Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

วิธีเลี้ยงลูกให้มีเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์

วิธีเลี้ยงลูกให้มีเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์

ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องถามตัวเองก่อนค่ะว่า เราอยากสอนลูก (แกมบังคับ) ให้ลูกทำตามที่เราสั่งอย่างเดียวจริงหรือ ห้ามพูดอะไรทั้งสิ้น เพราะคุณพ่อคุณแม่คิดและมั่นใจว่าสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่เลือกให้นั้นคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกแล้วแบบนี้จริงหรือ แล้วอย่างนี้ลูกจะฝึกคิด ฝึกวิเคราะห์ และจะเป็นเด็กที่มีเหตุผลได้อย่างไรในอนาคต แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกเป็นผู้นำที่ดี ประสบความสำเร็จในชีวิต ต้องติดตามบทความนี้ค่ะ วิธีเลี้ยงลูกให้มีเหตุผล โต้แย้งบนฐานข้อมูลไม่ใช่เถียงแบบใช้อารมณ์

ทำไมต้องเลี้ยงลูกให้เป็นคนที่มีเหตุผล

การสอนลูกด้วยการให้เหตุผลกับลูกและโยนให้ลูกไปหาเหตุผลมา (ว่าทำไมถึงอยากทำสิ่งนั้นและไม่อยากทำสิ่งนั้น) ก็เพราะ…

“เพราะการอธิบายเหตุผล ที่มาที่ไปให้ลูกได้รู้และเข้าใจ จะทำให้ลูกเป็นเด็กที่รู้จักคิดค่ะ เขาจะรู้ว่าถ้าทำสิ่งนี้แล้วผลคืออะไร ใครได้รับผลกระทบบ้าง”

หลักการในการให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นอย่างถูกต้อง

เพื่อเป็นการฝึกให้ลูกได้คิด การโต้แย้งไม่ใช่โต้เถียง คุณพ่อคุณแม่ลองหันมาทำตามนี้ดูนะคะ

  1. แสดงความคิดเห็นพร้อมกับหาเหตุผลที่ถูกต้องมาสนับสนุนความคิดเห็นนั้น
  2. ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนในความคิดเห็นของคู่ตรงข้าม โดยให้เหตุผลเช่นกัน
  3. รับฟังเหตุผลของอีกฝ่าย
  4. ไม่พูดเสียงดัง ประชดประชัน ไม่ใส่อารมณ์
  5. คุณพ่อคุณแม่ควรลดทิฐิลง และให้คิดเสมอว่าเรากำลังฝึกให้ลูกมีเหตุผล
  6. ไม่มุ่งแต่จะเอาชนะอย่างเดียว แต่ก็ไม่ควรยอมให้ลูกชนะหากยังไม่ได้เหตุผลที่ถูกต้องและเหมาะอย่างเพียงพอ

เกณฑ์การตัดสินก็คือ ใครที่ฟังดูแล้วมีน้ำหนักมากกว่า ถูกต้อง และเหมาะสมมากกว่าก็เป็นผู้ชนะไป ซึ่งถ้าลูกชนะ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรภูมิใจที่ลูกรู้จักการคิดวิเคราะห์ และแยกแยะเหตุผลได้อย่างถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับ

วิธีเลี้ยงลูกให้มีเหตุผล

เป็นต้นแบบที่ดีให้ลูก

ในทุกครั้งที่เวลาครอบครัวเดินทางไปไหนมาไหน ต้องพบปะผู้คนมากมาย ให้คุณพ่อคุณแม่เป็นต้นแบบที่ดีให้แก่ลูก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้เกียรติผู้อื่น การทำความเคารพ และความสุภาพ ซึ่งเมื่อลูกมีแบบอย่างที่ดีอยู่ใกล้ ๆ ลูกก็จะเลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่เองค่ะ

เมื่อพ่อแม่ผิดก็ยอมรับผิด ขอโทษ และปรับปรุง

เป็นผู้ใหญ่แล้วก็ใช่ว่าจะถูกเสมอไป แต่อยู่ที่ว่าเมื่อรู้ตัวว่าเราทำผิดแล้ว เราต้องยอมรับผิด ไม่อ้างโน่น อ้างนี่ ไม่โทษคนอื่น ไม่โทษปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เราทำผิด และควรขอโทษ และปรับปรุงการกระทำ แต่สิ่งที่สำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ควรวางทิฐิลง อย่าให้ทิฐินำชีวิตนะคะ ไม่ว่ากับลูกหรือใครก็ตาม

รักษาสัญญาที่ให้ไว้

เรื่องใดก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่ให้สัญญาไว้กับลูกแล้ว ก็ควรรักษาสัญญาและทำให้ได้ แต่ถ้าหากไม่มั่นใจว่าเราจะทำได้หรือไม่ก็ไม่ควรสัญญาตั้งแต่แรก เพราะจะเป็นการสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีให้ลูกได้ และเมื่อเกิดขึ้นบ่อย ๆ เข้า ลูกจะไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อมั่นในตัวคุณพ่อคุณแม่อีกเลย ซึ่งเรียกกลับคืนได้ค่อนข้างยาก ต้องใช้เวลานาน

รับฟังซึ่งกันและกันเสมอ

เมื่อลูกพูดแล้วคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้รับฟัง จะทำให้ลูกได้เรียนรู้เช่นกันว่า เมื่อเวลาที่คุณพ่อคุณแม่พูด ลูกก็ควรหยุดฟังเช่นกัน หรือถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากพูดหรืออยากเสนอความคิดเห็น ก็ควรรอให้ลูกพูดจบเสียก่อน สิ่งนี้จะทำให้ลูกสัมผัสได้ว่า คุณพ่อคุณแม่ใส่ใจและรักเขาจริง

พ่อแม่ต้องกล้าทำ กล้าลองในสิ่งใหม่ ๆ เสมอ

เพราะ “ความปลอดภัย” เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่กังวล ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับลูก แต่การได้ลองอะไรใหม่ ๆ เป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิตของลูกได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการลองกินอะไรใหม่ ๆ ไปทำกิจกรรมใหม่ ๆ ท่องเที่ยวในสถานที่ใหม่ ๆ เป็นต้น กล้าลองในแบบที่มั่นใจแล้วว่าปลอดภัยนะคะ

การเป็นต้นแบบที่ดีมีผลต่อลูกมากนะคะ พฤติกรรมบางอย่างถูกส่งต่อไปที่ลูกแม้ปราศจากการสอนสักคำ เพราะเด็กในวัยนี้ (3 – 6 ขวบ) เป็นวัยที่ช่างจดจำ และเขาจะดูตัวอย่างจากคนรอบข้างค่ะ ดังนั้น ถ้าเราเป็นต้นแบบที่ดีไม่ว่าจะในเรื่องใด รับรองลูก ๆ ก็จะเป็นลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้นแน่นอนค่ะ