Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ฝึกลูกให้ทำตามได้โดยไม่ต้องสั่ง

ฝึกลูกให้ทำตามได้โดยไม่ต้องสั่ง

โดยทั่วไปแล้วเด็กในวัย 2 – 5 ปี จะเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง มีความเป็นตัวของตัวเองสูง บางครั้งบอกให้หยุด แต่ลูกไม่หยุด บอกว่าอย่าทำ แต่ลูกกลับทำ ทำเอาคุณพ่อคุณแม่เหนื่อยใจกันไปข้างนึงเลยทีเดียว จะมีวิธีไหนไหมที่จะทำให้ลูกทำตามที่คุณพ่อคุณแม่บอกโดยที่ไม่ต้องสั่ง

ฝึกลูกให้ทำตามได้โดยไม่ต้องสั่ง

สร้างบรรยากาศที่ดี (Positive)

โน้ตจะพูดอยู่เสมอค่ะว่า “การเลี้ยงลูกต้องมีการปรับตัว ทั้งคุณพ่อคุณแม่ และลูก” ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นลูกเท่านั้นที่ปรับตัวเข้าหาคุณพ่อคุณแม่ เพราะฉะนั้นการที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกทำตามแต่โดยดีนั้น ควรเริ่มที่คุณพ่อคุณแม่ก่อน ก็ด้วยการเป็นต้นแบบที่ดีคิดดี ทำดี พูดดี ควรมีความเมตตา อ่อนโยน ไม่สร้างกติกา กฎระเบียบมากเกินไป (ซึ่งบางทียังต้องมีการยืดหยุ่นด้วยซ้ำ) ชื่นชม ให้กำลังใจลูกตามสมควร ไม่ตำหนิลูกด้วยถ้อยคำหยาบคาย และที่สำคัญ ไม่ลงโทษลูกด้วยอารมณ์เด็ดขาดค่ะ

หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะบอกว่า “ยาก” ที่โน้ตพูดไปมันเป็นแค่ทฤษฎี พูดให้ดูสวยหรู แต่เชื่อหรือไม่คะ โน้ตลองมาแล้ว ได้ผล แต่ถึงแม้ว่ามันจะยังไม่ได้ 100% แต่ลูกก็มีพฤติกรรมที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ นะ

ใช้คำถามปลายเปิด และเหตุผล แทนการสั่ง

เริ่มจาก…

ใช้คำถามปลายเปิด

วิธีนี้จะเป็นการชักชวนให้ลูกคิดตาม วิเคราะห์ตาม เช่น หากลูกเอาช้อนมาเคาะโต๊ะระหว่างที่กินข้าว จนเกิดเสียงดัง แล้วคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกหยุด

เดิมพูดว่า

“หยุดเคาะโต๊ะได้แล้วลูก เสียงดัง หนวกหู”

ให้เปลี่ยนเป็น

“หนูชอบนั่งในสถานที่ที่มีเสียงดังตลอดเวลาไหมคะ?” หรือ
“ถ้ามีใครมาเคาะโต๊ะแบบนี้ใกล้ ๆ หนู หนูจะชอบไหมคะ?” เป็นต้น

ข้อนี้โน้ตใช้มาแล้วค่ะ ได้ผล ลูกหยุดเคาะแต่โดยดี

ใช้เหตุผลกับลูก

หลังจากที่เราถามคำถามปลายเปิดกับลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ค่อยอธิบายถึงเหตุผลกับลูกต่อค่ะว่าเพราะอะไร ซึ่งการใช้เหตุผลที่ถูกต้อง

ซึ่ง 2 ข้อที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากจะใช้ในเรื่องของการฝึกให้ลูกทำตามแทนการสั่งแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถนำไปปรับใช้ได้อีก ในหลาย ๆ เรื่อง เพื่อเป็นการสอนลูกนะคะ

ถ้าลูกยังไม่ทำตาม ทำอย่างไร

อ่ะ…มาถึงตรงนี้ หลายคนบอกแค่ 2 ข้อที่กล่าวมาข้างต้น ไม่สามารถทำอะไรลูกได้ (หมายถึงลูกยังคงไม่ทำตาม) ไม่ต้องกังวลค่ะ โน้ตมีขั้นที่กว่า ที่จะมาแชร์กัน

เพิกเฉย

ต้องทำความเข้าใจก่อนเน้อ ว่า “เพิกเฉย” ไม่ใช่ “เดินหนี” นะคะ เพราะการเพิกเฉยคือ คุณแม่ยังอยู่ตรงนั้นกับลูกแต่แค่ทำเหมือนไม่สนใจลูก ไม่ใช่ว่าเดินหนี เพราะหากคุณแม่เดินหนี ลูกจะยิ่งร้องไห้เสียใจหนักเข้าไปอีก

ทำหน้าขึงขัง

แค่นี้ลูกก็รู้แล้วค่ะว่าเราไม่พอใจเขา ไม่พอใจกับพฤติกรรมที่เขาแสดงออก

อธิบายกับลูกแบบสั้น ๆ

เชื่อเถอะค่ะว่าถ้าคุณแม่เพิกเฉยกับเขา ลูกจะต้องเข้าหา เข้ามากอดคุณแม่แน่นอนจนกว่าคุณแม่คืนดี ถ้าเป็นแบบนี้ให้คุณแม่อาศัยจังหวะนี้ในการทำความเข้าใจ และพูดคุยแบบกระชับนะคะ เพื่อให้ลูกได้เห็นภาพและเข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำนั้นไม่ถูกต้อง

สอนให้ลูกคิด และสำนึกผิด

ข้อนี้คุณแม่ต้องอาศัยการพูดแบบเรียงลำดับเหตุการณ์ให้ลูกฟัง เพื่อให้ลูกเข้าใจและรู้ว่า “สิ่งที่ลูกทำนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง” เพื่อให้ลูกสำนึกผิด แต่ไม่ได้หมายความว่าให้คุณแม่ “กล่าวโทษ” ลูกนะคะ ต่างกันนะ

ลงโทษ

ก็ต้องมีกันบ้าง เพื่อให้ลูกจำ แต่ไม่ใช่การตี หรือการดุด่าอย่างหยาบคายนะคะ อาจเป็นการให้ลูกคิดหาทางออกไปด้วยกันก็ได้ค่ะว่า “คราวหน้า ถ้าหนูทำผิดแบบนี้อีก จะให้แม่ทำโทษหนูอย่างไรดี?” เป็นต้น

ชมเชย

ทำดี ได้ดี” สำหรับเด็กน้อย การทำดีได้ก็คือ การที่ได้รับคำชมเชยจากคุณพ่อคุณแม่ การหอมเขา กอดเขา พูดให้กำลังใจกับเขา นับเป็นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับลูกนะคะ เพราะเขาจะเกิด Self – Esteem (เห็นคุณค่าในตัวเอง) ได้ในอนาคตค่ะ

การฝึกให้ลูกทำตามโดยที่ไม่ต้องสั่ง โน้ตมีประสบการณ์มาแล้วกับตัวค่ะ ได้ผล เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น ๆ คิดประโยคและวิธีที่จะพูดกับลูก โน้มน้าวลูกให้ทำตาม แต่เมื่อทำได้สักครั้งหรือ 2 ครั้ง คุณพ่อคุณแม่ก็จะรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ได้ยากอย่างที่ผ่านมาค่ะ