Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เทคนิคระงับอารมณ์โกรธลูก ก่อนสร้างแผลในใจเด็ก

เทคนิคระงับอารมณ์โกรธลูก ก่อนสร้างแผลในใจเด็ก

อารมณ์โกรธ” สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะกับมนุษย์แม่มันจะเป็นอะไรที่เกิดขึ้นได้ง่ายมากกว่าปกติ เพราะมนุษย์แม่จะมีงานที่แล้วไม่มีวันจบ ซึ่งได้แก่ การเลี้ยงลูก และงานบ้าน บางครอบครัวคุณแม่คือ คนที่รับผิดชอบหน้าที่ดังกล่าวเป็นหลัก ไม่มีใครช่วยเลี้ยง ดังนั้นก็จะเกิดความกดดัน ความเหนื่อย และความเครียด จนบางครั้งทำเอาปรี๊ดแตกกับลูกได้ง่าย ๆ เหมือนกัน แต่…เมื่ออารมณ์โกรธเกิดขึ้น การตะคอก การเสียงดังใส่ลูกจึงตามมาซึ่งมีแต่ผลเสียกับลูกค่ะ วันนี้โน้ตมีเทคนิคการระงับอารมณ์โกรธก่อนที่จะหลุดตะคอกใส่ลูกมาฝากค่ะ

ผลเสียของการตะคอกใส่ลูก

การตะคอกใส่ลูกส่งผลเสียแน่นอนค่ะ แต่จะมีอะไรบ้างไปดูกันค่ะ

พฤติกรรมที่ไม่ดี อาจดีขึ้นหรือไม่ก็แย่ลง

หลายคนเข้าใจว่าการที่เราทำเสียงดัง หรือตะคอกใส่ลูกนั้น จะเป็นทางแก้ไขปัญหาได้ หรือสามารถยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกได้ในอนาคต ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ไม่ใช่เลยค่ะ แต่มันจะกลายเป็นปัญหาสะสม เรื้อรัง และรุนแรงมากขึ้นไปอีก เพราะพฤติกรรมของลูกจะยิ่งแย่ลง ทั้งที่แย่ลงต่อหน้าและลับหลัง หรือหากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าพฤติกรรมก็ดีขึ้นนี่นา แต่มันจะเป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น ที่เด็กหยุดทำเพราะเขาเกิดความกลัวเมื่ออยู่ต่อหน้าคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

สาเหตุที่ลูกมีพฤติกรรมที่แย่ลงก็เพราะลูกไม่ได้เรียนรู้ถึงสาเหตุว่าสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่คิดว่าผิดนั้นคืออะไร อะไรคือสิ่งที่ถูกต้องและควรทำ ซึ่งเมื่อครอบครัวทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัย รู้สึกมีความไม่มั่นคงทางอารมณ์ ลูกจะไม่กล้าปรึกษาปัญหากับคุณพ่อคุณแม่ เขาจะหันไปหาเพื่อน ๆ หรือคนนอกครอบครัวแทนคุณพ่อคุณแม่

มีการเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการทางสมอง

ด้วยธรรมชาติของสมองมนุษย์จะตอบสนองต่อสิ่งที่ไม่ดีได้รวดเร็วว่าเรื่องดี ดังนั้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่ใช้อารมณ์ ตะคอกใส่ลูก รวมถึงการใช้ความรุนแรงอื่น ๆ สมองส่วนอารมณ์ของลูกจะทำงานได้มากกว่าหรือตอบโต้ต่อสิ่งเร้าได้มากกว่าและดีกว่าสมองส่วนของเหตุผล ซึ่งทำให้เด็กซึมซับเอาพฤติกรรมด้านลบได้ดีกว่าด้านของการใช้เหตุผลค่ะ

อาจเกิดภาวะซึมเศร้าได้

เมื่อลูกถูกคุณพ่อคุณแม่ใช้อารมณ์ด้วยบ่อย ๆ หรือตะคอกบ่อย ๆ เขาจะรู้สึกกลัว เจ็บปวด และเสียใจ รวมไปถึงเศร้า เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดปัญหาด้านจิตใจในระยะยาว เพราะเด็กจะฝังใจและติดตัวไปจนโต ส่งผลให้เกิดเป็นภาวะซึมเศร้าได้ เกิดความเครียด วิตกกังวล เด็กบางคนหาทางออกด้วยการขังตัวเองเอาไว้ในห้อง เก็บตัว ทำร้ายตัวเอง ติดยาเสพติด ไปจนกระทั่งตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

ส่งผลเสียต่อร่างกาย

เมื่อลูกเกิดความกดดัน ความวิตกกังวล หรือความเครียด เมื่อจิตใจป่วย ก็จะส่งผลให้ร่างกายป่วยได้เช่นกัน

เกิดอาการปวดเรื้อรัง

มีการศึกษาในหลาย ๆ ผลงานที่พบว่าประสบการณ์ในวัยเด็กที่เกิดจากการใช้อารมณ์และความรุนแรงของคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูมีความเกี่ยวข้องกันกับการเจ็บปวดเรื้อรัง ปวดศีรษะ ปวดข้อ ข้ออักเสบ ปวดหลัง รวมถึงอาการปวดอื่น ๆ ในร่างกายที่เป็นชนิดเรื้อรัง

เทคนิคระงับอารมณ์โกรธลูก สอนลูกโดนไม่ต้องตะคอก

ตั้งสติ ให้เวลากับตัวเองก่อน

หากคุณพ่อคุณแม่กำลังเจอลูกอาละวาดหรือทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ให้เริ่มอย่างนี้ก่อนเลยค่ะ คือ “สูดหายใจเข้าลึก ๆ” สัก 3 – 4 ครั้ง หรือจะมากกว่านี้ก็ได้ เพื่อให้เวลากับตัวเองก่อน เข้าใจและรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองก่อน หลังจากนั้น ให้ทบทวนว่าเมื่อสักครู่ เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ลำดับเหตุการณ์ให้ดี แล้วค่อย ๆ อธิบายให้ลูกฟังว่าเมื่อกี้ลูกทำอะไรลงไป ผิดตรงไหน และอธิบายกับลูกว่าสิ่งที่ถูกต้องและควรทำคืออะไร ซึ่งถ้าหากเกิดซ้ำลูกจะได้รับบทลงโทษอย่างไร

สำหรับวิธีการลงโทษลูก แนะนำว่าให้ลูกช่วยกำหนดก็ได้ค่ะ เพราะเขาจะรับรู้และเข้าใจว่าถ้าเขาทำผิดอีก เขาจะต้องโดนลงโทษในสิ่งที่เขาเป็นคนเสนอเอง นอกจากนี้ ยังเป็นการฝึกลูกในการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นซ้ำได้ค่ะ

เอาใจเขามาใส่ใจเรา

หรือก็คือ เอาใจลูกมาใส่ใจเรานั่นเอง เพราะคุณพ่อคุณแม่ล้วนเคยเป็นเด็กมาก่อน ตอนเด็กคุณพ่อคุณแม่อาจจะมีความคิดที่ไม่เข้าใจผู้ใหญ่ แต่วันนี้ได้เป็นคุณพ่อคุณแม่แล้ว เราผ่านความเป็นเด็กมาก่อน ดังนั้น ควรที่จะรู้และเข้าใจว่าเด็กมีความคิดอย่างไร

ยกตัวอย่าง

สมมติว่าลูกกำลังนั่งเล่นของเล่นเพลิน ๆ อยู่ แล้วคุณแม่เรียกให้ไปอาบน้ำทันที แต่ลูกอาจขอต่อรองต่อเวลาอีกสักหน่อย เพราะกำลังเล่นติดพันอยู่กับจินตนาการของเขาเอง ลูกจึงยังไม่ลุกไปในทันที แบบนี้ให้คุณแม่บอกลูกล่วงหน้าว่า “อีกสัก 10 นาที หนูค่อยลุกมาอาบน้ำ” เป็นต้นค่ะ เพื่อให้ลูกได้เตรียม

อธิบายเหตุผลที่ถูกต้อง

หากในขณะนั้นคุณพ่อคุณแม่ตั้งสติได้แล้ว ใจเย็นลงแล้ว ให้นั่งพูดคุยกับลูกด้วยท่าที่อ่อนโยน และอธิบายให้เข้าใจ โดยเริ่มจากเหตุการณ์ที่ลูกได้กระทำก่อน แล้วค่อยอธิบายว่าที่คุณแม่ว่าผิดนั้น ผิดอย่างไร แล้วอย่างไหนถึงจะถูกต้อง ถ้าลูกยังทำผิดอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จะเกิดผลกระทบอะไรกับใครบ้าง และถ้าลูกทำถูกต้องผลกระทบจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะเป็นสอนลูกแบบไม่ได้กดดันและบังคับ เพียงแต่เปรียบเทียบให้ลูกเห็นทั้งด้านลบและด้านดี ซึ่งคุณแม่ค่อยชี้นำลูกว่าคุณแม่อยากให้ลูกเป็นเด็กดีค่ะ

อย่าใช้คำพูดที่บั่นทอนกำลังใจลูก

จำไว้ค่ะว่า แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะโกรธลูก หรือโมโหลูกมากแค่ไหน ก็ไม่ควรพูดบั่นทอนกำลังใจลูก เพราะคำพูดของคุณพ่อคุณแม่มีผลกับลูกมาก ๆ สามารถชี้ให้ลูกทำชั่วและทำดีได้เลยทีเดียวค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรเชื่อใจลูก เชื่อมั่นในตัวลูก และไม่คาดหวังในตัวลูกมากจนเกินไป ที่สำคัญ “ห้ามพูดเปรียบเทียบกับคนอื่นเด็ดขาด” เพราะลูกจะหมดกำลังใจ จะคิดว่าตัวเองเป็นเด็กที่ไม่มีความสามารถ ไม่นับถือตัวเอง และขาดความมั่นใจในตัวเองได้

การเลี้ยงลูกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก หากคุณพ่อคุณแม่ใส่ใจลูกมากพอ ที่สำคัญ เมื่อลูกทำผิด คุณพ่อคุณแม่ต้องจัดการกับอารมณ์และความคิดของตัวเองให้ได้ก่อน เพื่อป้องกันการสร้างรอยแผลในใจของลูก ซึ่งมันโตตามตัวค่ะ