Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

10 เทคนิคที่จะทำให้ลูกหลับง่ายขึ้น แบบไม่กดดันทั้งแม่ทั้งลูก

10 เทคนิคที่จะทำให้ลูกหลับง่ายขึ้น แบบไม่กดดันทั้งแม่ทั้งลูก

เด็กแต่ละคนหลับง่าย หลับยากต่างกัน บางคนหัวถึงหมอนปุ๊บก็หลับปั๊บ แต่ในขณะที่บางคนพลิกซ้ายก็แล้วขวาก็แล้วยังไม่หลับเลย แต่คุณพ่อคุณแม่จะเหนื่อยตรงที่ว่าหากตอนเช้าต้องไปทำงานน่ะสิ เหนื่อยก็เหนื่อย เครียดก็เครียด แต่วันนี้โน้ตมีวิธีที่จะช่วยให้ลูกหลับง่ายขึ้นโดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเหนื่อยอีกด้วยค่ะ

10 เทคนิคที่จะทำให้ลูกหลับง่ายขึ้น

สร้างบรรยากาศในห้องนอนให้น่านอน

การสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมให้ลูกรู้ว่าใกล้เวลาเข้านอนแล้วเป็นสิ่งสำคัญค่ะ โดยเริ่มจากการหรี่ไฟในห้องให้สลัวก่อนนอนสัก 30 นาที ปิดทีวี เลี่ยงการดูหน้าจอต่าง ๆ เช่น มือถือ หรือแทปเล็ต เลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงในช่วงเวลานี้ แล้วเปลี่ยนเป็นการอ่านนิทาน อาบน้ำอุ่น ร้องเพลงกล่อมก่อนนอน ให้คุณแม่ทำซ้ำอย่างนี้ต่อเนื่องกัน 1-1 ½ เดือน แล้วลูกจะเคยชิน จะนอนได้ง่ายขึ้นค่ะ

ให้ลูกเข้านอนเร็วและตั้งเวลาตื่นอย่างเหมาะสม

การฝึกให้ลูกเข้านอนแต่หัวค่ำเป็นเรื่องทีดีมาก และเป็นกุญแจสำคัญ เพราะเด็กแต่คนต่างกันจึงมีความต้องการระยะเวลาในการพักผ่อนที่ต่างกัน อาทิ เด็กที่อยู่ในวัยเรียนจะต้องการเวลานอน 9-11 ชั่วโมงในทุกคืน เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งโจทย์กับตัวเองแล้วล่ะค่ะว่า ลูกต้องเข้านอนกี่โมง เพื่อที่จะได้ตื่นในเวลาที่เหมาะสม และลูกยังได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ

กำหนดเวลาตื่นในทุกวันให้เหมาะสมและชัดเจน

จากข้อ 2 เมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้แล้วว่าลูกต้องการเวลานอนกี่ชั่วโมง จากนี้ไปก็พอจะคำนวณได้แล้วนะคะว่าลูกควรตื่นกี่โมง ลูกถึงจะได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ซึ่งการตั้งเวลาปลุกลูกควรทำเป็นกิจวัตรประจำวัน เพื่อให้ลูกได้คุ้นชิน ยกเว้นว่าหากเป็นวันหยุดก็อาจจะอนุโลมให้ตื่นสายได้บ้าง

สร้างกิจวัตรประจำวันก่อนนอนให้เป็นนิสัย

การสร้างกิจวัตรประจำวันก่อนนอนให้ลูกเป็นสิ่งสำคัญอีกเช่นกัน เพราะลูกจะได้รู้ว่าถ้าทำแบบนี้แสดงว่าใกล้จะนอนแล้ว กิจวัตรดังกล่าวก็อาทิเช่น การอาบน้ำ และการเล่านิทานก่อนนอน เป็นต้น ซึ่งข้อนี้สามารถนำไปใช้ได้กับลูกตั้งแต่ยังเป็นทารกเลยนะคะ เพราะเด็กเค้าก็จะเกิดการเรียนรู้ไปด้วยในตัว

ปิดทีวี แทปเล็ต ก่อนเข้านอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

มีหลายงานวิจัยที่พบว่า แสงจากหน้าไม่ว่าจะเป็นจากโทรทัศน์ มือถือ หรือแทปเล็ตนั้น สามารถรบกวนกระบวนการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนินได้ ซึ่งเจ้าฮอร์โมนเมลาโทนินนี้ก็คือ สาระสำคัญสำหรับการนอน หากเมลาโทนินอยู่ในระดับสูง ก็จะทำให้ร่างกายเกิดอาการง่วง และพร้อมที่จะเข้านอน ดังนั้น ไม่ควรให้ลูกได้สัมผัสหน้าจอก่อนเข้านอน 2 ชั่วโมง หรืออย่างน้อย 30 นาที

ฝึกให้ลูกนอนเร็วโดยยึดจากเวลาเป็นหลัก ไม่ใช่ฤดู

การฝึกลูกให้นอนเร็วอย่างได้ผลนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรทำเป็นกิจวัตประจำวัน โดยบางฤดูอย่างฤดูหนาว เราจะพบว่าแค่เวลา 18:00 น. ท้องฟ้าก็มืดแล้วราวกับ 19:00 น. ฤดูนี้คุณพ่อคุณแม่จะเอาลูกเข้านอนเร็วเพราะท้องฟ้ามืดแล้ว ส่วนฤดูร้อน 18:00 น. ท้องฟ้ายังสว่างอยู่ กว่าจะเอาลูกเข้านอนก็กินเวลาที่ 21:00 น. แบบนี้นาฬิการ่างกายลูกอาจรวนได้ค่ะ ที่ถูกต้องควรยึดเวลาที่นาฬิกาเป็นหลักค่ะ

ลดความเครียดให้ลูกก่อนนอน

“คอร์ติซอล” คือ ฮอร์โมนที่มีบทบาทในการนอนหลับอีกตัวหนึ่ง หรือถ้าจะเรียกง่าย ๆ ก็คือ “ฮอร์โมนความเครียด” นั่นเอง หากลูกมีระดับฮอร์โมนของตัวนี้สูงก็จะทำให้ลูกหลับยาก ดังนั้นทางที่ดีควรเลี่ยงกิจกรรมหรือการเล่านิทานที่เครียด ๆ ให้ลูกฟังนะคะ

ปกป้องลูกจากความกลัวก่อนเข้านอน

เด็กบางคนกลัวในที่ที่มีแสงสลัว ๆ บางคนกลัวสัตว์ประหลาดจากการ์ตูนที่เขาดูช่วงเช้า ก็อล้วแต่เค้าจะจินตนาการต่อ แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก่อนเอาลูกเข้านอนคือ กอดลูก หอมลูก และบอกลูกว่าฝันดี หรือบอกลูกว่าในบ้านเราไม่มีสัตว์ประหลาด แต่ถ้ามีเดี๋ยวแม่จัดการให้เอง เป็นต้น เพื่อให้ลูกอุ่นใจ และหลับได้อย่างสนิท

ให้ลูกหลับสนิทในเวลากลางคืน ต้องปล่อยให้ลูกนอนกลางวันบ้าง

อ้าว…ให้ลูกนอนกลางวัน แล้วกลางคืนจะหลับได้อย่างไร? หลับได้ตามปกติเลยค่ะคุณพ่อคุณแม่ กลับกันหากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกมีอาการง่วงในช่วงกลางวัน แต่ไม่ให้ลูกนอน เพราะกลัวกลางคืนไม่นอน แบบนี้จะทำให้ลูกเครียดกว่าเดิม ฮอร์โมนความเครียดจะทำงาน กลายเป็นว่ากลางคืนยิ่งหลับยากขึ้นไปอีก ดังนั้น หากเห็นว่าลูกมีอาการง่วงในเวลากลางวันควรปล่อยให้ลูกได้นอนบ้างจะดีกว่าค่ะ

หากลูกมีความผิดปกติในการนอนหลับ ควรปรึกษากุมารแพทย์

หากคุณพ่อคุณแม่พยายามทำทุกทาง ทุกอย่างเพื่อฝึกให้ลูกนอนหลับ แต่ก็ยังไม่เป็นผล หรือหลับได้จริง แต่ก็มีอาการเหมือนฝันร้าย หรือหวาดกลัว ควรพาลูกไปปรึกษากุมารแพทย์จะดีที่สุดค่ะ

เพราะการนอนที่ถูกสุขลักษณะจะมีผลต่อโกรธฮอร์โมน (Growth Hormone) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของร่างกายที่จะทำให้ลูกเติบโตได้อย่างสมบูรณ์แข็งแรงอีกด้วยนะคะ อย่างไรแล้วคุณพ่อคุณแม่ลองยำไปปรับใช้กันดูนะคะ