Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เริ่มสอนภาษาให้ลูกน้อยเมื่อใด

เริ่มสอนภาษาให้ลูกน้อยเมื่อใด

คุณแม่หลายท่านคงกำลังคิดถึงพัฒนาการด้านภาษาของลูกน้อยกันแล้ว แต่อาจยังคงไม่มั่นใจเรื่องพัฒนาการด้านภาษาของลูกว่าลูกน้อยนั้นมีความสามารถเท่าใด คุณแม่จะต้องเริ่มช่วยพัฒนาการด้านภาษาลูกตั้งแต่เมื่อใด สิ่งใดบ้างที่เหมาะจะสอนลูกน้อยให้เข้าใจภาษา

เด็กสามารถรับรู้เสียงตั้งแต่ในครรภ์ของแม่ เพราะเสียงของแม่จะเป็นเสียงที่ทารกได้ยินชัดเจนที่สุด เมื่อลืมตาดูโลกก็จะสามารถแยกแยะเสียง ภาษาของแม่ และภาษาอื่น ๆ ได้ เด็กที่เกิดในครอบครัวสองภาษาจะมีความได้เปรียบกว่าเด็กที่เกิดในครอบครัวภาษาเดียว ดังเช่น

ความสามารถ

เมื่อก้าวเข้าสู่สังคมโรงเรียนเด็กที่ได้สองภาษาจะใช้ความรู้ความสามารถได้อย่างเต็มที่ พร้อมรับความรู้ใหม่ ๆ เสมอ ต่างจากเด็กที่ได้รับภาษาเดียว เด็กจะเริ่มภาษาได้ช้ากว่า

บุคลิกภาพ

หากต้องเริ่มต้นเรียนภาษาที่สองในโรงเรียน เด็กที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาที่สองจะขาดความมั่นใจ ในขณะที่เด็กสองภาษาจะสามารถตอบคำถามได้อย่างมั่นใจ

ด้านสังคม

เมื่อได้ภาษาที่สองเป็นอย่างดี อาจเป็นการเปิดโลกสังคมใหม่ ๆ วัฒนธรรม ภาษาอื่น ๆ และเพื่อนต่างชาติ ซึ่งจะไม่เป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับลูก

หน้าที่การงาน

อนาคตการสื่อสารภาษาเดียวอาจจะน้อยเกินไป การที่มีภาษาที่สองจะเป็นการช่วยส่งเสริมหน้าที่การงานในอนาคตของลูก เพราะไม่ว่าการไปสมัครงานที่ใดภาษาที่สองจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ในองค์กรต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถด้านภาษา

เริ่มสอนภาษาให้ลูก โดยไม่ต้องรอให้ลูกอายุใกล้เข้าโรงเรียน การสอนภาษาที่หนึ่ง และภาษาที่สองเริ่มได้ตั้งแต่ยังทารกแรกเกิดจากการพูดคุยเป็นประจำ อายุที่ควรเริ่มสอนภาษาที่สอง คือ อายุ 6 – 12 เดือน และสอนลูกต่อจนเมื่อเข้าโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกน้อยเองได้ที่บ้าน โดย

ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน

วิธีนี้เป็นวิธีที่สร้างความคุ้นเคยในการแยกแยะภาษาให้ลูกง่าย ๆ เช่น คำทักทาย สวัสดีตอนเช้า (Good morning) หรือ ข้าว (rice) โดยคุณพ่อคุณแม่สลับกันพูดภาษาไทย และภาษาอังกฤษ สอนให้ลูกฝึกพูดตามช้า ๆ จะทำให้ลูกจดจำได้พร้อมกันสองภาษา

เพลง

เสียงเพลงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เด็ก ๆ สนใจ ทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ลูกได้จดจำตัวอักษรตามเพลงพร้อมภาพประกอบ คำศัพท์ใหม่ ๆ ที่ประกอบไปพร้อมภาพการ์ตูน เพิ่มความสนุกสนานให้ลูก ทั้งยังให้ลูกได้ฝึกพูดตามได้

จัดหมวดหมู่

จัดกลุ่มคำศัพท์ที่จะสอนในแต่ละวัน เช่น กลุ่มอักษรภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ตัวเลข สี ผลไม้ ผัก สัตว์ต่าง ๆ ร่างกาย ศัพท์คำกริยาให้แสดงท่าทาง โดยการสอนอาจจะสอนหมวดใดหมวดหนึ่ง 1 – 2 วัน เพื่อให้ลูกได้ทบทวน และจำคำที่ไม่ได้

เกม

เอากลุ่มคำศัพท์มาเล่นเป็นเกม เช่น จับคู่ภาพ ทายคำ โดยเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ได้สอนคำศัพท์นั้น ๆ มาแล้ว ซึ่งจะสร้างความสนุกสนาน และให้ลูกได้ทบทวนไปในตัว

การสอนภาษาให้ลูกไม่ควรรอจนลูกรู้ความก่อน เพราะอาจจะทำให้การพัฒนาด้านภาษาไม่เท่ากับเด็กรุ่นเดียวกันที่ได้รับการสอนภาษาตั้งแต่ 6 – 12 เดือน จึงควรเริ่มให้ลูกได้ฝึกภาษาก่อนอายุ 3 ขวบ

ของเล่นเสริมพัฒนาการด้านภาษา

  1. ทารกแรกเกิด – 6 เดือน ของเล่นที่เสริมสติปัญญา คือ นิทานหนังสือภาพ โดยคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้อ่านให้ลูกฟัง หากสามารถมีสองภาษาได้ยิ่งดี
  2. วัย 6 – 12 เดือน วัยนี้ลูกสามารถหยิบจับสิ่งของได้แล้ว หนังสือภาพยังเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณอ่านให้ลูกฟัง และให้ลูกเปิดหน้าหนังสือ ฝึกออกเสียงตามได้ บล็อกตัวอักษรเพื่อให้ลูกหยิบจับตัวอักษรให้ถูกต้อง
  3. วัย 1 – 2 ขวบ ของเล่นรูปทรงเรขาคณิต หนังสือภาพ บล็อกต่อตัวอักษร ของเล่นที่มีตัวอักษรอยู่ในของเล่น หรือมีรูปสิ่งของในของเล่น ดินน้ำมัน หรือสมุดภาพระบายสี ซึ่งเป็นการฝึกทั้งสติปัญญา และความคิดสร้างสรรค์
  4. วัย 2 – 3 ขวบ ฝึกการเรียนตัวอักษรที่ถูกต้อง ฝึกการคิดแก้ปัญหา เรียงสี ขนาด รูปทรง ในกลุ่มเดียวกัน บวกลบตัวเลข หรือสิ่งของจำนวนง่าย ๆ เล่นของเล่นเรียนแบบชีวิตจริง เช่น เด็กผู้หญิงเล่นของเล่นหันผลไม้ หรือทำอาหาร เด็กผู้ชายเล่นต่อจิ๊กซอว์ เลโก้

ของเล่นเด็กมาคู่กับทักษะการเรียนรู้การพัฒนาด้านภาษา และความคิดสร้างสรรค์ คุณพ่อคุณแม่จึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสอนลูกวัยก่อนวัยเรียน ให้ลูกมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ เท่าเทียมเด็กคนอื่น ๆ การเข้าร่วมในการเล่นกับลูกยังสร้างความสนุก ความสนิทสนม จากการถามตอบ ร่วมเล่นเกม สอน และชี้แนะให้ลูก ทั้งยังฝึกให้ลูกมีความมั่นใจกล้าแสดงออกเช่นกัน และคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมคำชมเชยให้ลูกทุกครั้ง เพราะนั้นจะเป็นกำลังใจต่อลูกให้ลูกได้มีความภูมิใจ