Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกขี้งอน รับมืออย่างไรดี?

ลูกขี้งอน รับมืออย่างไรดี?

อาการขี้งอน” เรื่องเล็กที่ไม่ได้เล็กอย่างที่คิด ยกตัวอย่างเวลาที่เด็กงอน เด็กแต่ละคนก็จะแสดงออกแตกต่างกัน บางคนเงียบ แต่หน้ามุ่ย บางคนกระทืบเท้า ซึ่งอาการเหล่านี้หาปล่อยไว้ติดตัวไปจนโต อาจมีผลต่อการใช้ชีวิต และการทำงานได้เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นวันนี้เราจะมาพูดเกี่ยวกับเรื่องการรับมือและปรับพฤติกรรมลูกขี้งอนกันค่ะ

ลูกขี้งอน รับมืออย่างไรดี?

การที่เด็กมีลักษณะนิสัยขี้งอน เหตุผลหนึ่งที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ เขาไม่รู้จักกับวิธีการจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง ดังนั้น สิ่งที่เขาแสดงออกก็คือมาจากอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในใจล้วน ๆ รู้สึกอย่างไรก็แสดงออกอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะกำจัดนิสัยนี้ออกไป คุณพ่อคุณแม่จำเป็นที่จะต้องปรับการเลี้ยงลูก ดังนี้ค่ะ

ใช้เวลาคุณภาพกับลูก

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากคุณพ่อคุณแม่จะบอกว่าต้องทำงานนอกบ้าน หาเงินมาจุนเจือครอบครัว แต่ก็อย่าลืมว่า เรามีลูกที่รอจะเล่น รอรับความรัก และความอบอุ่นจากคุณพ่อคุณแม่อยู่ การจัดการหรือการบริหารเวลาให้ดีเป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากคุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวลาคุณภาพให้กับลูก ลูกอาจน้อยใจ งอน นิ่งเงียบ และหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปนาน ๆ สุดท้าย ลูกจะไม่สนิทกับคุณพ่อคุณแม่แล้ว เมื่อเขามีเรื่องอะไรที่ไม่สบายใจ เขาก็จะไม่เล่าให้ฟัง เพราะไม่สนิทกัน

สร้างบรรยากาศในบ้านให้น่าอยู่

เพราะบ้าน คือ สถานที่ที่ลูกต้องอาศัยตั้งแต่เล็กจนโต คุณพ่อคุณแม่ควรทำบรรยากาศบ้านให้อบอุ่นน่าอยู่ ควรเป็นสถานที่ที่ลูกสามารถเป็นตัวของตัวเองได้มากที่สุด และควรเป็นสถานที่ที่ลูกกล้าที่พูดหรือระบายความคิดเห็นออกมาได้ ไม่ควรทำบ้านให้อึมครึม บรรยากาศที่กดดัน ลูกทำอะไรก็ผิดไปหมด

ฝึกให้ลูกกล้าพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดและรู้สึก

หากพบว่าอยู่ดี ๆ จากที่เล่นกันเมื่อตะกี้ มาตอนนี้กลายเป็นนั่งเงียบ หน้าบึ้งซะแล้ว แบบนี้ให้คุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ เข้าไปพูดคุยกับลูกด้วยท่าทีที่อ่อนโยนนะคะ ถามลูกถึงเหตุผลว่าลูกมีเรื่องอะไรในใจหรือเปล่า และ…และที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ดุด่าลูก หรือต่อว่าด้วยคำพูดที่หยาบคายเด็ดขาด เพราะจะส่งให้ลูกไม่กล้าพูดหรือตั้งใจที่จะไม่บอกเหตุผลกับคุณพ่อคุณแม่อีกเลย

ลองให้ลูกได้เขียนไดอารี่ ระบายความคิด

หากเด็กบางคนยังไม่คุ้นชินกับการเริ่มคุยกันในเรื่องนี้ ลองปรับวิธีมาเป็นการเขียนดูค่ะ ให้ลูกเขียนไดอารี่ เพื่อเป็นการระบายความคิด ความในใจ และความรู้สึกแทน ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการระบายความเครียดให้ลูกได้ค่ะ

พ่อแม่ต้องใจเย็น

การเลี้ยงลูก โดยหลัก ๆ แล้วเริ่มต้นมาจากคุณพ่อคุณแม่ก่อนเลยค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกเปิดใจ และต้องการปรับพฤติกรรมลูกจริง ๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นก่อน เปิดใจ ยินดีที่จะรับฟังลูกในทุกเรื่อง

ไม่เพิกเฉยต่อความรู้สึกลูก

สำหรับข้อนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ของตัวเองก่อนว่า ถ้าหนูรู้สึกแบบนี้เขาเรียกว่าอะไร เช่น โกรธ งอน โมโห น้อยใจ หรือเครียด เป็นต้น หลังจากนั้นเมื่อเขาสามารถอธิบายอารมณ์ให้คุณพ่อคุณแม่รู้ได้แล้ว ให้คุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ ฟังเขาอธิบาย พร้อมกับอธิบายเหตุผลให้ลูกเข้าใจ ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตำหนิลูกที่ลูกมีความรู้สึกแบบนั้น เพราะเราในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ ผ่านประสบการณ์อะไรมาเยอะกว่าลูก มันเป็นหน้าที่ของคนเป็นพ่อเป็นแม่ค่ะ ที่จะทำความเข้าใจ และปลดล็อกความรู้สึกตรงนี้ของลูกให้ได้

อย่าขัดจังหวะขณะที่ลูกยังพูดไม่จบ

จริงอยู่ค่ะ เราเป็นผู้ใหญ่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน นั่นหมายความว่า เราสามารถคาดเดาเหตุการณ์ได้ว่า เมื่อเกิดแบบนี้แล้ว อะไรคือผลของมัน ดังนั้น เมื่อลูกเกิดอาการงอนขึ้นมา คุณพ่อคุณแม่เดินเข้าไปพูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล ซึ่งเมื่อลูกยินดีที่จะเล่าให้ฟัง ควรฟังลูกพูดให้จบก่อน เราไม่ควรพูดแทรก ถึงแม้ว่าเราสามารถคาดเดาเหตุการณ์ได้ก็ตาม เพราะการปล่อยให้ลูกพูดจนจบ นั่นเท่ากับเป็นการให้ลูกได้ระบายความคิดและความรู้สึกออกมา ลูกจะรู้สึกโล่งมากขึ้นนั่นเอง

อาการขี้งอนของลูก มีหลายครอบครัวที่เพิกเฉยต่อความรู้สึกนี้ของลูก ซึ่งมันจะกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวไปจนโต ในฐานะที่เราเป็นพ่อเป็นแม่ก็ย่อมมีหน้าที่ใส่ใจต่อความคิดและความรู้สึกของลูก ปลดล็อกความคิดที่ไม่ดี หรือค้างคาใจให้กับลูก เพื่อที่ลูกจะได้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและมีความสุขค่ะ

อ้างอิง momjunction.com, colossalumbrella.com