Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกมีโลกส่วนตัวสูง เพราะอะไร? แก้อย่างไรดี?

ลูกมีโลกส่วนตัวสูง เพราะอะไร? แก้อย่างไรดี?

ทุกคนต่างมีโลกส่วนตัวค่ะ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ก็มีเหมือนกัน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกค่ะที่ลูกจะมีโลกส่วนตัวเช่นกัน เพียงแต่ไม่ควรให้ลูกใช้เวลากับโลกส่วนตัวหรืออยู่กับตัวเองมากเกินไป เพราะจากนิสัยจะกลายเป็นพฤติกรรมที่ติดตัวไปจนโต หากคุณพ่อคุณแม่คนไหนที่กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่หรือไม่แน่ใจว่าลูกเข้าข่ายไหม วันนี้เรามีคำตอบค่ะ

สาเหตุ ลูกมีโลกส่วนตัวสูง

การที่ลูกมีโลกส่วนตัวสูงนั้น ถ้าจะพิจารณากันให้ดีส่วนใหญ่แล้วมาจากการเลี้ยงดูของครอบครัว ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้

พ่อแม่ไม่มีเวลาให้

มีหลายครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำงานนอกบ้านกว่าจะกลับบ้านมาก็ดึก ลูกนอนแล้ว ตอนเช้าจะออกไปทำงานลูกก็อาจจะยังไม่ตื่น หรืออาจจะได้แค่พบกัน คุยกันระหว่างทางไปโรงเรียน ซึ่งไม่เพียงพอที่จะเติมเต็มความรู้สึกของลูกได้ หรือวันหยุด คุณพ่อคุณแม่ก็ให้ลูกอยู่กับหน้าจอแทน สิ่งนี้จึงปลูกฝังความมีโลกส่วนตัวสูงให้กับลูกโดยไม่รู้ตัว

ไม่ได้พบปะผู้คนภายนอก

เมื่อเด็กไม่ได้พบปะกับผู้คนภายนอกบ่อย ๆ เด็กก็จะหากิจกรรมอื่นมาทดแทนด้วยตัวเอง และเมื่อกิจกรรมนั้น ๆ ตอบโจทย์กับความต้องการของเขา เขาจะเลือกไม่เข้าหาผู้คน เลี่ยงที่จะพบปะผู้คนไปโดยปริยาย จึงกลายเป็นว่าลูกจะมีโลกส่วนตัวที่กว้างขึ้น เข้าถึงได้ยากนั่นเอง

ขาดความมั่นใจในตัวเอง

การขาดความมั่นใจใจตัวเองเกิดได้ในทุกช่วงวัยค่ะ และก็เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การเลี้ยงดูจากคุณพ่อคุณแม่ที่มักจะต่อว่าลูกเป็นประจำ เกิดจากการไม่ได้ส่งเสริมให้ลูกได้ทำในสิ่งที่เขาชอบ ผลที่ออกมาจึงไม่เป็นไปอย่างที่คุณพ่อคุณแม่คิด สิ่งนี้จึงส่งผลให้ลูกไม่กล้าจะทำอะไรอีก เพราะเขากลัวว่าทำออกมาแล้วไม่ดี

รู้ได้อย่างไรว่าลูกเข้าข่ายมีโลกส่วนตัวสูง

ทุกคนที่พื้นที่ส่วนตัวค่ะ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติอะไร แต่สำหรับเด็กที่มีโลกส่วนตัวสูงแล้ว เขาจะไม่ชอบให้คนอื่นก้าวเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัวของเขา ถึงแม้ว่าเขาไม่ได้ซ่อนอะไรที่ผิดปกติไว้ก็ตาม หรือแม้ว่าคน ๆ นั้นจะขออนุญาตแล้วก็ตาม ถ้าเขาไม่ให้ เขาจะปฏิเสธอย่างรุนแรง และถ้าหากคน ๆ นั้นไม่ยอมหยุด อาจกลายเป็นปัญหาบานปลาย และรุนแรงได้

ลูกมีโลกส่วนตัวสูง แก้อย่างไรดี?

มาถึงตรงนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่บางคนที่กำลังเผชิญปัญหาลูกมีโลกส่วนตัวสูงอยู่ วันนี้เรามีแนวทางในการแก้ไขมาฝากค่ะ

ทำความเข้าใจลูกก่อน

เหนือสิ่งอื่นใด ก่อนที่เราจะเริ่มวิธีแก้ปัญหา แนะนำว่าควรเริ่มที่คุณพ่อคุณแม่ก่อน ด้วยการนั่งประมวลเหตุการณ์ เพื่อการทำความเข้าใจ ว่าส่วนใหญ่แล้วมุมมองของเด็กกับผู้ใหญ่นั้นต่างกัน เพราะประสบการณ์ในการใช้ชีวิตของลูกนั้นยังน้อย ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเปิดใจ แล้วมองเหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่านมุมของลูกก็จะทำให้เราเข้าใจและเห็นภาพรวมได้มากยิ่งขึ้น และคุณพ่อคุณแม่ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุดค่ะ

พาไปพบปะผู้คน

หากมีโอกาส แนะนำให้พาลูกไปพบญาติ ไปงานต่าง ๆ ตามความเหมาะสมเพื่อให้ลูกได้รู้จักการเข้าสังคม เพราะการเข้าสังคมจะเป็นเหตุการณ์จริงในชีวิตที่ลูกต้องเจอ คุณพ่อคุณแม่ก็อาศัยโอกาสนี้ในการสอนลูกไปด้วย และเขาจะเรียนรู้เรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้ค่ะ

พูดคุยกับลูกด้วยความเข้าใจ

เมื่อคุณพ่อคุณแม่เริ่มมีการแก้ไขพฤติกรรมได้ระดับหนึ่งแล้ว ให้โอกาสเหมาะ ๆ เข้าไปพูดคุยกับลูก โดยที่เน้นพูดชื่นชม (เน้นทางบวก) และชวนลูกพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่สนุก ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อเราไปพบปะผู้คน แต่ไม่ควรพูดเกี่ยวกับการที่ลูกมีโลกส่วนตัวนะคะ ให้เชื่อมั่นในตัวลูกค่ะว่าลูกสามารถคิดเปรียบเทียบได้เอง

การเข้าไปพูดคุยกับลูกเพื่อการปรับพฤติกรรมนั้น ควรเน้นพูดคุยในเรื่องที่เป็นทางบวก ไม่ควรเน้นย้ำจุดด้อยของลูก เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกได้ว่าเขาผิดแผกจากคนอื่น

มีเวลาคุณภาพให้ลูก

ด้วยความที่มีหลายครอบครัวต้องทำงานนอกบ้านกันทั้งคุณพ่อและคุณแม่ จึงบอกว่าไม่มีเวลาให้ลูกเลย แต่แท้จริงแล้วเรื่องการมีเวลาคุณภาพนั้น ใช้เวลาเพียง 15-20 นาทีต่อวันเท่านั้นค่ะ เวลาคุณภาพคือเวลาที่อยู่กับลูก เล่นกับลูก โดยที่ไม่มีเรื่องของหน้าจอเข้ามาเกี่ยวข้อง เท่านี้ลูกก็รู้สึกได้เติมเต็มแล้วค่ะ

เติมความมั่นใจให้ลูก

ให้คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตดูว่าลูกมีความชอบในเรื่องอะไร สนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ แล้วส่งเสริมลูกในเรื่องนั้น ๆ เมื่อลูกสามารถทำออกมาได้ดี ก็ให้ชื่นชมแต่พอควร เพราะการชื่นชมลูกเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สำคัญในการที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้ลูกได้

การที่ลูกมีโลกส่วนตัวสูงนั้น แน่นอนว่าไม่ได้เกิดขึ้นภายใน 1-2 วันห แต่มีการสั่งสมมาเป็นระยะเวลานาน โดยที่ก่อนหน้านี้คุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่ได้สังเกต หรือไม่มีเวลาที่จะดูแลในส่วนนี้ มารู้อีกทีเขาก็เป็นเช่นนี้แล้ว ดังนั้น การที่จะแก้ไขหรือปรับพฤติกรรมอะไรสักอย่างของลูก ควรเริ่มที่การทำความเข้าใจลูกก่อน แล้วย้อนมองดูตัวคุณพ่อคุณแม่เอง เพราะทั้งหมดมีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นทั้งนั้นค่ะ ทั้งนี้ หากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจแล้วสาเหตุเกิดจากอะไร ก็ค่อยปรับพฤติกรรมกันไปนะคะ ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาประมาณหนึ่งทีเดียว ขอให้ใจเย็น ๆ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นค่ะ