Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

6 วิธีสอนลูกให้รู้จักกับการเชื่อมั่นในตัวเอง

เด็กๆ ต้องการคุณพ่อคุณแม่นำทางและชี้แนะให้เขารู้จักกับการใช้ชีวิตและการเข้าสังคมและหากคุณพ่อคุณแม่ได้เริ่มต้นปลูกฝังให้ลูกได้มีโอกาสรู้จักกับการสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองได้เป็นสิ่งแรกๆ แล้วล่ะก็เชื่อได้เลยว่าจะนำลูกไปสู่ขั้นตอนของการเจริญเติบโตในเรื่องอื่นๆ ได้ไม่ยากเพราะเขามีพื้นฐานของความรักและเชื่อมั่นพร้อมทั้งเห็นคุณค่าในตัวเองติดตัวกันอยู่แล้ว…แล้วควรจะสอนและปลูกฝังลูกอย่างไรดีถึงจะเป็นการนำเขาไปสู่การเชื่อมั่นใจตัวเองที่ถูกต้องมาดูกันได้เลย

เริ่มจากคุณพ่อคุณแม่เชื่อมั่นใจตัวเองกันก่อนแล้วมาเริ่มสอนลูกกันเลย

หลังจากที่คุณพ่อคุณแม่มีความเชื่อมั่นในตัวเองก่อนจะสอนลูกเรียบร้อยแล้วนั้นก็มาทำความเข้าใจกันก่อนว่าศัตรูตัวหลักของการสร้างความเชื่อมั่นใจตัวเองนั่นก็คือความท้อแท้ใจและความกลัวนั่นเอง มีความเป็นไปได้ว่าลูกอาจจะมีสิ่งเหล่านี้อยู่ในใจ จึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องให้กำลังและเข้าใจลูกเพื่อที่จะพาเขาก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ไปได้นั่นเอง

1.เมื่อเห็นถึงความพยายามของลูก…ควรชื่นชมเขา

ไม่มีอะไรมีความสุขไปมากกว่าการที่เราพยายามทำอย่างสุดความสามารถแล้วมีคนมองเห็นพร้อมทั้งชมเชยในสิ่งที่เราทำ มันคือกำลังใจชั้นดีในการสานต่อสิ่งเหล่านั้นให้ก้าวหน้า ไม่ว่าการพยายามเหล่านั้นลูกจะมีผลลัพธ์ออกมาอย่างไรก็ควรให้กำลังใจเขาเพราะสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ให้กำลังใจไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ดีหรือไม่ดีแต่คือการชมในความพยายามของเขานั่นเอง อย่าทำให้เขารู้สึกอายที่กำลังพยายามทำอะไรบางอย่างอยู่แต่ช่วยเขาสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองจะดีกว่าอย่างแน่นอน และสุดท้ายนอกจากความเชื่อมั่นในตัวเองที่ลูกได้มายังมีความพยายามทำสิ่งต่างๆ อย่างไม่ย่อท้อติดตัวลูกมาด้วยอีกข้อหนึ่ง

2.ให้ลูกลองแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเอง

ถ้าเวลาที่ลูกมีปัญหาแล้วเขาก็สามารถได้รับการแก้ไขที่ง่ายดายที่มีคุณช่วยเสมอนี่คือการตัดความเชื่อมั่นในตัวเองของลูกออกไปอย่างช้าๆ จนเมื่อวันที่เขาโตขึ้นแล้วบังเอิญต้องเผชิญปัญหาเพียงคนเดียวอาจจะทำให้เขาเสียหลักได้ง่ายๆ เพราะไม่เคยเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองมาก่อน การที่ยอมปล่อยให้ลูกอยู่กับปัญหาและมีกระบวนการคิดต่างๆ นั้นแม้ว่าอาจจะดูใจร้ายและทรมานใจคุณพ่อคุณแม่อยู่พอสมควรแต่เชื่อได้เลยว่าปัญหาที่เด็กๆ เจอนั้นส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องที่รับได้และแก้ไขได้ซึ่งแต่ต่างจากตอนที่เขาโตขึ้นมาแล้วเจอปัญหาบางทีมันอาจจะเป็นปัญหาที่ใหญ่และทำให้เขาเห็นแต่ทางตันก็เป็นได้ถ้าเขาไม่ได้รับการฝึกฝนเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยตนเองและยังขาดความเชื่อมั่นในตัวเองไปแล้วอีกด้วย

3.ปล่อยให้เขาได้มีพฤติกรรมไปตามวัย

มีในบางครั้งคุณอาจจะปวดหัวกับความซนและพฤติกรรมต่างๆ ของลูกนี่คือเรื่องละเอียดอ่อนที่คุณจำเป็นต้องดูให้แน่ใจว่าพฤติกรรมไหนควรแก้พฤติกรรมไหนคือสิ่งที่เป็นไปตามวัยของเขา เพราะถ้าคุณเหมารวมไปหมดว่าเขามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจนลืมคำนึงถึงพัฒนาการตามวัยของเขาอาจจะทำให้เขากลายเป็นเด็กเก็บกดและมีปัญหาในอนาคตได้ว่าการที่เขาจะทำอะไรจำเป็นที่จะต้องเป็นไปตามกรอบที่คุณพ่อคุณแม่กำหนดจนลืมที่จะเชื่อมั่นในตัวเองไปนั่นเอง

4.กระตุ้นต่อมความอยากรู้อยากเห็นของลูกบ้าง

การที่ต้องได้รับคำถามต่างๆ จากลูกอยู่บ่อยๆ อาจจะทำให้มีความเบื่อหน่ายบ้างในบางครั้งแต่ในความเป็นจริงแล้วคุณควรเปลี่ยนความเบื่อหน่ายนี้ให้กลายเป็นแรงบวกถ้าลูกถามแต่เรื่องเดิมๆ ก็พยายามกระตุ้นให้ลูกอยากรู้อยากเห็นในมุมมองที่แตกต่างออกไป ให้เขาได้มองเห็นเรื่องเดียวกันในมุมมองที่ต่างไปบ้าง เขาจะค่อยๆ เรียนรู้เองว่าเขาจำเป็นที่จะต้องรู้รอบด้านและถามในสิ่งที่สร้างสรรค์และอย่าลืมที่จะชมเขาด้วยหากได้รับคำถามที่ดีจากเขา เพื่อเป็นการเสริมความเชื่อมั่นใจตัวเองให้กับลูกนั่นเอง

5.หลีกเลี่ยงการมีสิทธิพิเศษให้ลูกบ่อยๆ

แม้ว่าลูกอาจจะดีใจเวลาได้สิทธิพิเศษหรือข้อยกเว้นแต่มันกลับเป็นภัยเงียบที่ทำให้ลูกค่อยๆ ขาดความมั่นใจในตัวเองไปอย่างช้าๆ ถ้าเขาไปเจอกับคนอื่นแล้วไม่ได้รับข้อยกเว้นแบบที่เคยเจออาจจะสงสัยว่าทำไมถึงไม่เหมือนกันแล้วสิ่งที่เขาทำไปแบบไหนกันที่ถูกต้องนั่นเอง

6.สอนให้ลูกเข้าใจถึงคำว่าความสำเร็จและความล้มเหลว

ให้เขาโหยหาความสำเร็จมุ่งมั่นและตั้งใจทำโดยที่ไม่กลัวความล้มเหลวและให้เข้าใจไว้ว่าความล้มเหลวคือส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่มีคุณค่าคนที่ได้ทำเท่านั้นถึงจะได้เรียนรู้กับความล้มเหลวให้นำมาเป็นบทเรียนเพื่อผลักดันตัวเองไปข้างหน้า เชื่อได้เลยว่าเจ้าตัวเล็กของคุณก็คงฟังสิ่งเหล่านี้แล้วกระพริบตาปริบๆ ไม่ได้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งแต่นี่คือสิ่งที่ควรปลูกฝังให้ค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในความคิดของลูกเพื่อที่การใช้ชีวิตและเติบโตขึ้นของเขาจะค่อยๆ นำแนวคิดนี้ไปปรับใช้และเรียนรู้ที่จะเชื่อมั่นในตัวเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างมั่นคง