู่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ท่านได้ให้มุมมองไว้ดังนี้ค่ะ

Youtube : ทำไมเด็กถึงติดเกม? ประเด็นที่พ่อแม่ไม่เคยรู้มาก่อน

ทำไมเด็กถึงติดเกม

สาเหตุโดยทั่วไป มี 3 ด้วยกัน

ครอบครัว

  • พ่อ แม่ หรือผู้ปกครอง ขาดระเบียบวินัยในการเลี้ยงดู ขาดกฎ กติกา และขาดการควบคุมอย่างเคร่งครัด
    ตามใจลูกมากเกินไป
  • มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างลูกกับพ่อแม่ บางครั้งพ่อแม่ใช้อารมณ์กับลูก ไม่มีเวลาให้ลูก
  • ไม่เล่นหรือหากิจกรรมที่น่าสนใจให้ลูกทำ ลูกจะรู้สึกเหงา เบื่อ เด็กก็จะพยายามหากิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ตัวเองสนุก

สิ่งแวดล้อม

  • บางครั้งหากพ่อแม่ต้องการให้เด็กอยู่นิ่ง เพื่อที่ตัวเองจะได้สามารถทำงานอื่นๆ ได้ ก็จะเป็นผู้ที่หยิบยื่นเกมให้ลูกเสียเอง
  • มีการพูดคุยกันเรื่องเกมในกลุ่มเพื่อนที่โรงเรียน จึงทำให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากลอง

ตัวเด็กเอง

เด็กประเภทไหนบ้างที่มีโอกาสติดเกม?

  • เด็กที่อยู่ในภาวะสมาธิสั้น
  • มีความอดทนน้อย หรือขาดความอดทนในบางราย อยากได้อะไรต้องเอาได้ดั่งใจ เดี๋ยวนั้น วินาทีนั้น
  • ขาดการควบคุมตนเอง ไม่รู้จักกับวิธีการจัดการอารมณ์ของตนเอง
  • มีปัญหาอาการซึมเศร้า หรือเครียด
  • เด็กที่ขาดการเคารพในตนเอง (Low Self Esteem)
  • เด็กเหล่านี้จะใช้เกมเข้ามาช่วยแก้ปัญหา เพราะเกมมีความสนุก มีสีสัน มีความท้าทาย

ซึ่งจุดนี้เองยังมีอีกมุมหนึ่งที่โน้ตจะพูดถึงนั่นก็คือ…เรื่องของความพยายาม
จุดหมายปลายทางในการเกมมันจะมีอยู่ 2 อย่างเท่านั้น คือ

เราชนะ กับ เราแพ้ (Game Over)

เมื่อเด็กเล่นชนะ เค้าก็จะดีใจ เพราะนั่นหมายถึงว่า เค้าจะผ่านไปด่านต่อไป ซึ่งในเกมจะมีการบอกเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า Level นี้ต้องทำคะแนนให้ได้เท่าไหร่ เด็กก็จะรู้ได้ว่าเค้าต้อง “ใช้ความพยายาม” มากน้อยแค่ไหนถึงจะผ่านด่านนี้ได้
กลับกันหากเค้าแพ้หรือ Game Over เค้าก็จะต้องใช้ “ความพยายาม” มากขึ้น เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่เกมกำหนด

ชีวิตจริง vs ชีวิตติดเกม

จากหัวข้อที่แล้วในเรื่องของ “ความพยายาม” เด็กที่ชนะในเกมได้เค้าจะเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองว่าเค้าสามารถทำได้ตามเป้าที่เกมกำหนด

“แล้วในชีวิตจริงล่ะ?”
“มันเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตจริงของเด็ก?”
“ทำไมเด็กถึงหันหน้าเข้าหาเกมมากกว่าครอบครัว?”

ในชีวิตจริงหากเด็กๆ ต้องการจะทำอะไรซักอย่าง หรือต้องการจะทำอะไรซักอย่างให้พ่อแม่ภูมิใจ ครั้งหรือสองครั้งแรกพอเด็กทำได้ พ่อแม่ชม หัวใจเด็กๆ ก็จะพองโต ดีใจ แต่มาครั้งหลังๆ เด็กๆ ทำแบบเดิม วิธีการเดิม กลับกลายเป็นโดนพ่อแม่ดุ

ถ้าเป็นแบบนี้ เด็กจะเกิดความสับสน ไปไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะต้องจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร ต้องใช้ “ความพยายาม” มากแค่ไหนถึงจะทำให้พ่อแม่ชมได้

“ในโลกของเกม เด็กยังรู้ว่าต้องใช้ความพยายามมากแค่ไหนถึงจะประสบความสำเร็จ
แต่ในชีวิตจริง เด็กที่โดนพ่อแม่ดุบ่อยๆ ดุบ้างชมบ้างในเรื่องเดิม
เค้าจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าต้องใช้ความพยายามอีกแค่ไหนถึงจะทำให้พ่อแม่ชมเค้า”

ชม vs ดุ ให้เหมือนกันทกครั้ง

สิ่งสำคัญที่จะช่วยเสริมให้เด็กเคารพตัวเองหรือ Self Esteem ได้นั้น ต้องเริ่มที่พ่อแม่ก่อน เริ่มจากเรื่องเล็กๆ ง่ายๆ ก่อน เช่น ถ้าจะดุหรือจะชมลูกในเรื่องไหน ก็ควรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทึกครั้ง ไม่ใช่ว่าวันนี้ลูกทำเรื่องหนึ่ง พ่อแม่ชม พอมาอีกวัน ลูกก็ทำเรื่องเดิม แต่พ่อแม่กลับดุ เป็นต้น อย่างน้อยก็ไม่สร้างความสับสนให้กับลูก

รักลูก…ไม่อยากให้ลูกเห็นเกมดีกว่าครอบครัว เริ่มที่ตัวพ่อแม่ก่อนนะคะ