Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

สอนให้ลูกยอมรับในความแตกต่าง สร้างได้โดยเริ่มที่พ่อแม่

สอนให้ลูกยอมรับในความแตกต่าง สร้างได้โดยเริ่มที่พ่อแม่

ปัจจุบันนี้หากต้องการจะเสพข่าวสารเรื่องไหน ต้องการรู้ข้อมูลเรื่องอะไรก็สามารถทำได้สบาย ๆ เพียงปลายนิ้ว หรืออยากจะคุยกับเพื่อนที่อยู่ต่างประเทศก็สามารถทำได้ง่าย ๆ เช่นกัน

เรื่องของความแตกต่าง

เรื่องของ “ความแตกต่าง” ในสังคม เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ความแตกต่างหมายรวมถึงสิ่งที่ไม่ใช่รูปลักษณ์ภายนอกด้วย อาทิ ทัศนคติ ความเชื่อ ความสุขทางใจ วิถีชีวิต การให้คุณค่าในสิ่งต่าง ๆ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่ง…ทั้งหมดเป็นผลที่มาจาก “พันธุกรรม สภาพแวดล้อม และการเลี้ยงดู

เป็นที่รู้กันดีว่า “พันธุกรรม” เป็นอะไรที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ “การเลี้ยงดู” เป็นปัจจัยทางสภาพแวดล้อมที่คุณพ่อคุณแม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

สอนให้ลูกยอมรับในความแตกต่าง สร้างได้โดยเริ่มที่พ่อแม่

อะไร? อย่างไร? ไปติดตามกันค่ะ

พ่อแม่ให้ความรักและการยอมรับลูกอย่างปราศจากเงื่อนไข

“ความรัก” ของคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรจะเป็นเรื่องของรักแบบตามใจ ยอมลูกทุกเรื่อง แต่ความรักที่ถูกต้อง คือ ชวนลูกทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ การอ่านหนังสือนิทาน การพาลูกเข้านอนพร้อมกล่อมลูกไปด้วย การใช้เวลาคุณภาพเล่นกับลูก กอดลูก หอมลูก สอนลูกและทำงานบ้าน เป็นต้น

ส่วนการยอมรับลูกโดยปราศจากเงื่อนไข ยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็นไม่ว่าลูกจะเป็นอะไรก็ตาม ขอเพียงแค่เขามีความเป็นตัวของตัวเอง เป็นคนดี ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน คุณพ่อคุณแม่ก็ควรให้การสนับสนุนเขา และทำให้เขารับรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่อยู่เคียงข้างเขาเสมอ

พ่อแม่ที่ฝึกให้ลูกทำอะไรได้ด้วยตัวเอง

คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำอะไรด้วยตัวเอง ช่วยเหลือตัวเอง โดยที่คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่คาดหวังผลที่สูงนัก ถ้าจะหวัง ก็ให้หวังเพียงว่าลูกจะสามารถเรียนรู้ในสิ่งต่าง ๆ กระบวนการที่ควรเกิดขึ้นตามขั้นตอน และหวังให้ลูกได้ฝึกฝนจนเกิดความเชี่ยวชาญก็พอ ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาค่ะ

พ่อแม่ที่ปลูกฝังให้ลูกเคารพกฎ 3 ข้อ

3 ข้อที่ว่า ก็คือ

  • การรักตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเองให้มากพอที่จะไม่ทำร้ายตัวเอง
  • ไม่ทำร้ายผู้อื่น และ
  • ไม่ทำลายข้าวของ

เพราะกฎทั้ง 3 ข้อนี้ นับเป็นกฎพื้นฐานที่จะสอนให้ลูกเรียนรู้การเคารพตนเองและผู้อื่น

พ่อแม่ที่สอนให้ลูกรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง

สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำคือ เมื่อลูกกระทำผิดแล้วตำหนิหรือต่อว่าด้วยอารมณ์ทันที แต่คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งสติก่อน และพาลูกมารับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น สอนลูก พูดกับลูกด้วยท่าทีที่อ่อนโยน จับมือเขาทำ และสอนให้ลูกขอโทษต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

เขาจะได้เรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่หนีปัญหาเพราะ “ความกลัวที่คุณคุณพ่อคุณแม่สร้างขึ้น เมื่อเวลาที่ลูกทำผิด

พ่อแม่ที่ปกป้องสิทธิของลูก และสอนให้ลูกเคารพสิทธิของผู้อื่น

เมื่อมีคนมาละเมิดสิทธิของลูกเราในวันที่ลูกเรายังไม่สามารถปกป้องสิทธิของตัวเองได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำหน้าที่ปกป้องสิทธิให้กับลูกด้วยนะคะ เช่น ถ้าหากลูกเป็นคนที่ไม่ชอบให้คนอื่นมาสัมผัสตัวเขา จับมือเขา หรือหอมแก้มเขา คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิเสธแทนลูก ไม่ใช่เกรงใจ และยอมให้คนอื่นกระทำกับลูกในสิ่งที่เขาไม่ชอบ คุณพ่อคุณแม่ควรทำให้ลูกได้เรียนรู้ว่าร่างกายเป็นของเขา เขามีสิทธิที่จะปกป้องร่างกายของตนเอง

การที่เราจะสามารถ “ยอมรับ” อะไรได้ซักเรื่อง ควรเริ่มต้นจาก “ความเข้าใจ” ก่อน เพราะถ้าเราไม่เปิดใจ ไม่ทำความเข้าใจ เราก็จะกลายเป็นคนที่มองหาแต่ความบกพร่องของคนอื่นอยู่เสมอ แต่…ถ้าหากเรา “ยอมรับ” ได้ก่อน แม้ว่าสิ่งนั้นไม่ได้ถูกใจเราไปทั้งหมด แต่มันก็จะนำไปสู่ความเข้าใจได้ค่ะ เช่นเดียวกัน การที่คุณพ่อคุณแม่ยอมรับลูกได้อย่างไม่มีเงื่อนไข คอยให้การสนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ และยืนเคียงข้างเขา ขอแค่ไม่ทำให้ใครเดือนร้อน เมื่อลูกโตเป็นผู้ใหญ่เขาก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถยอมรับตัวเองได้ และก็สามารถยอมรับในความแตกต่างของผู้อื่นได้เช่นกันค่ะ

อ้างอิง
เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว