Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

วิธีแก้ไขลูกอารมณ์ร้อน อารมณ์ร้าย

วิธีแก้ไขลูกอารมณ์ร้อน อารมณ์ร้าย

คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงปวดหัวและเหนื่อยใจ ถ้าลูกมีนิสัยอารมณ์ร้อน อารมณ์ร้าย โวยวายทุกครั้งที่ไม่ได้ดั่งใจหรือมีใครขัดใจ วันนี้โน้ตจะชวนคุณพ่อคุณแม่มามาทำความเข้าใจลูกก่อนที่จะไปในเรื่องของการแก้ไขกันนะคะ

สาเหตุที่ทำให้ลูกอารมณ์ร้อน อารมณ์ร้าย

ก่อนที่เราจะไปเรื่องการแก้ไข โน้ตอยากให้คุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจถึงสาเหตุก่อนนะคะ เพราะสิ่งนี้จะทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจลูกและแก้ปัญหาได้ถูกจุด

ข้อจำกัดเรื่องภาษา

ไม่ว่าจะเป็นวัยทารกหรือเด็กเล็ก เขายังมีข้อจำกัดในเรื่องของภาษา เพราะคลังคำศัพท์หัวยังมีน้อย อยากจะสื่อสารบอกคุณพ่อคุณแม่แต่ก็ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไรให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจ หากเป็นทารกจึงอาศัยการร้องไห้อย่างเดียว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ลูกหงุดหงิดได้

ตอบสนองไม่ตรงจุด

เหตุเพราะข้อจำกัดเรื่องภาษาไม่ว่าจะเป็นเด็กวัยทารกหรือเด็กเล็ก เมื่อเขาสื่อสารออกมาได้ยังไม่ตรงกับที่ใจตัวเองต้องการ คุณพ่อคุณแม่ก็พยายามตอบสนองลูก แต่สิ่งที่ตอบสนองก็ดูเหมือนจะไม่ใช่สิ่งที่ลูกต้องการ ก็ยิ่งกลายเป็นทำให้ลูกยิ่งหงุดหงิดขึ้นอีก

อยากทำบางอย่างแต่ยังทำไม่ได้

อาทิ ลูกอยากผูกเชือกรองเท้าเอง หรือติดกระดุมเสื้อเอง แต่ทำไม่ได้ก็เกิดอารมณ์หงุดหงิด เหตุเพราะความมุ่งมั่นของลูกนั่นเองค่ะ

ต้องการการยอมรับ ต้องการเป็นหนึ่ง

เด็กในวัยนี้ (3-5 ขวบ) เป็นวัยที่ต้องการความรัก ต้องการเป็นหนึ่งเดียว เพราะฉะนั้นเด็กบางคนหากรู้ว่าตัวเองจะมีน้อง เขาก็จะคิดว่าพ่อแม่จะรักเขาน้อยลง เขาจะไม่ได้เป็นคนสำคัญเพียงคนเดียวอีกต่อไป จึงแสดงอาการหึงหวง ไม่พอใจ หรือแสดงอาการหงุดหงิดออกมา

มีความไม่สบายตัว

โดยเฉพาะทารกที่ยังต้องใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ไม่ว่าจะเนื่องด้วยสภาพอากาศ ง่วงนอน หรือความอับชื้น ก็ทำให้ทารกหงุดหงิดได้เช่นกัน

วิธีแก้ไขลูกอารมณ์ร้อน อารมณ์ร้าย

ต้องบอกว่ามีหลาย ๆ ครอบครัวที่เผลอตอบสนองลูกในขณะที่กรีดร้องโวยวาย เพื่อตัดรำคาญ แต่สิ่งนี้จะทำให้ลูกยิ่งเคยตัว เขาจะเรียนรู้ว่า “ถ้าเขาทำแบบนี้ พ่อแม่จะตอบสนองเขาเร็วกว่าเดิม และเขาจะได้ในสิ่งที่เขาต้องการ” แต่วันนี้เราไปดูกันดีกว่าค่ะ วิธีที่ถูกต้องนั้นควรทำอย่างไร

พ่อแม่ตั้งสติก่อน

ก่อนอื่นเริ่มที่ตัวคุณพ่อคุณแม่ก่อนค่ะ ให้คุณพ่อคุณแม่ตั้งสติ สูดลมหายใจเข้าออกลึก ๆ เลย เพราะถ้าคุณพ่อคุณแม่เผลออารมณ์โมโหไปตามลูก จะกลายเป็นภาพจำของลูกว่าคุณพ่อคุณแม่ยังโมโหเลย และลูกก็จะไม่ควบคุมอารมณ์อย่างที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ

ควบคุมลูกด้วยทีท่าที่นิ่งสงบ

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้แล้ว ทีนี้ก็เป็นคราวของลูกบ้าง ให้คุณพ่อคุณแม่บอกลูกให้หยุดพฤติกรรมที่ทำอยู่ ด้วยทีท่าที่สงบ เข้มแข็ง มั่นคง และน้ำเสียงที่ราบเรียบนะคะ ไม่จำเป็นต้องเสียงดังใส่ลูก หรือตะเบ็งแข่งกับลูกนะคะ

เข้าห้ามพฤติกรรมนั้นทันที

ถ้าคุณพ่อคุณแม่พูดแล้ว ลูกยังไม่หยุดพฤติกรรมนั้น ก็จะเป็นที่จะต้องเข้าไปควบคุมพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้นทันที เช่น หากลูกกำลังหยิบของขว้างปาอยู่ ให้คุณพ่อคุณแม่จับแขนลูกให้หยุด แล้วพูดให้ลูกสงบลง

ให้ลูกได้สงบสติอารมณ์

สำหรับบางครอบครัวอาจใช้วิธีให้ลูกนั่งหันหน้าเข้ามุมใดมุมหนึ่งของห้อง (Time-out) แต่สำหรับบางครอบครัวอาจใช้วิธีให้ลูกนั่งสงบสติอารมณ์อยู่ใกล้ ๆ เมื่อลูกสงบสติได้แล้วก็พูดคุยกับลูก โอบกอดลูก (Time-in) แทนก็ได้ค่ะ

พูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล

หลังจากที่ลูกสงบสติอารมณ์ได้แล้ว ให้คุณพ่อคุณแม่เข้าไปพูดคุยกับลูกด้วยท่าทีที่อ่อนโยน และน้ำเสียงที่ราบเรียบ ดังนี้ค่ะ

  • สอบถามลูกว่าเพราะอะไรถึงแสดงพฤติกรรมอย่างนั้น?
  • เพราะอะไรลูกถึงต้องตะโกนหรือตะเบ็งเสียงออกมา?
  • หลังจากตะโกนแล้ว ผลของมันเป็นอย่างไรส่งผลดีหรือไม่ดีอย่างไร?
  • ถ้าลูกมีการทำลายหรือขว้างปาข้าวของ ให้คุณพ่อคุณแม่นำของเหล่านั้นมารวมไว้ และให้ลูกดูไปด้วยกันว่ามีอะไรบ้าง? และถ้าชิ้นไหนซ่อมแซมได้ก็ให้ลูกได้มีส่วนร่วมด้วย
  • ถามความรู้สึกลูกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ดีใจหรือเสียใจที่ได้ทำ? หรือรู้สึกผิดต่อเหตุการณ์นั้นหรือไม่? อย่างไร?
  • ทั้งนี้ เราอย่าลืมว่าทุกคนสามารถโกรธและโมโหได้เหมือนกัน ลูกอาจจะโมโหคุณพ่อคุณแม่ หรือคุณครู เพราะการตีความตามมุมของเด็ก แต่หากลูกตีความผิดไป คุณพ่อคุณแม่สามารถอธิบายให้ลูกเข้าใจถึงเหตุผลที่ถูกต้องได้ และสอนให้ลูกได้แสดงความโกรธอย่างเหมาะสมและพอควร
  • ด้วยความที่ลูกต้องการความเป็นหนึ่ง หากมีการเข้าใจว่า คุณพ่อคุณแม่รักน้องมากกว่า แบบนี้ให้คุณพ่อคุณแม่สามารถอธิบายกับลูกให้เข้าใจตามเหตุผลที่แท้จริง
  • เมื่อลูกรู้แล้วว่าพฤติกรรมนี้ไม่เหมาะสม ให้คุณพ่อคุณแม่และลูกหาข้อตกลงร่วมกันในการจัดการกับพฤติกรรมแบบนี้ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดขึ้นอีก

พฤติกรรมใด ๆ ก็ตามของลูกที่แสดงออกมาอย่างไม่เหมาะสม ก่อนการแก้ไข หากผู้ใหญ่สามารถหาสาเหตุก่อนก็จะเป็นอะไรที่ดีที่สุดค่ะ เพราะเราจะเข้าใจลูกมากขึ้นและสามารถแก้ไขได้อย่างถูกทางและตรงจุดค่ะ