Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกคนเดียว ไม่มีเพื่อนเล่น เลี้ยงอย่างไรไม่ให้ลูกเหงา

ลูกคนเดียว ไม่มีเพื่อนเล่น เลี้ยงอย่างไรไม่ให้ลูกเหงา

ด้วยพื้นฐานฐานะของครอบครัวและสังคมในปัจจุบัน เอื้อต่อความคิดที่ว่า “มีลูกคนเดียวพอแล้ว” เป็นอย่างมาก มีลูกมาก ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ถ้ามองในแง่ของจิตใจลูก ร้อยทั้งร้อยคุณพ่อคุณแม่ก็แอบห่วงว่ามีลูกคนเดียว ไม่มีเพื่อนเล่น เขาจะเหงาไหม? วันนี้เรามีเทคนิคในการเลี้ยงลูกคนเดียวไม่ให้ลูกเหงามาฝากค่ะ

ให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่ลูกชอบ

ให้คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตลูกนะคะ ว่าเขาชอบทำกิจกรรมอะไร หรือมีความสนใจในด้านไหน เพื่อส่งเสริมลูกให้ไปในด้านนั้น อาทิ ร้องเพลง เล่นดนตรี วาดรูป หรือกีฬา เป็นต้น เมื่อลูกได้เข้าคอร์สนั้น ๆ ได้ทำในสิ่งที่เขาชอบ พร้อมกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกันหรือใกล้เคียงกันลูกก็จะรู้สึกสนุก

แต่ประเด็นใหญ่ที่ทำให้หลายครอบครัวไม่ได้ให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่เขาชอบก็คือ คำถามที่ว่า “ลูกจะเรียนได้สักกี่น้ำ?” เพราะพ่อแม่กลัวลูกไม่ได้ชอบจริง ๆ ต้องเลิกเรียนกลางคัน แล้วเสียเงินเรียนฟรี ซึ่งความจริงแล้วในบางอย่างถ้าไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงเกินไป ก็สมควรส่งเสริมลูกนะคะ อย่างน้อยก็เป็นการส่งเสริมลูกให้เขาได้ค้นพบตัวเองเร็วขึ้น เพราะปัญหาของเด็กในทุกวันนี้คือ แม้เรียนในระดับปริญญาตรีจบแล้วก็ยังหาตัวตนไม่เจอ

ทำกิจกรรมจิตอาสา

เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะช่วยปลูกฝังให้ลูกได้รู้จักการเสียสละ มีน้ำใจ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เช่น เริ่มจากกิจกรรมที่บางบริษัทจัดขึ้นก็ได้ค่ะ เช่น การปลูกป่า หรือการพาไปทำบุญ หรือไปช่วยกันความสะอาดลานวัด เป็นต้น

รักลูกในแบบที่ไม่คาดหวัง

เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่มีลูกคนเดียวก็เป็นธรรมดาที่เราจะมอบความรัก ความคาดหวังต่าง ๆ นานาไว้กับลูก เอาจริง ๆ จะบอกไม่คาดหวังเลยก็คงจะยาก อย่างน้อยคุณพ่อคุณแม่ก็หวังอยากให้ลูกเป็นเด็กดีกันทั้งนั้น เพียงแต่ความคาดหวังของคุณพ่อคุณแม่นี้ ต้องไม่ใช่อะไรที่ทำให้ลูกหนักใจหรืออึดอัดใจ เพียงแค่เราสอนลูกในสิ่งที่ถูกต้อง ยอมรับในความสามารถของลูก ชื่นชมเมื่อลูกทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่เอาความคิด ความคาดหวังของเรามากำหนดอนาคตลูก

เข้าสังคมกับเพื่อนวัยเดียวกัน

ถ้ามีโอกาส คุณพ่อคุณแม่ควรหาเวลาให้ลูกได้เข้าสังคมกับเด็กในวัยเดียวกัน เพื่อที่ลูกจะได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่น การแบ่งปัน รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น รวมไปถึงการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ที่สำคัญ ลูกจะได้เรียนรู้ในเรื่องการปฏิเสธในสิ่งที่ควรปฏิเสธ ได้เรียนรู้เรื่องสิทธิของตัวเอง และสิทธิของผู้อื่น

เรื่องสิทธิของตัวเอง และสิทธิของผู้อื่น เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก จริง ๆ เรื่องนี้มีมานานแล้ว เพียงแต่ในสังคมไทยจะเริ่มเห็นได้ชัดเจนขึ้นก็เนื่องมาจากโลกของโซเชียลในปัจจุบัน ที่มีหลายต่อหลายคนถูกฟ้องในเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากขึ้น ดังนั้น ควรสอนให้ลูกรู้จักในเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก ๆ และลูกเองก็จะได้ไม่ถูกเอาเปรียบจากคนอื่นได้ง่าย ๆ

อย่าให้ลูกมากเกินไป

เข้าใจค่ะว่าคุณพ่อคุณแม่มีลูกคนเดียว ถ้าไม่ให้ลูกคนนี้แล้วจะไปให้ใคร แม่โน้ตก็มีลูกคนเดียวเหมือนกันค่ะ “การให้มากไป” ในที่นี้หมายถึง ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ และของเล่น อย่าลืมว่าสิ่งที่ลูกอยากได้คือ เวลาที่มีคุณภาพจากคุณพ่อคุณแม่มากกว่า

วางตัวให้เหมาะสม

ด้วยความที่กลัวลูกเหงา ก็เป็นเพื่อนเล่นกับลูก แต่ต้องระวังว่าการที่มีเขาเป็นลูกคนเดียว จะทำให้ลูกกลายเป็นว่าอยากจะทำอะไรกับคุณพ่อคุณแม่ก็ได้ ซึ่งหมายรวมถึงการข้ามเส้นส่วนตัวเข้ามาในโลกของผู้ใหญ่ ซึ่งถ้าเขามีพฤติกรรมเช่นนี้ติดตัวไปจนโต และกลายเป็นนิสัย เขาจะกลายเป็นคนที่ไม่รู้จักเคารพความเป็นส่วนตัวของคนอื่น กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่น่าคบ

ฝึกลูกให้พึ่งพาตัวเอง

เริ่มได้ง่าย ๆ จากการฝึกให้ลูกได้ทำกิจวัตรประจำวันของตัวเองก่อน เช่น การแปรงฟัน การสวมเสื้อผ้าเอง ใส่ถุงเท้า รองเท้าเอง เป็นต้น เมื่อโตขึ้นมาหน่อยก็ให้ฝึกพับผ้าห่มเอง อาบน้ำเอง เก็บจาน เก็บช้อนเอง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกสามารถพึ่งพาตัวเองได้เมื่อเขาโตขึ้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่เองก็คงต้องกลับบ้านเก่าไปตามระเบียบ มันเป็นสัจธรรม

แม่โน้ตก็มีลูกคนเดียวค่ะ แรก ๆ ก็กังวลเหมือนกันว่าลูกจะเหงาไหม แต่ความจริงแล้วเราก็เล่นกับเขาบ้าง ปล่อยให้เขาอยู่ในโลกส่วนตัวของเขาบ้างสลับกันไป แต่ที่สำคัญคือ เราอยู่กับลูก “เราเข้าใจลูกมากแค่ไหนต่างหาก” เพราะถ้าเราเข้าใจลูก ในทุกวินาทีที่เราอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวจะเป็นช่วงเวลาคุณภาพ เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากที่สุด ซึ่งความรัก ความอบอุ่นนี้จะช่วยลดทอนความเหงาของลูกลงได้มากทีเดียว หรือบางทีคำว่า “เหงา” อาจไม่มีในพจนานุกรมของลูกคนเดียวเลยก็เป็นได้