Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ทำไมห้ามอมข้าว ส่งผลให้ฟันผุจริงหรือ?

ทำไมห้ามอมข้าว ส่งผลให้ฟันผุจริงหรือ?

“เคี้ยวข้าวสิลูกกก”
“ไม่อมข้าวนะคะ”

…และอีกหลาย ๆ ประโยคของคุณแม่ที่พยายามจะให้ลูกเคี้ยวข้าว ไม่อมข้าว เพราะกลัวว่าลูกจะฟันผุ คุณแม่บางท่านอาจสงสัยว่า ทำไมห้ามอมข้าว ทำให้ฟันผุจริงหรือ? เพราะอะไร? ไปดูกันค่ะ

ห้ามอมข้าว

การที่เด็กอมข้าวเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกฟันผุได้ เพราะข้าวจัดเป็นคาร์โบไฮเดรตที่เมื่อย่อยสลายแล้วก็จะกลายเป็นน้ำตาล
โดยปกติแล้วคนเราจะมีฟัน 2 ชุด คือ ฟันน้ำนม และฟันแท้ ซึ่งฟันน้ำนมของเด็กจะถูกใช้งานเป็นระยะเวลาทีไม่น้อยกว่า 5 ปี หลังจากนั้นจะมีฟันแท้ขึ้นมาแทนที่เมื่ออายุราว ๆ 12 ปี
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลมากที่สุดก็คือ การที่ฟันน้ำนมผุก่อนที่ฟันแท้จะขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นฟันน้ำนมหรือฟันแท้ สาเหตุของฟันผุส่วนใหญ่แล้วก็มักจะมีสาเหตุมาจากการดูแลอนามัยในช่องปากนั่นเอง

ลูกอมข้าว ฟันผุได้อย่างไร?

ปกติแล้วในช่องปากของคนเราจะมีเชื้อโรคตัวหนึ่งที่ชื่อว่า “เชื้อสเตรปโตค็อกคัส” ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้ฟันผุ เนื่องจากเชื้อตัวนี้จะใช้ “น้ำตาล” เป็นตัวตั้งต้นในการสร้างความเจริญเติบโต
ดังนั้น เมื่อลูกน้อยอมข้าวหรือกินของหวานที่มีส่วนประกอบของน้ำตาล เชื้อตัวนี้จะชอบมากเพราะเสมือนมีอาหารดี ๆ เข้ามาหล่อเลี้ยงให้เจริญเติบโต จนมันมีพละกำลังมากพอที่จะกัดกร่อนเคลือบฟัน ไปจนถึงเนื้อฟัน และรากฟันของลูกน้อยได้
ทั้งหมดทั้งมวลแล้วไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่หากมีการกินแป้ง กินขนม หรือของหวานต่าง ๆ ส่งผลให้มีน้ำตาลในช่องปาก ก็ควรที่จะ

  • ดื่มน้ำเปล่าสะอาดตามไปเพื่อเป็นการล้างปากได้ระดับหนึ่ง
  • แปรงฟันหลังกินอาหารทุกครั้ง โดยเฉพาะก่อนนอน

สาเหตุของการเกิดฟันผุ

สาเหตุของการเกิดฟันผุมีได้หลายสาเหตุ ดังนี้

  • ลูกอมข้าว
  • ลูกไม่ได้รับการดูแลสุขภาพในช่องปากที่ดี
  • ชอบกินขนมจำพวกแป้ง น้ำตาลในปริมาณมาก ๆ อย่างต่อเนื่อง

น้ำลายไม่สามารถทำให้ค่า Ph กลับมาเป็นกลางได้ ซึ่งทำให้ในช่องปากมีสภาพความเป็นกรดอยู่ตลอดเวลา แคลเซียมและฟอสเฟตก็จะละลายออกจากฟันทำให้เกิดภาวะฟันผุได้ ยิ่งถ้าหากมีคราบจุลินทรีย์เกาะตัวกันหนามากขึ้นยิ่งจะส่งให้ฟันผุเร็วมากขึ้นนั่นเอง

4 วิธีในการดูแลฟันลูกน้อยให้แข็งแรง

ดูแลเรื่องโภชนาการที่ดี

ต้นน้ำดี ปลายน้ำก็จะดีตามไปด้วยฉันใด ถ้าคุณแม่ดูแลเรื่องโภชนาการที่ดีให้ลูก ฟันลูกก็จะดีด้วยฉันนั้น

ควรฝึกให้ลูกดื่มน้ำจากแก้ว ฝึกให้เร็วที่สุด ซึ่งสามารถเริ่มได้ทันทีที่ฟันซี่แรกของลูกขึ้น เพราะการใช้ขวดนมยิ่งจะทำให้เกิดการเกาะของครายแบคทีเรียที่ฟันลูกได้ และที่สำคัญไม่ควรปล่อยให้ลูกหลับคาขวดนมเด็ดขาด และหลีกเลี่ยงการให้ลูกขนมหวาน ๆ บ่อย ๆ
เมื่อลูกหย่านมคุณแม่ควรเตรียมอาหารเสริมที่มีความหลากหลายให้ลูก โดยเน้นให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อเป็นการฝึกให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องการเคี้ยว โดยที่อาหารนั้น ๆ ควรเป็นรสชาติจากธรรมชาติไม่ผ่านการปรุงใด ๆ เพื่อเป็นการดูแลฟันขั้นพื้นฐานที่ดี

เริ่มการแปรงฟันให้เร็ว

แม้เป็นทารก คุณแม่ก็สามารถสอนลูกเรื่องการแปรงฟันได้ค่ะ โดยที่ลูกยังเป็นทารกอยู่นั้น หลังกินนมทุกครั้ง คุณแม่ควรใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นต้มสุกเช็ดภายในปาก และควรฝึกลูกให้คุ้นชินกับการแปรงฟันตั้งแต่ฟันซี่แรก

การเช็ดทำความสะอาดในช่องปากของทารก คุณแม่สามารถใช้ผ้าอ้อมสะอาดชุบน้ำอุ่นสะอาด พันนิ้วชี้แล้วกวาดให้ทั่วทั้งเหงือกและกระพุ้งแก้มนะคะ เพื่อลดการเกิดเชื้อราในช่องปากลูกค่ะ

เมื่อลูกอายุได้ 6 – 7 เดือน ควรมีการนวดเหงือกลูกด้วยแปรงชนิดพิเศษที่ใช้สำหรับนวดเหงือกโดยเฉพาะ และควรทำอย่างเบามือนะคะ

เลือกยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์

ฟลูออไรด์เป็นแร่ธาตุที่มีหน้าที่ในการเคลือบฟัน ทำให้ฟันแข็งแรง ป้องกันฟันผุ ซึ่งแร่ธาตุนี้เองเป็นส่วนผสมหลักในยาสีฟันแทบทุกชนิด ทุกยี่ห้อ ทันตแพทย์เองจะทำการเคลือบฟันให้กับเด็ก ๆ เพื่อป้องกันฟันผุ โดยที่ฟลูออไรด์อาจมาในรูปของหยดน้ำ หรือเม็ดฟลูออไรด์ ซึ่งก่อนใช้ฟลูออไรด์นี้ควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนทุกครั้ง

พบทันตแพทย์อย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากทันตแพทย์จะเป็นผู้ที่ดูแลทั้งในเรื่องสุขภาพฟันและสุขภาพช่องปากของลูกน้อยให้มีฟันที่แข็งแรงและขึ้นถูกตำแหน่ง ซึ่งเด็ก ๆ ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันอย่างน้อย 3 – 6 เดือนครั้งนะคะ

การดูแลฟันให้แข็งแรง และมีสุขภาพในช่องปากที่ดีเป็นสิ่งที่ควรทำไม่ว่าลูกจะมีฟันน้ำนมอยู่หรือมีฟันแท้ขึ้นแล้วก็ตาม การฝึกให้ลูกเคี้ยวข้าว การไม่อมข้าวจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องพื้นฐานที่ลูกควรได้รับการฝึกที่ถูกต้อง เพื่อสุขภาพฟันที่แข็งแรงและสุขภาพช่องปากที่ดีนะคะ