Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

พ่อแม่ทำให้ลูกเป็นโรคซึมเศร้า มีปัจจัยอะไรบ้าง?

พ่อแม่ทำให้ลูกเป็นโรคซึมเศร้า มีปัจจัยอะไรบ้าง?

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนคงคิดว่าเด็กเล็กไม่เป็นโรคซึมเศร้าหรอก เพราะเด็กยังไม่ต้องแบกรับภาระอะไร ไม่มีอะไรที่ต้องรับผิดชอบมาก มีแค่กิน เรียน เที่ยว แล้วก็นอน แต่ความจริงแล้ว สาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยเป็นโรคซึมเศร้านั้นไม่ใช่ใครที่ไหนเลยค่ะ ก็คุณพ่อคุณแม่อย่างเรา ๆ นี่เอง

ชนิดของโรคซึมเศร้า

อย่าลืมว่าเด็กเล็กก็มีหัวใจ มีความรู้สึก มีความคิดเป็นของตัวเอง การที่คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงเขาโดยที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง คิดว่าสิ่งที่ให้ลูกเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่บางครั้งสิ่งที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับลูกก็ได้ เมื่อลูกน้อยถูกเลี้ยงดูในลักษณะนี้นาน ๆ ก็สะสมในจิตใจ จนเกิดเป็นโรคซึมเศร้าได้ โดยโรคซึมเศร้าแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้

โรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง

เป็นอาการซึมเศร้าที่สามารถส่งผลกระทบได้ถึงการเรียน การทำงาน และกว้างไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน

โรคซึมเศร้าเรื้อรัง

เป็นอาการซึมเศร้าที่มีความรุนแรงน้อยกว่า แต่โรคซึมเศร้าชนิดนี้จะไม่หายขาด ซึ่งคนที่เป็นโรคซึมเศร้าชนิดเรื้อรังนี้จะมีอาการแย่กว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง เนื่องจากระหว่างที่เป็นโรคนั้น ผู้ป่วยยังต้องมีการใช้ชีวิตประจำวันไปตามปกติ ซึ่งอาจเป็นเหตุนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรงได้

พฤติกรรมของพ่อแม่ที่ทำให้ลูกเป็นโรคซึมเศร้า

ดุด่า หรือต่อว่าลูกเสมอ

การดุหรือว่าลูกเป็นสิ่งที่ทำได้ ถ้าหากลูกทำผิดจริง ก่อนที่จะดุลูก ควรอธิบายเหตุการณ์ที่ลูกได้ทำไป พร้อมกับอธิบายให้ลูกฟังว่าลูกได้ทำอะไรผิดไป แล้วที่ถูกต้องนั้น ควรทำอย่างไร

แต่บางครั้งด้วยความที่คุณพ่อคุณแม่ทำงานมาเหนื่อย อาจมีอารมณ์หงุดหงิดมาจากข้างนอก แล้วกลับมาลงที่ลูก โดยที่ลูกไม่ได้ทำอะไรผิด หรือมีบางกรณีที่ลูกอยากจะเล่าอะไรให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ยังจับความได้ไม่ดีก็ต่อว่าลูกเสียก่อนแล้ว แบบนี้จึงทำให้ลูกขาดความมั่นใจ และไม่อยากเล่าอะไรให้คุณพ่อคุณแม่ฟังอีก

ขาดการเอาใจใส่ดูแล

มีหลายครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำงานนอกบ้าน หาเงินมาจุนเจือครอบครัว กลับมาบ้านก็มืดค่ำแล้ว ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด มันคือความจำเป็น แต่ความจริงแล้วลูกไม่ได้ต้องการของเล่นใด ๆ นอกจากคุณพ่อคุณแม่ ลูกเพียงต้องการจะได้พูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ ต้องการคำปรึกษา แต่คุณพ่อคุณแม่กลับไม่มีเวลาให้ลูกเลย แบบนี้จะทำให้ลูกรู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกว่าเขาต้องเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ เพียงคนเดียว

ไม่เคยรับฟังลูกอย่างจริงใจ

ประสบการณ์หลาย ๆ อย่างในชีวิต คุณพ่อคุณแม่เคยผ่านมาก่อน แต่กับลูกยังมีอีกหลายอย่างที่เขายังไม่เคยเจอ ยังมีอีกหลายอย่างที่ลูกจะต้องเรียนรู้ แต่ตื่นเต้นไปกับมัน ในบางครั้งลูกแค่อยากจะเล่าเรื่องราวที่เขาพบเจอมา แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ได้มีเวลาฟังเขาอย่างเต็มที่และจริงใจ ผนวกกับมีความคิดที่ว่า ลูกต้องฟังคุณพ่อคุณแม่อย่างเดียว หรือบางครั้งลูกต้องการอธิบายเหตุผลให้คุณพ่อคุณแม่ฟังแต่ด้วยความทีศัพท์ในหัวเขายังน้อย ทำให้คิดช้า และพูดไม่ทันใจคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่ก็ตัดบทไม่ฟังต่อ เหล่านี้จะทำลูกอึดอัดและกดดันในสิ่งที่เขาไม่ได้พูดกับคุณพ่อคุณแม่

เอาลูกไปเปรียบเทียบกับคนอื่น

เช่น ทำไมไม่เห็นเหมือนลูกข้างบ้านเลย ทั้งเก่ง ทั้งเป็นเด็กดี? ลูกได้ฟังแบบนี้จิตใจก็ห่อเหี่ยว หมดความมั่นใจในตัวเองไปเยอะแล้วค่ะ ยิ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่พูดกับลูกแบบนี้บ่อย ๆ ยิ่งจะทำให้ลูกเกิดความตอกย้ำตัวเองว่า “ใช่สิ ฉันไม่เก่ง ฉันเป็นเด็กไม่ดี” สุดท้ายลูกก็จะเป็นอย่างที่คุณพ่อคุณแม่พูด เพราะลูกจะคิดว่าในเมื่อคุณพ่อคุณแม่พูดอย่างนี้แล้ว เราก็เป็นอย่างที่คุณพ่อคุณแม่พูดเลยแล้วกัน

ไม่เคยชื่นชม หรือให้กำลังใจลูก

พื้นฐานของคนเราทุกคนต้องการความรัก ต้องการการยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคุณพ่อคุณแม่ กลับกันหากลูกทำดี ทำสำเร็จในสิ่งที่เขาตั้งใจ แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยชื่นชม หรือให้กำลังใจลูกเลย ก็จะยิ่งส่งผลให้ลูกเป็นเด็กที่ขาดความมั่นใจ นาน ๆ เข้า กลายเป็นเด็กที่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง (Low Self-esteem) คิดว่าไม่มีใครรัก ตัวเองเป็นคนที่ไม่มีค่า ไม่มีความสามารถ และไม่มีใครต้องการ

สถาบันครอบครัว” เป็นสถาบันที่เล็กที่สุด แต่มีพลังและมีความสำคัญมากที่สุดต่อคน ๆ หนึ่ง หากลูกมีสถาบันครอบครัวที่แข็งแรง ก็ไม่ต้องกลัวค่ะว่าลูกจะไม่เข้มแข็ง