เรื่อง “พัฒนาการที่ดีของลูก” เป็นสิ่งที่พ่อแม่ใส่ใจมากเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งในปัจจุบันเราจะพบว่ามีหลายๆ ครอบครัวที่นิยมส่งเสริมให้ลูกได้เรียนวิชาดนตรีเพิ่ม แสดงว่า “ดนตรี” มีส่วนส่งเสริมได้จริง แต่เอ๊ะ…จะส่งเสริมด้านใดบ้าง เราไปดูกันเลยค่ะ
ดนตรีกับพัฒนาการของเด็กปฐมวัย
พื้นฐานพัฒนาการของเด็กตามวัย โดยทั่วไป มีดังนี้
วัย 2 – 5 ขวบ
เป็นวัยที่มีความคิดเป็นของตนเอง มีความเป็นเป็นตัวของตัวเองสูงมาก ชอบทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ไม่ชอบการบีบบังคับ
วัย 4 – 7 ขวบ
เป็นวัยที่เริ่มมีความคิดสร้างสรรค์ ชอบค้นหาสิ่งแปลกใหม่
ดังนั้น ดนตรีจึงเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยส่งเสริมการกล้าแสดงออก ความมั่นใจ และความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี เด็ก ๆ จะได้สนุกกับการคิดท่าเต้น หรือเรียนท่าเต้นใหม่ ๆ กล้าแสดงออกผ่านการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระ เพื่อประกอบกับดนตรี การร้องเพลงก็เช่นกัน เมื่อเด็ก ๆ มีพื้นฐานทางดนตรี เขาจะสามารถสร้างเนื้อร้องเองได้ และแต่งเพลงเองได้ ซึ่งเป็นความสามารถด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้อย่างหนึ่ง
ดนตรีกับการพัฒนาสมอง
ลูกชอบเสียงร้องเพลงของแม่ มากกว่าเสียงพูด
“พัฒนาการด้านการฟัง” นับเป็นพัฒนาการด้านแรกๆ ของลูก เพราะตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้อง เค้าจะสามารถได้ยินเสียงที่เราสื่อสารออกไปได้ตั้งแต่ช่วง 16 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์
ในวัยทารกเค้าจะมีความชื่นชอบเสียงเพลงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ลูกสามารถรับรู้เสียงสูง-ต่ำได้ดี รวมไปถึงสามารถแยกเสียงพูดและเสียงร้องเพลงของแม่ออกจากเสียงผู้หญิงคนอื่นๆ ได้ดีอีกด้วยค่ะ
หากคุณแม่มีการกระตุ้นพัฒนาการด้านการฟังของลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง หลังคลอดแล้ว 3 สัปดาห์ ลูกจะสามารถตอบสนองได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่คุณแม่ปลอบหรือร้องเพลงให้ลูกฟัง ลูกจะรู้สึกสงบและผ่อนคลาย
“ดนตรี” ช่วยสร้างเสริมทักษะในด้านต่างๆ ได้ ไปดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง
ความสามารถในการรับรู้และความสามารถทางภาษา
ครอบครัวไหนที่ต้องการให้ลูกมีพัฒนาการด้านการรับรู้และมีความสามารถทางภาษาที่ดี “การเล่นดนตรี” เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สามารถกระตุ้นทักษะด้านนี้ได้ดีและส่งผลไปถึงการอ่านก็จะทำได้ดีเช่นกัน เนื่องจากเสียงและคำพูดมีระบบการทำงานร่วมกัน และต้องทำควบคู่กันไป การเล่นดนตรีบ่อยๆ จึงช่วยฝึกเรื่องการถอดเสียงและถอดรูปแบบคำต่างๆ ยิ่งถ้าให้ลูกได้เล่นดนตรีนานเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้สมองด้าน “ภาษาศาสตร์” ถูกกระตุ้นและได้รับการพัฒนาไปด้วย โดยสังเกตได้จากลูกจะจำคำศัพท์ได้ดีและมีทักษะการอ่านที่ดีค่ะ
ทักษะด้านคณิตศาสตร์
“ทักษะการคำนวณที่ดีสร้างได้ด้วยการเล่นดนตรี”
มีงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกาได้ทดลองแบ่งเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ออกเป็น 2 กลุ่ม พบว่า เด็กกลุ่มที่มีประสบการณ์การเล่นดนตรีมากกว่า 2 ปีขึ้นไป สามารถทำคะแนนทดสอบวิชาคณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐานได้ดีกว่าเด็กที่ไม่เคยเล่นดนตรีมาก่อน
นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กในกลุ่มที่เล่นดนตรีนั้น คนที่เล่นคีย์บอร์ดสามารถทำคะแนนได้สูงกว่าเด็กที่เล่นเปียโนหรือร้องเพลงอย่างเดียว
พัฒนาการด้านสติปัญญา
มหาวิทยาลัยโตรอนโตแห่งแคนาดาได้ทดลองแบ่งเด็กออกเป็น 4 กลุ่ม โดย 2 กลุ่มแรกให้เรียนคีย์บอร์ดและร้องเพลงไปด้วย5 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 7 เดือน อีก 2 กลุ่มให้ทำกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่การเล่นดนตรี
พบว่า ทั้ง 4 กลุ่มมีไอคิวที่ดีขึ้นตามพัฒนาการ แต่สิ่งที่แตกต่างคือ เด็กกลุ่มที่เล่นดนตรีมีไอคิวเพิ่มขึ้นถึง 7 จุด ขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้เล่นดนตรีมีไอคิวสูงขึ้น 4.3 จุด
ที่สำคัญ “เด็กที่เล่นคีย์บอร์ดมีพัฒนาการด้านสติปัญญาที่ดีกว่าเด็กที่เล่นเปียโนและร้องเพลง”
พัฒนาการด้านร่างกาย และมีสุขภาพดี
ประโยชน์ของ “การเล่นดนตรี” ไม่ใช่แค่ดีเฉพาะเรื่องภาษาและสติปัญญาดีเท่านั้นนะคะ แต่ยังดีต่อร่างกายค่ะ จากการทดสอบทางวิทยาศาสตร์พบว่า ในวัยก่อนเข้าเรียนการเล่นดนตรีส่งผลที่ดีต่อร่างกายพอๆ กับการเล่นพละเลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังพบว่าการร้องเพลงส่งผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน หัวใจ การหายใจและการทำงานของปอด ช่วยปรับท่าทางและสรีระร่างกายให้ดีขึ้น ช่วยลดความตึงเครียดได้อีกด้วยนะคะ
การพัฒนาตนเองและทักษะด้านสังคม
ด้านการพัฒนาตนเอง เด็ก ๆ จะรู้สึกประสบความสำเร็จจากการมุ่งมั่นและอดทน เพราะกว่าจะเล่นเป็นเพลงได้ เด็ก ๆ จะต้องอาศัยการฝึกซ้อม ต้องใช้เวลากว่าจะทำได้ ซึ่งนับเป็นการสร้างวินัยในตนเองไปในตัว เมื่อทำได้สำเร็จ เด็กๆ จะเกิดความภูมิใจ มั่นใจในตัวเอง และกล้าแสดงออก
ทักษะด้านสังคม เพราะการเล่นดนตรี เด็กๆ จะต้องมีการเล่นร่วมกับคนอื่นๆ เป็นการสร้างมิตรภาพ ได้เรียนรู้การเข้าสังคม การทำงานเป็นทีม มีระเบียบวินัย และมีความรับผิดชอบ
ดนตรีแบบไหนที่เหมาะสมสำหรับเด็ก
ไม่ใช่ว่าเพลงทุกเพลงจะเหมาะกับเด็กไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา หรือจังหวะ แต่เพลงเด็กควรเป็นเพลงหรือเป็นดนตรีที่เด็กสามารถแสดงออกได้ตามความพร้อม การรับรู้ และตามการสนใจของเด็ก เด็ก ๆ ถึงจะรู้สึกสนุกและอยากมีส่วนร่วม ซึ่งเพลงหรือดนตรีที่เหมาะกับเด็ก ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
เพลงที่มีองค์ประกอบที่ดี
จังหวะของดนตรีควรเป็นจังหวะที่ไม่เร่งรัดเกินไป ไม่กระแทกกระทั้น ตะโกน ไม่รุนแรง และมีเนื้อร้องที่ดี ไม่หยาบคาย
เพลงที่มีความสดใสและจริงใจ
เนื้อเพลงควรมีความเหมาะสมกับเด็ก อาทิ เนื้อเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมชาติ สัตว์ บ้าน และสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่เด็กสัมผัสได้ ไม่ควรเลือกเนื้อเพลงที่มีเรื่องราวห่างจากตัวเด็กหรือมีเนื้อหาที่โตกว่าจนเด็กไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะเหล่านี้จะส่งผลต่อความคิดและจิตใจที่บริสุทธิ์ของเด็ก
เพลงที่ส่งเสริมจริยธรรมพื้นฐานของมนุษย์
เช่น เพลงที่ส่งเสริมด้านการเป็นเด็กดี ความซื่อสัตย์ ความรัก ความสามัคคี และการมีน้ำใจ เป็นต้น
เพลงที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
เช่น เพลงแปลงกายเป็นสัตว์หรือสิ่งของต่าง ๆ เช่น ให้แปลงเป็นสิงโต เป็นหนู เด็ก ๆ ก็จะทำท่าสิงโตขู่คำราม เป็นต้น ซึ่งเพลงแนวนี้จะไม่มีถูกหรือผิดในการแสดงออก เพียงแต่เป็นการฝึกทางด้านกระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น
ดนตรีนอกจากจะให้ความบันเทิงแล้วยังช่วยในเรื่องการพัฒนาสมองของลูกน้อยได้อย่างดีอีกด้วย ได้ฝึกสมาธิและด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพราะ “การเล่น ก็คือการเรียนรู้อย่างหนึ่ง”