Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เทคนิคการสอนลูกให้มีความยับยั้งชั่งใจ ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน (Self – Regulation)

เทคนิคการสอนลูกให้มีความยับยั้งชั่งใจ ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน (Self – Regulation)

ก่อนหน้านี้ถ้าใครติดตามบทความโน้ตเป็นประจำ โน้ตเน้นเรื่อง Self – Esteem มาก (คือการทำให้เด็กได้เห็นคุณค่าของตัวเอง) แต่วันนี้โน้ตจะมาพูดเรื่อง Self – Regulation ค่ะ หรือก็คือจะสอนลูกอย่างไรให้มีความยับยั้งชั่งใจ สามารถกำกับตนเองได้ ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน และมีเป้าหมายที่แน่ชัดนั่นเอง

การกำกับตนเอง (Self – Regulation) คืออะไร?

การกำกับตนเอง หรือ Self – Regulation นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “ความสามารถในการคิดบริหารจัดการตนเอง (EF – Executive Function)” ซึ่งเป็นความสามารถของสมองในการควบคุมและกำกับความสามารถขั้นพื้นฐาน และกิจกรรมอื่น ๆ ของบุคคลได้ ซึ่งจุดนี้เองถ้าเด็กทำได้ เขาจะสามารถพัฒนาไปสู่เรื่อง Self – Discipline (การมีวินัยในตนเอง) ได้ค่ะ

หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ “Self – Regulation ก็คือ ความไม่วู่วาม + การหักห้ามใจได้” นั่นเอง การไม่วู่วาม ก็คือการฝึกให้เด็กได้รู้จักคิด พิจารณาไตร่ตรองว่าเขาควรทำตัวเช่นไรในสถานการณ์นั้น ๆ และ การหักห้ามใจได้ก็คือ การที่เด็กสามารถปรับอารมณ์และความรู้สึกได้ เมื่อมีอะไรมากระทบค่ะ

กระบวนการในการกำกับตนเอง

หลักปฏิบัติในการกำกับตนเองนั้นมีอยู่ 3 ขั้นตอน ดังนี้ค่ะ

การสังเกตตนเอง (Self – Observation)

หรือจะว่าไปก็คือ การที่เด็กสามารถรู้เท่าทันอารมณ์ตนเองนั่นเอง เพราะการที่จะสามารถกำกับตนเองได้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากความชัดเจน ความสม่ำเสมอ และความแม่นยำของการสังเกตตนเอง เมื่อสังเกตตนเองได้และรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเองแล้ว ก็จะสามารถพาตนเองเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้

กระบวนการตัดสิน (Judgement Process)

คือการนำข้อมูลที่ได้จากการสังเกตตนเองมาเทียบกับเกณฑ์ ตัดสิน และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง

การตอบสนองต่อตนเอง (Self – Reaction)

ข้อนี้จะขึ้นอยู่กับมาตรฐานของแต่ละคน แต่ละครอบครัว ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกทำได้สำเร็จ มีความพยายามมากพอก็อาจจะให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเป็นกำลังใจ หรือบางครอบครัวเห็นว่าลูกพยายามแล้วแต่ก็ยังทำไม่ได้ ก็อาจใช้เป็นการลงโทษแทน แต่ไม่ต้องถึงขั้นดุด่า หรือตีลูกนะคะ แค่อธิบายถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา แล้ววิเคราะห์ให้เขาเห็นภาพ เพื่อความเข้าใจมากขึ้นก็พอค่ะ

เทคนิคการฝึกให้สามารถกำกับตนเองได้

ความสามารถในการกำกับตนเองหรือการจัดการกับอารมร์ในด้านลบของตนเอง เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ความเบื่อหน่าย ความไม่มีแรงจูงใจ ตลอดจนการสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้นั้น มีเทคนิคดังนี้ค่ะ

เทคนิคในการฝึกลูกกับ S.T.O.P

  • STOP – หยุดหรือวางมือจากสิ่งที่ทำอยู่
  • TAKE A BREATH – เอาใจไปจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจเข้า – ออก สูดลมหายใจช้า ๆ
  • OBSERVE – สังเกตว่าในความคิด ณ ขณะนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง พร้อมกับทบทวนสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
  • PROCEED – เมื่อสามารถจับสถานการณ์ได้หมดแล้ว ค่อยเริ่มทำสิ่งที่ทำอยู่ต่อไป

**ขั้นตอนที่กล่าวมานี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นคนชี้ชวนให้พิจารณา และให้ลูกทำตามนะคะ

เทคนิคการฝึกกับตัวของคุณพ่อคุณแม่เองกับ R.A.I.N

  • RECOGNIZE – มองและพิจารณาสถานการณ์ด้วยความสงบ
  • ACCEPT – ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น ยอมรับอารมณ์ลูก อย่าเพิ่งกังวลหรือว้าวุ่นใจ พร้อมทั้งอย่าเพิ่งพยายามแก้ไขสถานการณ์ในขณะนั้น
  • INVESTIGATE – รับรู้และสำรวจความรู้สึกของตัวเองที่เกิดให้ละเอียด รับรู้และยอมรับทั้งความรู้สึกที่ปวดใจและมีความสุข จนกระทั่งอารมณ์นั้น ๆ เบาบางลง
  • NONIDENTIFICATION – เมื่อรับรู้และซึมซับกับความรู้สึกนั้น ๆ ได้แล้ว ให้วางอารมณ์นั้น ๆ ลง ให้มองว่าอารมณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาเดี๋ยวมันก็ผ่านไป และจบลง ไม่เอามาขยายต่อ คิดต่อในใจ รวมถึงไม่ต้องนิยามตนเองไม่ว่าทั้งแง่ดีหรือแง่ร้าย

การที่คุณพ่อคุณแม่จะฝึกลูกได้นั้น ต้องเริ่มที่ตัวของคุณพ่อคุณแม่ก่อนในการเป็นต้นแบบที่ดี ไม่เลี้ยงลูกแบบเข้าข้างลูกมากเกินไป เมื่อลูกทำผิดก็ว่ากันตามผิด ถูกก็ว่ากันตามถูกพร้อมกับชื่นชมให้กำลังใจกันตามสมควร ไม่อย่างนั้นลูกอาจจะเหลิงได้อย่างที่คุณพ่อคุณแม่กลัว ซึ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การฝึกลูกให้มีความยับยั้งชั่งใจ จนสามารถกำกับตัวเองได้ดีในที่สุดค่ะ