Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

คำพูดต้องห้าม…อย่าพูดกับลูกน้อยแบบนี้

ส่วนใหญ่เรามักจะเคยได้ยินว่าเด็กนั้นคือผ้าขาวซึ่งคนที่จะมาคอยแต้มคอยเติมสีให้ผ้าขาวนั้นออกมาเป็นอย่างไรหลักๆ แล้วก็คือผู้ปกครองคนเลี้ยงดูอย่างคุณพ่อคุณแม่นั่นเองที่จะเลือกสีสันไหนไปแต่งแต้มให้กับจิตใจและนิสัยใจคอของลูก

สิ่งหนึ่งที่สำคัญและอาจจะกลายเป็นพฤติกรรมตัวอย่างให้กับลูกได้นั่นก็คือคำพูดต่างๆ นั่นเองนอกจากพฤติกรรมเลียนแบบที่จะพูดตามแล้วนั้นผลกระทบต่อจิตใจของลูกก็สามารถมาจากคำพูดของพวกคุณได้เช่นเดียวกัน

แต่ในบางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะไม่ทันคิดหรืออาจจะไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าคำเหล่านี้จะเป็นคำที่สามารถมีผลกับลูกได้ ดังนั้นวันนี้เราจะมาบอกเล่าถึงคำต้องห้ามที่ถ้าไม่ลืมไม่เผลอกันจริงๆ อย่าพูดกับลูกแบบนี้เลยจะเป็นการดีที่สุด

อย่าเพิ่งยุ่ง , อย่ามายุ่ง

ความหงุดหงิดในการเลี้ยงดูลูกน้อยในช่วงแรกๆ นั้นแน่นอนว่าอาจจะต้องมีเกิดขึ้นมาบ้างจนในบางครั้งอาจจะเผลอปากพูดคำว่า อย่าเพิ่งยุ่ง อย่ามายุ่ง ออกไปให้ลูกได้ยิน
คำเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ลูกอาจได้รับความรู้สึกโดดเดี่ยวและถูกทอดทิ้งหรือในเวลาต่อไปถ้าเขาต้องการแชร์อะไรก็อาจจะไม่มีความกล้าหรือความมั่นใจมากพอที่จะทำร่วมกับคุณพ่อคุณแม่

ในช่วงที่ลูกยังเล็กเกินกว่าที่จะสามารถเข้าใจเหตุผลได้นั้นอาจจะต้องหาคนมาช่วยดูแลเพื่อแบ่งเบาภาระและความหงุดหงิดใจของคุณพ่อคุณแม่ไปบ้าง เพื่อที่พอหันกลับมาก็จะมีแต่สิ่งดีๆ คำดีๆ มามอบให้กับเขาเพื่อให้เขาได้ค่อยๆ เรียนรู้กับคำดีๆ และเมื่อเขาเริ่มโตจนพอที่จะเข้าใจอะไรได้บ้างแล้วคุณพ่อคุณแม่ถึงค่อยๆ บอกเล่าเหตุผลต่างๆ ให้เขาได้รับรู้ นั่นจะช่วยให้เกิดความเข้าใจและความรู้สึกดีๆ ความอบอุ่นใจต่อกันภายในครอบครัวได้อย่างแน่นอน

ทำไมลูกถึง…

นี่เป็นประโยคที่เหมือนจะเป็นการตัดสินลูกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าเขาเป็นอย่างไร เช่น ทำไมลูกดื้อจัง ทำไมลูกถึงไม่ยอมฟัง สิ่งที่เขาจะรู้สึกนอกจากรู้สึกกลัวเพราะถูกตำหนิแล้วนั้นยังเป็นจุดที่ค่อยๆ ทำให้เขาขาดความมั่นใจในเรื่องที่คุณพูดจนอาจจะลามไปถึงเรื่องอื่นๆ ด้วยก็เป็นได้

คุณควรหันมาใช้สติและเหตุผลในการว่ากล่าวตักเตือนลูกกันดีกว่า อธิบายสิ่งใดก็ควรมีเหตุผลและสามารถเข้าใจภาพได้ชัดเจนตรงกันทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกด้วย เพื่อเป็นการช่วยกันปรับไปหาความพอดีของการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขนั่นเอง

อย่า!

อย่าร้องไห้ อย่างอแง อย่ากลัวแค่นี้เอง คำเหล่านี้เหมือนเป็นคำที่พยายามช่วยอุ้มชูให้ลูกเข้มแข็งมากขึ้นแต่คุณอาจจะลืมไปว่าสำหรับเด็กแล้วการร้องไห้ออกมาเมื่อรู้สึกไม่ดีคือกระบวนการแสดงออกอย่างหนึ่งในวัยของพวกเขา

และแน่นอนว่าความเป็นเด็กนั้นมักจะเป็นไปได้ยากที่เขาจะสามารถควบคุมสติอารมณ์และแสดงวุฒิภาวะออกมาได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรทำความเข้าใจลูกในจุดนี้ด้วย
สิ่งที่เขาต้องการก็เพียงความอบอุ่นใจจากการปกป้องพวกเขาที่มาจากคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง ความอ่อนโยนแทนการพูดอย่านั้นจะสร้างสร้างความมั่นใจให้กับลูกของคุณได้เป็นอย่างดีแน่นอน

รีบๆ เข้า , เร็วๆ สิ

เมื่อมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นมาสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรวางแผนไว้ในระยะยาวเลยก็คือการรู้จักกับการเผื่อเวลา เพราะเด็กๆ ยังคงทำอะไรได้อย่างช้าๆ ค่อยๆ เรียนรู้และรู้จักกับสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะคุ้นชินกันมาแล้ว ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องให้เวลากับเขาบ้าง

การเร่งเขาผสมรวมไปกับท่าทางที่เร่งรีบจุดนี้จะทำให้เกิดความกลัว วิตกกังวล และระแวงให้กับลูกได้อาจจะทำให้เขากลัวและเกร็งกับกิจกรรมนั้นไปเลยก็ได้ เช่น รีบๆ มัดเชือกรองเท้าสิ , รีบๆ ขึ้นรถสิ แน่นอนว่าเมื่อถึงเวลาต่อไปที่ต้องทำสิ่งเหล่านี้อีกเด็กๆ ก็จะเริ่มกลัวที่จะต้องถูกเร่งในจุดเดิมๆ จนทำให้ทำกิจกรรมนั้นได้ไม่ดีเท่าที่ควรไปเลยก็เป็นได้

เก่งมาก , เก่งที่สุด , เด็กดี

ใครจะไปคิดว่าคำชมจะกลายเป็นคำต้องห้ามไปด้วยล่ะ แต่มันไม่ใช่แบบนั้นไปซะหมดเพียงแต่คุณพ่อคุณแม่จำเป็นที่จะต้องปรับทัศนคติและพฤติกรรมในการเอ่ยปากชมเชยลูกของคุณบ้างเล็กน้อย
การชมเชยลูกมากจนเกินไป ชมเชยแม้ในกรณีที่ไม่ได้พิเศษอะไรมากนัก มีผลทำให้คำชมของคุณมีคุณค่าน้อยลงไป และลูกอาจจะรู้สึกว่าไม่ได้ดีใจและอยากได้รับมากเท่ากับแต่ก่อนอีกแล้ว

คุณต้องเลือกชมสิ่งที่ดีจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่ลูกทำในสิ่งที่ต้องทำได้อยู่แล้ว เช่น ดื่มนม อาบน้ำ เข้านอน ตื่นเช้า ทานอาหารเยอะ เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้นานไปก็เป็นชีวิตประจำวันอยู่แล้วมันคือพื้นฐานที่ทุกคนจะสามารถทำได้อย่างง่ายดาย

ลองหันมาชมในสิ่งที่พิเศษบ้าง เช่น การระบายสีสำเร็จครั้งแรก การช่วยรดน้ำต้นไม้ การมีน้ำใจช่วยเหลือแบ่งปันเพื่อนๆ เป็นต้น ชมในสิ่งที่ควรชม ดุเขาด้วยเหตุและผลจะสามารถช่วยให้ลูกของคุณเติบโตไปอย่างมีคุณภาพได้อย่างแน่นอน

คำพูดคือสิ่งที่เมื่อได้พูดออกไปแล้วไม่สามารถย้อนกลับมาแก้ไขได้และไม่สามารถทดแทนความรู้สึกที่เสียไปของคนฟังได้เช่นกัน
แต่คำพูดที่ดีนั้นก็มีผลมากเช่นกัน คำพูดดีๆ จะส่งผลต่อจิตใจไปอีกนานและเป็นแรงผลักดันในอีกหลายๆ เรื่องได้เลยทีเดียว
เริ่มพูดกับลูกในสิ่งที่ดีมีเหตุผลและดีกับจิตใจของเขาตั้งแต่วันนี้และเฝ้ามองการเติบโตเป็นคนที่สามารถแบ่งปันคำพูดและความคิดดีๆ ให้กับคนอื่นๆ ต่อไปได้เช่นกัน