การที่ลูกเล่นคนเดียว นั่งพูดอยู่คนเดียว โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในวัยอนุบาล ไม่ได้หมายความว่าลูกบ้าไปแล้วนะคะ และไม่ได้มีอาการผิดปกติทางจิตแต่อย่างใด เพียงแต่การที่ลูกชอบพูดคนเดียวนั้นนั่นเป็นเพราะว่าเค้าพูดกับ “เพื่อนในจินตนาการ” ค่ะ
สารบัญ
สาเหตุ ลูกชอบพูดคนเดียว
“เพื่อนในจินตนาการ” สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคนโดยเฉพาะเด็กในวัยก่อน 7 ปี ซึ่งเป็นวันที่เริ่มมีการเรียนรู้และเข้าใจในภาษามากขึ้น สามารถใช้สื่อสารกับคนอื่น ๆ ได้ เพื่อนในจินตนาการมีความสำคัญ ดังนี้
ให้ความรู้สึกอุ่นใจ
โดยเฉพาะในสถานที่ใหม่ ๆ ลูกต้องเผชิญกับสังคมและสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ เป็นธรรมดาที่ลูกจะมีความกังวลหรือความกลัว (ผู้ใหญ่ก็เช่นกัน เพียงแต่สามารถควบคุมความรู้สึกได้ดีกว่าเด็ก) ซึ่งการสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมาจะทำให้ลูกรู้สึกอุ่นใจมากขึ้น อาจเป็นการเอาตุ๊กตาหรือของเล่นคู่ใจไปด้วยเมื่อต้องนอนต่างที่ต่างถิ่น
สามารถเป็นเพื่อนได้ในแบบที่ลูกต้องการ
ลูกต้องการเพื่อนที่สามารถพูดคุยหรือเล่นได้ โดยที่ไม่ขัดความต้องการของเขา จะไม่เหมือนเพื่อนหรือคุณพ่อคุณแม่ที่อาจมีความคิดไม่ตรงกับลูกในบางเรื่อง การที่มีเพื่อนในจินตนาการจะทำให้ลูกรู้สึกว่าเขามีอำนาจควบคุมคนอื่นได้แม้ในบางเวลา
ช่วยลดทอนความเหงา
โดยเฉพาะเด็กที่เป็นลูกคนเดียว หรือเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม การสร้างเพื่อนในจินตนาการก็จะช่วยลดความเหงาให้เด็กได้
เป็นเครื่องมือเรียกร้องความสนใจ
เพราะลูกเรียนรู้ว่าถ้าเขาคุยคนเดียวแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่จะหันมาสนใจเขา
รู้สึกว่ามีใครคอยอยู่เคียงข้าง
เมื่อเด็กต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายหรือทำให้เกิดความกังวล การมีเพื่อนในจินตนาการอย่างตุ๊กตาหรือของเล่นชิ้นโปรดก็ทำให้เขารู้สึกอุ่นใจ มีกำลังใจขึ้นมาได้
พ่อแม่ทำอย่างไรเมื่อลูกพูดคนเดียว
การที่ลูกชอบพูดคนเดียวถือเป็นเรื่องดีนะคะ เพราะเด็กจะได้รับประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าในเรื่องของพัฒนาการด้านภาษา เด็กจะได้ฝึกภาษา ฝึกเรื่องของการสื่อสารไปในตัว ช่วยในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ และที่สำคัญ สิ่งนี้จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้รู้ว่าลูกกำลังคิดอะไร และรู้สึกอย่างไรอยู่ เมื่อใดก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีการพูดคุยกับเพื่อนในจินตนาการให้ปฏิบัติ ดังนี้ค่ะ
อยู่ห่าง ๆ อย่างไม่ต้องห่วง
เรื่องที่ลูกชอบพูดคนเดียวนี้เป็นเรื่องปกติค่ะ คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องห่วงหรือกังวล แต่ให้คอยสังเกตพฤติกรรมอยู่ห่าง ๆ ห่วงนิด ๆ พอ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มสังเกตเห็นว่าลูกเริ่มใช้ความรุนแรงกับเพื่อนในจินตนาการบ่อย ๆ ให้สันนิษฐานได้เลยว่าลูกอาจมีความเครียด มีความเก็บกด หรือถูกกระทำรุนแรงอะไรบางอย่างมา จึงแสดงออกกับเพื่อนในจินตนาการเช่นนี้
ปรามลูก หากเห็นว่าลูกเริ่มใช้เพื่อนในจินตนาการสร้างปัญหา
เด็กบางคนทำผิดมา รู้ว่าตัวเองทำผิดแต่ไม่กล้ายอมรับผิด โดยปัดไปว่าเพื่อนในจินตาการเป็นคนทำ แบบนี้แสดงให้เห็นว่าลูกโกหก ซึ่งถ้าคุณแม่ไม่ปรามลูกก่อน อาจเป็นการปลูกฝังนิสัยการโกหกให้ลูกได้ แต่การที่จะให้ลูกพูดความจริงนั้น คุณแม่ต้องค่อย ๆ พูดคุยกับลูกอย่างอ่อนโยนนะคะ ถ้าลูกไม่พร้อมที่จะบอกคุณแม่ ณ ตอนนั้น ก็ไม่ต้องบังคับเขา ลองทิ้งระยะซัก 2 – 3 ชั่วโมงแล้วค่อยมาคุยกันใหม่
ให้ความรักกับลูก กอดลูก
คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมลูกเมื่อลูกชอบที่จะอยู่กับเพื่อนใจจินตนาการมากกว่าคุณพ่อคุณแม่ เพราะการที่ลูกสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมาแสดงว่าเขาเหงา ขาดความรัก ขาดคนคอยใส่ใจ ขาดคนคอยอยู่เคียงข้าง ถ้าเป็นแบบนี้คุณพ่อคุณแม่ควรแบ่งเวลาให้ดี และให้เวลาลูกมากขึ้น เล่นกับเขามากขึ้น พูดคุยกันมากขึ้น ถามไถ่ลูกว่ามีอะไรที่ไม่สบายใจหรือเปล่า เพื่อการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด และที่สำคัญ รักลูก กอดลูกนะคะ
การที่ลูกชอบพูดคนเดียวถือเป็นเรื่องปกติของเด็กในวัยนี้ (ช่วงอายุ 2 – 7 ปี โดยประมาณ) แล้วก็จะค่อย ๆ หายไปเองเมื่อโตขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญ ของเล่นของลูกที่ดีที่สุดของลูกคือ คุณพ่อคุณแม่ค่ะ อย่าลืมแบ่งเวลามาให้ลูกบ้างนะคะ
ข้อมูลอ้างอิง happymom.in.th