Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกต่อต้าน แพทย์ระบุ 8 สัญญาณเตือน เกิน 3 ขวบ เสี่ยงโรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน

ลูกต่อต้าน แพทย์ระบุ 8 สัญญาณเตือน เกิน 3 ขวบ เสี่ยงโรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน

จากผลสำรวจในปี 2559 พบว่าเด็กไทยอายุราว 3 ขวบ เป็นโรคดื้อต่อต้าน หรือพฤติกรรมโรคดื้อต่อต้านโดยมีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ และหากพบว่าลูกเข้าข่ายควรพาลูกไปปรึกษาจิตแพทย์ทันที

ลูกต่อต้าน โรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ออกมาระบุว่า “โรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน (Oppositional Defiant Disorder)” นั้น คือการที่เด็กมีความผิดปกติด้านพฤติกรรม มีนิสัยที่ดื้อ ต่อต้าน ไม่ฟังคุณพ่อคุณแม่ ไม่ทำตามกฎระเบียบ มีอารมณ์ที่รุนแรง หงุดหงิดง่าย ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนเพราะเด็กเหล่านี้มีระดับการต่อต้านที่มากเกินกว่าเด็กทั่วไป และมักจะสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นเป็นประจำ

สถิติผู้ป่วยโรคดื้อต่อต้านทั่วประเทศ

กรมสุขภาพจิตได้ทำการสำรวจสุขภาพจิตของเด็กในช่วงอายุ 13 – 17 ปี ครั้งล่าสุดในปี 2559 พบว่าเด็กป่วยเป็นโรคดื้อต่อต้านร้อยละ 2 หรือประมาณ 80,000 คนทั่วประเทศ โดย

  • เด็กชาย พบได้ร้อยละ 2.3
  • เด็กหญิง พบได้ร้อยละ 1.7

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้น คือความเชื่อของคุณพ่อคุณแม่ที่ว่า…

  • ปล่อยเด็กไปตามธรรมชาติ เดี๋ยวก็ดีขึ้นเอง
  • ไม่อยากขัดใจลูก เพราะกลัวลูกเครียด กลัวลูกหนีออกจากบ้าน
  • ใช้การลงโทษที่รุนแรง เพราะคิดว่าน่าจะเป็นการช่วยดัดนิสัยได้
  • ส่งไปอยู่กับญาติ หรือโรงเรียนประจำ เพื่อดัดนิสัย

ซึ่งความเชื่อทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นการช่วยให้พฤติกรรมลูกต่อต้านนั้นดีขึ้นเลย กลับกันมีแต่จะแย่ลง ดังนั้น ทางที่ดีแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่โทรเข้าไปปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชม. แม้ว่าโรคนี้ยังไม่มียารักษาโดยตรง แต่การที่เด็กได้ระบาย และมีคนที่รับฟัง พร้อมให้คำแนะนำที่ถูกต้องก็เป็นการปรับลดพฤติกรรมการดื้อต่อต้านได้ และอาจนำไปสู่การหายป่วยได้ค่ะ

สาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นโรคดื้อต่อต้าน

พฤติกรรมลูกดื้อต่อต้านนั้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน

  • ความผิดปกติของสารเคมีในสมองหรือสารสื่อประสาทบางชนิดมีปริมาณที่ไม่สมดุลกัน หรือมีการทำงานที่ผิดปกติไป
  • ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
  • ปัจจัยทางด้านจิตใจ
  • การเลี้ยงดูที่บังคับ หรือตีกรอบมากเกินไป
  • ไม่ให้ลูกได้มีโอกาสเลือกในสิ่งทีเกี่ยวข้องกับชีวิตของเขาเอง
  • ไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น

8 สัญญาณเตือนว่าลูกเป็นโรคดื้อต่อต้าน หากเกิน 3 ขวบ

ทางด้านแพทย์หญิงกุสุมาวดี คำเกลี้ยง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยทั่วไปแล้วพฤติกรรมดื้อตามวัยนั้นจะอยู่ที่ช่วงอายุ 2 – 3 ขวบ เมื่ออายุมากขึ้น อาการดื้อก็จะค่อย ๆ หายไป แต่ถ้าในโรคดื้อต่อต้านจะมีอาการที่รุนแรงขึ้น และมีอารมณ์ไม่ดีต่อเนื่องกันนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งลักษณะอาการเด่น ๆ ของเด็กที่เป็นโรคดื้อต่อต้านนี้มีดังนี้

  1. แสดงอารมณ์ที่ฉุนเฉียวตลอดเวลา
  2. มักชอบเถียงหรือชวนผู้ใหญ่ทะเลาะ
  3. ชอบท้าทาย ฝ่าฝืนคำสั่งหรือกฎเกณฑ์บ่อย ๆ
  4. ตั้งใจสร้างความรำคาญให้กับผู้อื่น
  5. มักโทษหรือโยนความผิดให้คนอื่นบ่อย ๆ
  6. หงุดหงิดและอารมณ์เสียง่าย
  7. โกรธและไม่พอใจอยู่บ่อย ๆ
  8. เจ้าคิดเจ้าแค้น อาฆาตพยาบาท

วิธีปรับพฤติกรรมโรคดื้อต่อต้าน

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นแล้วว่าลูกมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายและเป็นโรคดื้อต่อต้าน แนะนำว่าควรพาลูกไปพบกับจิตแพทย์เด็กเพื่อการบำบัดพฤติกรรม ซึ่งต้องใช้ร่วมกันในหลาย ๆ วิธี อาทิ

  • การทำจิตบำบัด
  • การฝึกให้เด็กรู้จักที่จะควบคุมตนเอง
  • ฝึกให้เด็กมีการแสดงออกอย่างเหมาะสมกับผู้ใหญ่ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ความเข้าใจกับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง หรือเรียกกันว่า “ครอบครัวบำบัด” นั่นเอง เพื่อเป็นการช่วยลดความขัดแย้ง และเพิ่มการสื่อสารที่เหมาะสมสำหรับคนในครอบครัว
  • ฝึกคุณพ่อคุณแม่ให้ปรับพฤติกรรมลูกได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ไม่ใช้ความรุนแรงในการลงโทษเด็ก รวมทั้งต้องมีการร่วมมือกับทางโรงเรียนในการช่วยดูแล และช่วยปรับลดพฤติกรรมที่ไม่ดีระหว่างที่เด็กอยู่ที่โรงเรียน

“ การลงโทษที่ไม่ควรใช้กับเด็กที่มีพฤติกรรมดื้อต่อต้าน คือการลงโทษด้วยการทุบตีอย่างรุนแรงหรือด่าว่าด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย รุนแรง เนื่องจากเป็นการเพิ่มความก้าวร้าวให้เด็ก ทำให้เด็กมีพฤติกรรมต่อต้านเพิ่มมากขึ้น และหากเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษา เมื่อโตขึ้นเด็กจะมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงมากขึ้น ก้าวร้าว เกเร เสี่ยงต่อการเสพและติดสารเสพติดได้ง่าย ” แพทย์หญิงกุสุมาวดีกล่าว
ข้อมูลอ้างอิง springnew.co.th

เด็กในวันนี้จะโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ ต้องมาจากพื้นฐานการเลี้ยงดูที่ดีค่ะ สิ่งหนึ่งที่แม่โน้ตเชื่อมาตลอดว่า “การพูดคุยกัน การสื่อสารแบบสองทาง (Two Way Communication)” จะสามารถช่วยลดพฤติกรรมลูกดื้อหรือต่อต้านได้ อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าเพราะอะไรคุณพ่อคุณแม่ถึงต้องทำแบบนั้น แสดงให้ลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจเขา ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นผู้ฟังที่ดีเช่นกันค่ะ