Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เทคนิคการฝึกให้ลูกมี Self – Esteem สูง?

เทคนิคการฝึกให้ลูกมี Self – Esteem สูง?

โรคซึมเศร้า” เชื่อว่าโรคนี้คุณพ่อคุณแม่คงเคยได้ยินกันมาบ้างใช่ไหมคะ ส่วนหนึ่งของสาเหตุก็คือการที่คน ๆ หนึ่งรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า เกลียดตัวเอง และรู้สึกว่าตัวเองไม่มีใครต้องการ ซึ่งเป็นลักษณะของคนที่มี Self – Esteem ต่ำนั่นเอง การฝึกให้ลูกมี Self – Esteem สูงเป็นเรื่องดีอาจเริ่มด้วยการชื่นชมลูกแต่พอควร แต่ในขณะที่บางครอบครัวไม่เคยชื่นชมลูกเลย เพราะกลัวเหลิง วันนี้โน้ตมีข้อมูลในเรื่องของ Self – Esteem จากหลาย ๆ แง่มุมมาฝากค่ะ

Self – Esteem คืออะไร?

ความคิดเห็นที่มีต่อตัวเองในด้านต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ตลอดจนการรับมือกับอารมณ์และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การเห็นคุณค่าของตัวเอง รับรู้ว่าตัวเองมี มีทัศนะคติด้านบวกต่อตัวเอง

เพราะอะไรลูกถึงมี Self – Esteem ต่ำ?

การที่เด็กมี Self – Esteem ต่ำนั้น เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก ดังนี้

รับอิทธิพลความคิดของผู้เลี้ยงดูที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็ก

เด็กจะซึมซับพฤติกรรม และแนวความคิดของคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ที่เลี้ยงดู ซึ่งถ้าหากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูมีทัศนะคติลบต่อสิ่งต่าง ๆ และมีพฤติกรรมหรือคำพูดที่ทำให้เด็กเห็นหรือได้ยิน เด็กก็จะเลียนแบบพฤติกรรมและความคิดเหล่านั้น

ถูกกลั่นแกล้ง หรือทำร้ายร่างกาย

เด็กบางคนอาจเป็นเด็กที่ไม่ค่อยพูด มีบุคลิกที่เงียบ ๆ เพราะฉะนั้นเด็กกลุ่มนี้เมื่อต้องเข้าเรียน อาจถูกเพื่อนล้อ แกล้ง หรืออาจถูกทำร้ายร่างกาย ซึ่งเด็กก็ไม่ได้บอกให้คุณพ่อคุณแม่ทราบ จึงทำให้ปัญหานี้ยิ่งฝังลึกในใจเด็ก เพราะปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข

ความเครียด

ต่อปัญหาสุขภาพและจิตใจ เด็กบางคนมีโรคประจำตัว ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เด็กอาจเกิดความเครียดได้และเมื่อเกิดความเครียด จิตใจก็หดหู่ ไม่อยากเข้าสังคมกับใคร อยากอยู่คนเดียว

มีปัญหาเกี่ยวกับการเรียน

อาทิ เรียนไม่ทันเพื่อน อาจจะเนื่องมาจากปัญหาเรื่องสุขภาพ ทำให้ไม่มีกำลังใจ ไม่มีความกระตือรือร้นในการเรียน

เด็กคาดหวังในตัวเองสูงเกินไป

เมื่อเด็กมีความคาดหวังต่อตัวเองสูง แต่ไม่สามารถไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ ก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ตัวเองไม่มีความสามารถ ส่งผลต่อการเห็นคุณค่าในตัวเอง

ปัญหาด้านการหย่าร้างของคุณพ่อคุณแม่

เรื่องของครอบครัวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะตัดสินใจทำอะไรโดยเฉพาะเรื่องของการหย่าร้าง ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจถึงสาเหตุว่าเพราะอะไร? เป็นต้นค่ะ

Self – Esteem ต่ำจะผลอย่างไรกับลูก

การที่เด็กมี Self – Esteem ต่ำจะส่งผลกับการใช้ชีวิตในหลาย ๆ ด้าน

มีปัญหาด้านความสัมพันธ์

สำหรับผู้ที่มี Self – Esteem ต่ำจะมีลักษณะที่อดทนต่อทุกการกระทำของคนใกล้ชิดหรือคนรัก โดยที่ไม่พูดหรือไม่ระบายความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองออกมา เพื่อเป็นการรักษาความสัมพันธ์ไว้ และที่สำคัญจะมีความคิดว่าตัวเองไม่มีวันที่จะเป็นที่รักของใครได้

ชอบเก็บตัว

เพราะคิดว่าคนอื่นอาจไม่ชอบตัวเอง จึงเลี่ยงที่จะพบปะผู้คน

กลัวที่จะเริ่มต้นใหม่

ขาดความกระตือรือร้นหรือความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ในการที่จะเริ่มทำอีกครั้ง เพราะคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถ

กลัวการตัดสินใจ

พยายามเลี่ยงในเรื่องการตัดสินใจ เพราะเข็ดจากที่เคยตัดสินใจพลาดมาแล้ว

ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ

จะกดดันทั้งตัวเองและผู้อื่นให้ทำทุกอย่างที่ต้องสมบูรณ์แบ

มีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ

เพราะความที่เห็นว่าตัวเองไม่มีคุณค่า จึงละเลยในเรื่องการดูแลตัวเองไป อาจนำพาตัวเองไปติดยาเสพติด ติดเหล้า หรือในบางรายอาจถึงขั้นทำร้ายร่างกายตัวเองและคิดฆ่าตัวตาย

เทคนิคการสร้าง Self – Esteem ให้ลูก

  • สอนให้ลูกคิดกับตัวเองในด้านบวก
  • คิดถึงความสำเร็จและข้อดีของตัวเอง
  • กล้าที่จะปฏิเสธในสิ่งที่ตัวเองไม่ต้องการ
  • ทำในสิ่งที่ตัวเองมีความสุข แต่ไม่เดือดร้อนใคร
  • ตั้งเป้าหมายที่สามารถเป็นไปได้จริง ๆ
  • รู้จักการให้อภัยต่อทั้งตัวเองและผู้อื่น
  • ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับใคร
  • เลี่ยงการอยู่กับคนที่ทำให้ตัวเองรู้สึกแย่
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ให้ลูกออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ชื่นชมลูกแต่พอควรเมื่อลูกทำได้สำเร็จ

เพราะความสุขของลูก ก็คือความสุขของคุณพ่อคุณแม่เช่นกัน เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่ไม่เคยชื่นชมลูกเลย ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้เสียตั้งแต่วันนี้นะคะ